backup og meta

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สำหรับเด็ก จำเป็นหรือไม่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/03/2023

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สำหรับเด็ก จำเป็นหรือไม่

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนที่เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ควรเข้ารับการฉีดเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่าผู้ป่วยทั่วไปถึง 6 เท่า อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หากเด็กฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อจะได้สังเกตอาการและสามารถรับมือได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เด็กต้องฉีดไหม

    ข้อมูลสถิติโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 8 กันยายน พ.ศ. 2565 จากกรมควบคุมโรค เผยว่า มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 22,922 ราย เสียชีวิต 1 ราย และผู้ป่วยกลุ่มที่พบมากที่สุดคือ เด็กแรกเกิดถึงอายุ 4 ปี รองลงมาคือ เด็กอายุ 5-14 ปี ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็ก กรมควบคุมโรคและนำให้เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และควรดูแลตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ชุมชน ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่เอามือเข้าปาก ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย วิธีดูแลสุขภาพดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่ได้แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น โรคโควิด 19 ได้ด้วย

    อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็กอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เจ็บปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีดยา มีไข้อ่อน ๆ ปวดกล้ามเนื้อ ประมาณ 1-2 วัน อาการมักหายไปเองแต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือยิ่งรุนแรง ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที

    การทำงานของวัคซีนไข้หวัดใหญ่

    สำหรับเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ หากติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือเชื้ออินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ร่างกายอาจใช้เวลาหลายอาทิตย์ในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือสร้างภูมิต้านทาน เพื่อมาต่อสู้กับเชื้อโรค และในระหว่างนั้น เชื้อไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล หายใจลำบาก ไอ เจ็บคอ ปวดเนื้อตัวรุนแรง และเด็กบางคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียได้ด้วย

    อย่างไรก็ตาม เด็กมักหายจากไข้หวัดใหญ่ภายใน 1 สัปดาห์ และอาจมีอาการอ่อนเพลียต่อไปอีกประมาณ 3-4 สัปดาห์ แต่หากสังเกตเห็นว่าเด็กมีอาการรุนแรงขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที เพราะโรคไข้หวัดใหญ่ระดับรุนแรงอาจทำให้เด็กเป็นโรคปอดอักเสบหรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

    แต่หากเด็กได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนจะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดีหรือสารภูมิคุ้มกัน (Antibody) ที่ทำหน้าที่จับและทำลายเชื้อโรคที่นำมาผลิตเป็นวัคซีน ส่งผลให้อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค เพิ่มความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับโรคไข้หวัดใหญ่ และช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ทั้งนี้ ระบบภูมิคุ้มกันจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการสร้างแอนติบอดี ในช่วงระหว่างนั้น เด็กยังอาจเสี่ยงติดโรคไข้หวัดใหญ่ คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลเด็กให้ดี เพื่อป้องกันการติดไข้หวัดใหญ่ ทางที่ดี ควรพาเด็กไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง และสามารถเริ่มฉีดได้ตลอดทั้งปี ก่อนเข้าสู่ช่วงที่โรคระบาดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยทั่วไปคือ ก่อนเข้าฤดูฝนและฤดูหนาว

    เด็กกลุ่มไหนไม่ควรฉีด วัคซีนไข้หวัดใหญ่

    โดยทั่วไป เด็กทุกคนสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ อย่างไรก็ตาม มีเด็กบางกลุ่มที่อาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือควรระมัดระวังในการเข้ารับวัคซีนไข้วัดใหญ่ ได้แก่

    • เด็กที่แพ้ไข่ เด็กที่มีอาการแพ้อาหาร โดยเฉพาะเด็กที่แพ้ไข่ อาจต้องระวังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากในวัคซีนมีโปรตีนไข่จึงอาจส่งผลให้เด็กมีอาจแพ้วัคซีนรุนแรงได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับการฉีดวัคซีน และแจ้งให้แพทย์ทราบอย่างละเอียดหากเด็กมีอาการแพ้ไข่
    • เด็กที่มีผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนครั้งก่อน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพาเด็กไปฉีดวัคซีน หากเคยฉีดแล้วเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น หายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หรืออาจต้องพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
    • เด็กไม่สบาย หากร่างกายของเด็กยังไม่แข็งแรง ไม่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนทุกชนิด ควรดูแลร่างกายของเด็กให้แข็งแรง จึงค่อยพาไปฉีดวัคซีน

    ทั้งนี้ การแพ้ไข่ไม่ใช่ข้อห้ามของการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกชนิด ทั้งชนิดที่ผลิตจากเซลล์และชนิดไข่ไก่ฟัก แต่ควรระวังอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 30 นาทีหลังฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้ที่มีแพ้ไข่อย่างรุนแรง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา