โรคโพรจีเรีย โรคแก่ก่อนวัยในเด็ก หรือ โรคชราในเด็ก เป็นความบกพร่องทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการหลายพันธุ์ของยีน LMNA ทำให้การสังเคราะห์โปรตีนลามินา (Lamina) ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างในที่เก็บนิวเคลียสของเซลล์ชำรุด และนำไปสู่กระบวนการความแก่ก่อนวัย ทั้งยังอาจทำให้เกิดปัญหาหลอดเลือดของสมอง และการแข็งตัวของหลอดเลือด จนส่งผลให้เลือดไม่สามารถลำเลียงสารอาหาร และออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจได้อย่างเป็นปกติ จนอาจทำให้หัวใจวาย หรือเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
โรคโพรจีเรีย คืออะไร
โรคโพรจีเรีย (Hutchinson-Gilford Progeria Syndrome หรือ HGPS) หรือ โรคแก่ก่อนวัยในเด็ก หรือ โรคชราในเด็ก เป็นความบกพร่องทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของยีน LMNA ทำให้การสังเคราะห์โปรตีนลามินา (Lamina) ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างในที่เก็บนิวเคลียสของเซลล์ชำรุด จนเกิดความไม่เสถียรภายในร่างกาย และนำไปสู่กระบวนการความแก่ก่อนวัย โดยภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กเพศชาย และเพศหญิงทั่วโลก บางกรณี หากเด็กมีร่างกายไม่แข็งแรง ก็อาจทำให้มีอายุขัยสั้นลง และมักเสียชีวิตเมื่ออายุเฉลี่ย 13-14 ปี
นอกจากนี้ โรคโพรจีเรียยังก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับปัญหาหลอดเลือดของสมอง และการแข็งตัวของหลอดเลือด จนส่งผลให้เลือดไม่สามารถลำเลียงสารอาหาร และออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจได้อย่างเป็นปกติ จนอาจทำให้หัวใจวาย หรือเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
อาการโรคโพรจีเรีย
อาการทางกายภาพของโรคโพรจีเรียที่คุณพ่อคุณแม่ หรือคนในครอบครัวสามารถสังเกตได้ตั้งแต่กำเนิด หรือภายในระยะเวลาช่วงปีแรกหลังคลอด อาจได้แก่
- ส่วนสูง และน้ำหนักไม่สมมาตรฐาน
- ผมร่วง
- มองเห็นเส้นเลือดบนหนังศีรษะเด่นชัด
- ผิวหนังหย่อนคล้อย มีรอยย่น
- ริมฝีปากเล็กบาง
- จมูกเล็กแหลม
- ขนาดศีรษะใหญ่กว่าปกติ
- ฟันขึ้นช้า หรือผิดปกติ
- มีเสียงแหลม
- ดวงตาโปนโต
ความผิดปกติของร่างกายที่กล่าวมาข้างต้น อาจก่อให้ปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ในภายหลัง เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจสูญเสียการได้ยิน เป็นโรคหัวใจขั้นรุนแรง ข้อต่อแข็ง สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
สาเหตุของโรคโพรจีเรียในเด็ก
โรคโพรจีเรียเกิดจากการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม โดยยีน LMNA ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตโปรตีนลามินาที่สร้างในที่เก็บนิวเคลียสของเซลล์ชำรุด จนเกิดความไม่เสถียรภายในร่างกาย และนำไปสู่กระบวนการความแก่ก่อนวัย แต่ทั้งนี้ ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
วิธีรักษาโรคโพรจีเรียในเด็ก
ในปัจจุบัน ยังไม่มีการรักษาเฉพาะ หรือวิธีที่ทำให้หายขาดได้ แต่ทางคุณหมออาจมีการใช้ยาต้านมะเร็งชนิดหนึ่ง เข้ามาซ่อมแซมเซลล์ที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงให้ยาป้องกันการอุดตันของเส้นเลือด และยาป้องกันโรคหัวใจเพิ่มเติม นอกจากนี้ คุณหมออาจใช้วิธีรักษาต่อไปนี้ร่วมด้วย
- กายภาพบำบัด โดยการให้ลูกของคุณทำกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว แก้อาการข้อต่อแข็ง และปัญหาเกี่ยวกับสะโพก
- การผ่าตัด เด็กบางคนอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด เพื่อบำบัดรักษาปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจด้วยการบายพาส ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตให้กับลูกน้อย
[embed-health-tool-bmi]