โรคอ้วนในเด็ก คือ ภาวะที่น้ำหนักตัวของเด็กเพิ่มขึ้นเกินเกณฑ์น้ำหนักปกติสำหรับวัยและส่วนสูงตามค่าเฉลี่ยมาตรฐาน ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่โรคอ้วนในเด็กจะพัฒนาจนกลายเป็นโรคอ้วน (Obesity) ในผู้ใหญ่ ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงของภาวะหรือโรคร้ายแรง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ในภายหลัง และอาจทำให้เด็ก ๆ มีปมด้อยหรือความเปราะบางทางใจ เช่น มีความมั่นใจในตัวเองต่ำ มีความเครียดสูง จนอาจเป็นโรคซึมเศร้าได้
สาเหตุโรคอ้วนในเด็ก
สาเหตุโรคอ้วนในเด็ก (Obese Children) มีหลายประการ หนึ่งในสาเหตุหลักมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ขาดจากออกกำลังกาย ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย หรืออาจเกิดจากปัญหาทางฮอร์โมนจนนำไปสู่ภาวะน้ำหนักเกิน แต่พบได้ค่อนข้างยาก หากสงสัยว่าลูกเสี่ยงเป็นโรคอ้วนจากปัญหาสุขภาพ เช่น ปัญหาทางฮอร์โมน ควรพาไปเข้ารับการตรวจเลือดและตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล
แม้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักมักถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ก็ใช่ว่าเด็กทุกคนที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคอ้วนจะต้องมีภาวะน้ำหนักเกิน แต่หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคอ้วนหรือเป็นคนอ้วน ก็อาจทำให้เด็กเสี่ยงมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม โรคอ้วนอาจมีสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมและลักษณะนิสัยที่สมาชิกในครอบครัวมักจะทำเหมือนกัน เช่น การบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูง การไม่ออกกำลังกาย
ทั้งนี้ การกินอาหารและการทำหรือไม่ทำกิจกรรมต่าง ๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับน้ำหนักของเด็กอย่างมาก เด็กในปัจจุบันนี้มักไม่สนใจกิจกรรมนอกบ้าน หรือออกกำลังกาย เช่น วิ่งเล่น ปั่นจักรยาน เด็ก ๆ มักใช้เวลาดูโทรทัศน์วันละประมาณ 4 ชั่วโมง และใช้เวลากับคอมพิวเตอร์และวิดีโอเกมส์มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นกิจวัตรที่พบเห็นได้ทั่วไป
ผลกระทบต่อสุขภาพของ โรคอ้วนในเด็ก
โรคอ้วนในเด็กมักส่งผลเสียต่อร่างกาย เด็กที่เป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือภาวะสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตใจ ดังนี้
- ระดับคอเลสเตอรอล และความดันในเลือดสูง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหัวใจ
- ปัญหาการหายใจ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคหอบหืด
- ปัญหาข้อต่อ
- กล้ามเนื้อและกระดูกผิดปกติ
- เสี่ยงเกิดภาวะดื้ออินซูลิน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่อง (Impaired Glucose Tolerance)
- มีปัญหาผิวหนัง เช่น สิว ผื่น เชื้อรา
- ไขมันพอกตับ
- วิตกกังวล
- โรคซึมเศร้า
- ความมั่นใจในตัวเองต่ำ
โรคอ้วนในเด็ก ไม่เพียงแต่จะส่งผลเสียกับสุขภาพ แต่ยังอาจทำให้เด็กประสบปัญหาทางสังคม เช่น โดนล้อ โดนกลั่นแกล้ง ได้อีกด้วย
วิธีป้องกันโรคอ้วนในเด็ก
โรคอ้วนในเด็กนั้นแม้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งจะเกิดจากพันธุกรรม แต่ทั้งนี้ พฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันอาจมีส่วนช่วยป้องกันโรคอ้วนในเด็กได้ โดยสมาชิกในครอบครัวอาจช่วยกันปฏิบัติตนดังนี้
- จัดกิจกรรมออกกำลังกายร่วมกันทั้งครอบครัว เช่น ปั่นจักรยาน วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ไม่ควรบอกให้ลูกออกกำลังกายในขณะที่คุณพ่อคุณแม่เองก็อยู่เฉย ๆ
- คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงให้เห็นว่าการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายนั้นสนุกมากกว่าการอยู่กับที่ หรือการอยู่แต่ในบ้าน เพื่อที่ลูกจะได้เลียนแบบ และเคลื่อนไหวบ่อยขึ้นจนเป็นนิสัย
- คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าอยู่ข้าง ๆ เป็นกำลังใจเสมอ ไม่ควรดุด่า หรือตำหนิน้ำหนักของลูก ไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น และพร้อมที่จะช่วยเหลือหากลูกต้องการ
- เสริมสร้างพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพให้กับทุกคนในครอบครัว ทั้งในเรื่องโภชนาการ เช่น ให้ทุกคนได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมทั้งตั้งกฎที่ทุกคนปฏิบัติร่วมกัน เช่น จำกัดเวลาดูโทรทัศน์ ใช้คอมพิวเตอร์ หรือเล่นเกม พยายามอย่าให้ใครอยู่กับที่นานเกินไป
[embed-health-tool-vaccination-tool]