backup og meta

นมสำหรับเด็กท้องเสีย ควรกินอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

    นมสำหรับเด็กท้องเสีย ควรกินอะไร

    คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กอาจมีความกังวลว่า เมื่อเด็กท้องเสียจะมี นมสำหรับเด็กท้องเสีย อะไรบ้าง ที่ช่วยบรรเทาอาการและใช้สำหรับทดแทนนมชนิดเดิมเพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ซึ่งโดยทั่วไปนมแม่คือทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก แต่หากไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้นมผงสูตรอื่น ๆ เช่น นมผงสูตรไฮโปอัลเลอร์เจนิก (Hypoallergenic) สูตรปราศจากแลคโตส สูตรถั่วเหลือง สูตรย่อยง่าย ก็อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการบรรเทาอาการท้องเสียในเด็กได้

    เด็กท้องเสียเกิดจากอะไร

    เด็กท้องเสียอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อไวรัส ติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อปรสิต แพ้ยาปฏิชีวนะ ภาวะอาหารเป็นพิษ ซึ่งเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุของอาการท้องเสียที่เกิดซ้ำได้ เช่น

  • แพ้นมวัว อาจทำให้เด็กมีอุจจาระเหลว ลื่น และอาจมีเลือดปน ซึ่งจะเกิดขึ้นในเด็กที่อายุน้อย อาจน้อยกว่า 2 เดือน หากทำได้จึงควรหลีกเลี่ยงการให้เด็กกินนมผงสูตรนมวัวและดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียวนานอย่างน้อย 4-6 เดือน แต่โดยรวมอาการท้องเสียไม่ใช่อาการที่พบบ่อยสำหรับภาวะนี้
  • ภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสไม่ได้ แลคโตส คือ น้ำตาลในนม ซึ่งเด็กบางคนร่างกายอาจไม่สามารถย่อยน้าตาลแลคโตสได้ปกติากขาดเอนไซม์ที่จำเป็น ส่งผลให้แบคทีเรียในลำไส้เปลี่ยนแลคโตสเป็นแก๊สจนทำให้มีแก๊สมาก อุจจาระเหลว และท้องอืด โดยจะเริ่มมีอาการในช่วงวัยเรียน (School-Age)และมักเป็นความผิดปกติที่สืบทอดทางพันธุกรรม
  • เมื่อเด็กท้องเสียอาจทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น อุจจาระเหลว มีเลือดปน มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน อารมณ์แปรปรวน ไม่กินอาหาร ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม อ่อนแรง

    นมสำหรับเด็กท้องเสีย มีอะไรบ้าง

    คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า หากลูกมีอาการท้องเสียจะมีนมสำหรับเด็กท้องเสียแบบใดบ้าง ที่อาจให้กินทดแทนนมชนิดเดิม และยังคงให้สารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วนต่อร่างกายของลูก ซึ่งนมสำหรับเด็กท้องเสีย อาจมีดังนี้

    • นมแม่ เป็นนมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเด็กมากที่สุด เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารที่ครบถ้วนทั้งโปรตีน ไขมัน วิตามินและแร่ธาตุ ที่ดีต่อการเจริญเติบโตของเด็กและยังย่อยง่าย นอกจากนี้ ยังไม่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้และช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเด็ก ซึ่งอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้
    • นมผงสูตรไฮโปอัลเลอร์เจนิก ประกอบด้วยโปรตีนที่จะถูกย่อยเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก จึงลดโอกาสกระตุ้นอาการแพ้ แต่ไม่แนะนำให้รับประทานนมชนิดนี้เพื่อป้องกันอาการแพ้นมวัวเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลจากงานวิจัยรองรับว่าได้ประโยชน์จริง
    • นมผงสูตรปราศจากแลคโตส เหมาะสำหรับเด็กที่ไม่มีเอนไซม์สำหรับย่อยแลคโตส ซึ่งอาจช่วยป้องกันอาการท้องเสีย ปวดท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหาร และท้องอืดได้ในเด็กกลุ่มดังกล่าว แต่จะไม่ช่วยในกรณีเด็กแข็งแรงดีที่ไม่มีภาวะดังกล่าว
    • นมผงสูตรถั่วเหลือง เป็นนมทางเลือกสำหรับเด็กที่แพ้นมวัว ซึ่งอาจช่วยป้องกันอาการท้องร่วงที่เกิดจากการกินนมวัวได้ แนะนำที่อายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
    • นมผงสูตรย่อยง่ายสำหรับทารก นมผงสำหรับทารกแรกเกิดเป็นสูตรที่ถูกคิดค้นมาให้ย่อยและดูดซึมได้ง่าย ซึ่งเหมาะกับระบบย่อยอาหารของทารกที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเด็กท้องเสียที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารอย่างเร่งด่วน

    วิธีแก้ท้องเสียสำหรับเด็ก

    โดยทั่วไปวิธีแก้ท้องเสียสำหรับเด็กอาจทำได้ด้วยการให้เด็กกินของเหลวมากขึ้นและกินอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารไปใช้เป็นพลังงานได้ทันที รวมถึงช่วยทดแทนน้ำในร่างกายที่สูญเสียไป เนื่องจากการถ่ายอุจจาระปริมาณมาก นอกจากนี้ วิธีแก้ท้องเสียสำหรับเด็กยังอาจทำได้ ดังนี้

    • ให้นมแม่หรือนมผง หรือนมถั่วเหลือง ควรให้นมเด็กบ่อยขึ้นตามความเหมาะสม ประมาณครั้งละ 5-10 นาที
    • ให้ของเหลวอื่น ๆ เช่น เกลือแร่ละลายน้ำ น้ำเปล่าทดแทนทุกครั้งที่มีอาการท้องเสีย
    • สำหรับเด็กที่กินอาหารแข็งได้ ควรให้เด็กกินอาหารเหลวที่กลืนและย่อยง่าย เช่น ข้าวโอ๊ต ขนมปังขาว แครอทบด กล้วยบด มันฝรั่งบด ซอสแอปเปิ้ล โจ๊ก ข้าวต้ม

    นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจกระตุ้นให้เด็กมีอาการท้องเสียรุนแรงขึ้น ดังนี้

    • นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมวัว โยเกิร์ต เนย ชีส
    • น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชา น้ำแอปเปิ้ล น้ำสับปะรด
    • ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม ส้มโอ มะม่วงเปรี้ยว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ สับปะรด
    • อาหารทอด ไขมันสูง อาหารสเผ็ด อาหารน้ำตาลสูง เช่น เค้ก คุกกี้ ไก่ทอด มันฝรั่งทอด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา