backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

พรีไบโอติก สำคัญต่อลูกน้อย มากกว่าแค่ป้องกันลูกท้องผูก

พรีไบโอติก สำคัญต่อลูกน้อย มากกว่าแค่ป้องกันลูกท้องผูก

พอได้ยินคำว่า “แบคทีเรีย” คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจคิดว่าเป็นเชื้อโรค ไม่ดีต่อสุขภาพของลูกน้อย และควรหลีกให้ห่าง แต่ความจริงแล้ว แบคทีเรียไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกายเสมอไป เพราะในลำไส้ของคนเราก็มีแบคทีเรียชนิดดี อาศัยอยู่มากมายหลากหลายชนิด ที่ได้ยินชื่อกันบ่อยๆ เช่น แล็กโทบาซิลลัสหากในลำไส้ของเรามีแบคทีเรียชนิดดีมากกว่าแบคทีเรียชนิดไม่ดี ก็จะช่วยให้สุขภาพของเราแข็งแรง ลดปัญหาในระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย และตัวช่วยอย่างหนึ่งในการเพิ่มและรักษาสมดุลของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ก็คือ การเพิ่มอาหารของแบคทีเรียชนิดดี อย่างพรีไบโอติก Hello คุณหมอ เลยอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับเจ้า “พรีไบโอติก” นี้ให้มากขึ้น แล้วคุณจะรู้ว่าพรีไบโอติกมีดีต่อสุขภาพของเด็ก มากกว่าแค่ช่วยป้องกันลูกท้องผูก

พรีไบโอติก คืออะไร

พรีไบโอติก (Prebiotic) คือ ไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำ ที่ระบบย่อยอาหารของเราย่อยไม่ได้ จึงสามารถผ่านเข้าสู่ลำไส้ และกลายเป็นอาหารของแบคทีเรียชนิดดี และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ชนิดอื่นๆ ในลำไส้ เมื่อร่างกายได้รับพรีไบโอติกอย่างเพียงพอ ก็จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและเสริมสร้างการทำงานของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ ทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดี โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหาร และระบบขับถ่าย

พรีไบโอติกสำคัญกับเด็กยังไงบ้าง

ช่วยป้องกันท้องผูก ท้องเสีย

พรีไบโอติก เป็นไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหารชนิดหนึ่ง เมื่อได้รับในปริมาณพอเหมาะ จะช่วยให้เด็กขับถ่ายสะดวกขึ้น จึงช่วยป้องกันและบรรเทาอาการท้องผูกในเด็กได้ อีกทั้งยังช่วยลดความรุนแรงและความถี่ของอาการท้องเสียบางชนิดได้ เช่น อาการท้องเสียจากยาปฏิชีวนะ (antibiotic-associated diarrhea)

ช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับช่องท้องอื่นๆ

เมื่อเด็กได้รับพรีไบโอติก นอกจากจะช่วยลดอาการท้องผูก ท้องเสียได้แล้ว ยังช่วยบรรเทาและป้องกันปัญหาในช่องท้องอื่นๆ เช่น อาการปวดท้อง แน่นท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กมีอาการโคลิก (colic) หรืออาการร้องไห้รุนแรงไม่ยอมหยุด นอกจากนี้ พรีไบโอติกยังช่วยลดอาการของโรคลำไส้แปรปรวน รวมไปถึงอาการที่เกิดจากเด็กแพ้แลคโตส หรือแพ้น้ำตาลในนม (lactose intolerance) ได้อีกด้วย

ช่วยเพิ่มปริมาณแบคทีเรียชนิดดี หลังกินยาปฏิชีวนะ

เมื่อเด็กต้องกินยาปฏิชีวนะ ก็อาจส่งผลให้แบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ถูกทำลาย จนปริมาณแบคทีเรียชนิดดีและแบคทีเรียชนิดไม่ดีในลำไส้เสียสมดุล และส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่ายมีปัญหา คุณจึงควรให้ลูกกินอาหารที่มีพรีไบโอติก เช่น โยเกิร์ต นม ผักและผลไม้สด เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณแบคทีเรียชนิดดี ลดปัญหาในช่องท้อง เช่น อาการท้องเสียเพราะยาปฏิชีวนะ

อย่างไรก็ตาม แพทย์ไม่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ซื้อยาปฏิชีวนะให้ลูกกินเอง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่ในบางครั้ง แพทย์ก็อาจจำเป็นต้องสั่งให้ลูกของคุณใช้ยาปฏิชีวนะ ในกรณีนี้คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามให้ลูกกินยาปฏิชีวนะในขนาดที่มากกว่า น้อยกว่า หรือนานกว่าที่แพทย์สั่งโดยเด็ดขาด

อาจช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม

ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบว่า พรีไบโอติกอาจช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น จึงช่วยส่งเสริมการสร้างกระดูกและฟัน และช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่สำคัญมากสำหรับเด็ก

อาจช่วยป้องกันเด็กอ้วน หรือน้ำหนักเกินได้

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า พรีไบโอติกอาจมีส่วนช่วยให้ฮอร์โมนความหิวและฮอร์โมนความอิ่มของเด็กทำงานได้อย่างเป็นปกติ จึงช่วยลดความเสี่ยงที่เด็กจะน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน หรือหากเด็กมีน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วนอยู่แล้ว ก็จะช่วยให้พวกเขาจัดการกับการกิน หรือควมคุมอาหารได้ดีขึ้น

อาจช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า พรีไบโอติกช่วยให้แบคทีเรียชนิดดีเจริญเติบโตและมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กแข็งแรงขึ้น จึงช่วยป้องกันเด็กจากภูมิแพ้และโรคต่างๆ ได้ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด จึงต้องมีการศึกษาวิจัยกันต่อไป

พรีไบโอติกหาได้จากที่ไหน

คุณพ่อคุณแม่สามารถเพิ่มพรีไบโอติกให้ลูกได้ ด้วยการให้ลูกกินอาหารจำพวกพืช เช่น กล้วย หน่อไม้ฝรั่ง ธัญพืชเต็มเมล็ด (เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต) ผักใบเขียว ถั่วเหลือง มะเขือเทศ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และในปัจจุบันก็มีอาหารแปรรูปหลายชนิดที่เพิ่มพรีไบโอติกเข้าไปในส่วนผสมด้วย เช่น ขนมปัง ซีเรียล คุกกี้ โยเกิร์ต นม หรือหากเป็นเด็กในวัยกินนม ก็สามารถหาพรีไบโอติกได้จากน้ำนมแม่ ซึ่งถือเป็นแหล่งพรีไบโอติกชั้นเลิศสำหรับเด็ก

พรีไบโอติกดีต่อเด็ก… เมื่อได้รับอย่างพอเหมาะ

หากคุณอยากเพิ่มอาหารที่มีพรีไบโอติกให้ลูก ก็ควรเน้นพรีไบโอติกจากอาหารเต็มส่วน (whole food) ซึ่งหมายถึงอาหารจากธรรมชาติที่ไม่ผ่านกระบวนการนำส่วนใดส่วนหนึ่งออกไป เช่น ผักสด ผลไม้สด เพราะนอกจากจะมีพรีไบโอติกแล้ว ยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ ที่มีประโยชน์กับเด็กเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ร่างกายของเด็กอาจยังไม่คุ้นเคยกับไฟเบอร์ การได้รับพรีไบโอติกเลยอาจทำให้ท้องไส้ปั่นป่วนได้ ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มให้ลูกกินพรีไบโอติกปริมาณน้อยๆ ก่อน แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นทีละนิด เพื่อให้ร่างกายของลูกสามารถปรับตัวได้ และอย่าให้ลูกกินอาหารที่มีพรีไบโอติกมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดปัญหา เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องเสีย ปวดท้อง

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Are Prebiotics?. https://www.webmd.com/digestive-disorders/prebiotics-overview#1-2. Accessed December 19, 2019

Why Kids Need Prebiotics. https://www.parents.com/recipes/scoop-on-food/why-kids-need-prebiotics/. Accessed December 19, 2019

Which Is Best for Baby: Prebiotics or Probiotics?. https://www.hellomotherhood.com/article/531461-which-is-best-for-baby-prebiotics-or-probiotics/. Accessed December 19, 2019

Prebiotics and probiotics. https://www.aboutkidshealth.ca/Article?contentid=1990&language=English. Accessed December 19, 2019

Prebiotics and kids’ health. https://www.kidspot.com.au/health/wellbeing/vitamins-and-minerals/prebiotics-and-kids-health/news-story/4e02aa5befc61e3fa92bad49fa652a90. Accessed December 19, 2019

What is the difference between prebiotics and probiotics?. https://www.medicalnewstoday.com/articles/323490.php. Accessed December 19, 2019

Prebiotics, probiotics and your health. https://www.mayoclinic.org/prebiotics-probiotics-and-your-health/art-20390058. Accessed December 19, 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/12/2022

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง

avatar

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 19/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา