backup og meta

Vaccine ที่ควรได้รับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/06/2022

    Vaccine ที่ควรได้รับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่

    วัคซีน (Vaccine) เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยเฉพาะในทารกแรกเกิดที่ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอที่จะต้านเชื้อโรคบางชนิดได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับอักเสบบี คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยป้องกันความรุนแรงของโรค ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น

    ความสำคัญของการฉีด Vaccine

    วัคซีนมีความสำคัญต่อร่างกายของเด็กแรกเกิดไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่อโรคก่อนที่จะป่วย โดยการฉีดสารชนิดหนึ่งเข้าไปในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ ขึ้น โดยวัคซีนแต่ละตัวอาจทำหน้าที่ในการป้องกันโรคที่แตกต่างกันออกไป

    ดังนั้น การฉีดวัคซีนที่จำเป็นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่แรกเกิดและฉีดวัคซีนกระตุ้นตามกำหนดอยู่เสมอ จึงส่งผลดีต่อการสร้างระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต้านการติดเชื้อ ป้องกันอาการป่วยรุนแรงและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ โดยสามารถแบ่งวัคซีนออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

    • วัคซีนก่อโรคทั้งตัว คือ การนำเชื้อโรคที่ตายแล้วหรือทำให้เชื้อโรคอ่อนแอลงเพื่อไม่ให้เกิดโรคมาทำเป็นวัคซีน โดยให้เชื้อโรคทั้งหมดกระตุ้นการสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อป้องกันโรคแต่ละชนิด เช่น วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน วัคซีนตับอักเสบ เอ และบี
    • วัคซีนที่ทำจากส่วนหนึ่งของเชื้อ คือ การนำเพียงส่วนประกอบบางส่วนหรือแอนติเจนของเชื้อโรคที่สามารถกระตุ้นการสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดมาทำเป็นวัคซีน แต่วัคซีนประเภทนี้อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคในระยะสั้นกว่า เช่น วัคซีนป้องกันโรคไอกรน วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฮิบ วัคซีนคอนจูเกต
    • วัคซีนกรดนิวคลีอิก คือ การนำสารพันธุกรรมของเชื้อโรคมาทำเป็นวัคซีนเพื่อกระตุ้นการสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคในระยะยาวได้ เช่น วัคซีน mRNA วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

    คำแนะนำการฉีด Vaccine สำหรับเด็กแรกเกิดถึงอายุ 18 ปี

    การฉีดวัคซีนที่จำเป็นเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี มีดังนี้

    วัคซีนบีซีจี (BCG)

    เป็นวัคซีนป้องกันวัณโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์โคโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis หรือ TB) และยังช่วยลดความเสี่ยงวัณโรคที่เยื่อหุ้มสมองในเด็กได้ด้วย

    • ควรได้รับวัคซีน 1 ครั้ง ตั้งแต่แรกเกิด

    วัคซีนตับอักเสบบี (HBV)

    เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดบี (Hepatitis B virus หรือ HBV) ที่ก่อให้เกิดโรคตับอักเสบบี หากไม่ได้รับวัคซีนป้องกันหรือการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่การอักเสบเรื้อรัง ตับวาย ตับแข็ง และมะเร็งตับได้

    • ควรได้รับวัคซีน 3 ครั้ง โดยครั้งแรกควรได้รับตั้งแต่แรกเกิด อายุ 1-2 เดือนและอายุ 6-18 เดือน ตามลำดับ

    วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP)

    เป็นวัคซีนชนิดทั้งเซลล์ (Whole Cell Pertussis) ที่ประกอบด้วยเชื้อเป็นโรคคอตีบ บาดทะยัก และเชื้อตายของโรคไอกรน ช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียคอรีนแบคทีเรียม ดิฟทีเรีย (Corynebacterium Diphtheriae หรือชื่อย่อ C.diphtheriae) ที่ทำให้เกิดโรคคอตีบ เชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส (Bordetella Pertussis หรือชื่อย่อ B. pertussis) ที่ทำให้เกิดโรคไอกรน และเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม เตตานิ (Clostridium Tetani) ที่ทำให้เกิดโรคบาดทะยัก

  • ควรได้รับวัคซีน 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ
  • ควรได้รับวัคซีนกระตุ้น 2 ครั้ง เมื่ออายุ 18 เดือน และเมื่ออายุ 4-6 ปี จากนั้นรับวัคซีนกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีน 1 เข็ม เมื่ออายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ในทุกการตั้งครรภ์
  • วัคซีนโรคติดเชื้อฮิบ (Hib)

    เป็นวัคซีนป้องกันเชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา ชนิดบี (Haemophilus Influenzae Type b หรือ Hip) ซึ่งเป็นเชื้อที่มักก่อให้เกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคปอดอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคข้ออักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ

    • สามารถได้รับเป็นวัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบีและโรคติดเชื้อฮิบ (DTP-HB-Hib) ควรได้รับวัคซีน 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ หรือรับวัคซีนป้องกันเฉพาะโรคติดเชื้อฮิบครั้งแรกได้เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือนและ 6 เดือน

    วัคซีนโปลิโอชนิดกิน (Oral Polio Vaccine หรือ OPV)

    เป็นวัคซีนที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคในเยื่อบุลำคอ เยื่อบุลำไส้และในกระแสเลือด ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสโปลิโอแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกาย

    • ควรได้รับวัคซีน 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือนและ 6 เดือน
    • ควรได้รับวัคซีนกระตุ้น 2 ครั้ง เมื่ออายุ 18 เดือน และอายุ 4-6 ปี ตามลำดับ

    วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (Measles-Mumps-Rubella Vaccine หรือ MMR)

    เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ที่ใช้ป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม

    • ควรได้รับวัคซีน 2 ครั้ง เมื่ออายุ 9-12 เดือน และอายุ 2-2 ปีครึ่ง

    วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Live JE)

    เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเจอี (Japanese Encephalitis Virus หรือ JEV) ที่ก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบที่มีพาหะมาจากยุงที่หากินในตอนกลางคืน ที่อาจก่อให้เกิดอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน ชักเกร็ง หมดสติและอาจเสียชีวิตได้

    • วัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิต สามารถรับวัคซีนครั้งแรกได้เมื่ออายุ 6 เดือน ถึงอายุ 2-2 ปีครึ่ง โดยครั้งที่ 1 และ 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์ และครั้งที่ 3 ห่างกันอีก 1 ปี
    • วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต สามารถรับวัคซีน 2 ครั้ง เมื่ออายุ 9-12 เดือน และอายุ 2-2 ปีครึ่ง ตามลำดับ

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

    เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า (Influenza Virus) ในทางเดินหายใจทั้งชนิดสายพันธุ์ A และ B ที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอักเสบ

    • ควรได้รับวัคซีนครั้งแรกเมื่ออายุ 6 เดือน ถึงอายุ 2 ปี โดยให้ทั้ง 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน หลังจากนั้นสามารถรับวัคซีนได้ทุกปี ตามสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป

    วัคซีนโรต้า (Rota)

    เป็นวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้าซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำและอาเจียนรุนแรงในเด็กแรกเกิด-5 ปี

    • ควรได้รับวัคซีน 3 ครั้ง สามารถรับครั้งแรกได้เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือนและ 6 เดือน ตามลำดับ

    วัคซีนเอชพีวี (HPV)

    เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนพาพิลโลมาไวรัส หรือ เอชพีวี (Human Papillomavirus หรือ HPV) ซึ่งมักติดต่อจากการสัมผัสผิวหนังและการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้อีกด้วย

    • ควรได้รับวัคซีนครั้งแรกเมื่ออายุ 11-12 ปี (หรือเริ่มได้เมื่ออายุขั้นต่ำ 9 ปี) โดยได้รับ 2 เข็ม ห่างกันเข็มละ 6-12 เดือน

    สำหรับวัคซีนอื่น ๆ ที่สามารถใช้เสริมหรือทดแทน มีดังนี้

    วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (DTaP, Tdap หรือ TdaP)

    เป็นวัคซีนชนิดไร้เซลล์ (Acellular Pertussis) ประกอบด้วยเชื้อเป็นโรคคอตีบ บาดทะยัก แต่มีส่วนประกอบเพียงบางส่วนของเชื้อไอกรนเท่านั้น ช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคคอตีบ โรคไอกรน และโรคบาดทะยัก

    • ควรได้รับวัคซีน 3 ครั้ง โดยสามารถรับครั้งแรกได้เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือนและ 6 เดือน ตามลำดับ
    • อาจรับวัคซีนกระตุ้นได้เมื่ออายุ 18 เดือนและอายุ 4-6 ปี จากนั้นรับวัคซีนกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี

    วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (Inactivated Poliovirus Vaccine หรือ IPV)

    เป็นวัคซีนป้องกันโปลิโอที่ไม่ทำให้เกิดภาวะอ่อนแรงในผู้ติดเชื้อ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อป้องกันโรคโปลิโอ

    • ควรได้รับวัคซีน 3 ครั้ง โดยสามารถรับครั้งแรกได้เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือนและ 6 เดือน ตามลำดับ
    • อาจรับวัคซีนกระตุ้นได้เมื่ออายุ 18 เดือนและอายุ 4-6 ปี

    วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (Pneumococcal Conjugate Vaccine หรือ PCV)

    เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมคอคคัส (Streptococcus Pneumoniae) ที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบและการติดเชื้อแบบลุกลาม ซึ่งอาจส่งผลทำให้เสียชีวิตได้

    • ควรได้รับวัคซีน 4 ครั้ง โดยสามารถรับครั้งแรกได้เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และอายุ 12-15 เดือน ตามลำดับ

    วัคซีนตับอักเสบเอ (HAV)

    เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดเอ (Hepatitis A Virus หรือ HAV) ที่อาจส่งผลต่อการทำงานของตับจนตับทำงานล้มเหลวหรือเกิดตับวายเฉียบพลัน และอาจเสียชีวิตได้

    • ควรได้รับวัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิตครั้งแรกเมื่ออายุ 12 เดือน ถึงอายุ 12 ปี โดยได้รับ 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน หรือรับวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต 1 เข็ม เมื่ออายุ 18 เดือนขึ้นไป

    วัคซีนอีสุกอีใส (VZV) หรือวัคซีนรวม หัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส (MMRV)

    วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella Zoster Virus หรือ VZV) ช่วยกระตุ้นการสร้างระบบภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันอีสุกอีใสเพียงชนิดเดียว หรือวัคซีนรวม หัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส (Measles-Mumps-Rubella Vaccine หรือ MMRV) จะช่วยกระตุ้นการสร้างระบบภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันทั้งโรคหัด คางทูม หัดเยอรมันและอีสุกอีใส

    • ควรได้รับวัคซีน 2 ครั้ง สามารถรับครั้งแรกเมื่ออายุ 12-18 เดือน และอายุ 2-4 ปี ตามลำดับ
    • หากได้รับวัคซีนครั้งแรกอายุมากกว่า 13 ปีขึ้นไป ควรรับวีคซีน 2 เข็ม โดยห่างกันเข็มละอย่างน้อย 1 เดือน

    วัคซีนไข้เลือดออก (DEN)

    เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) 4 สายพันธุ์ คือ DEN1 DEN2 DEN3 และ DEN4 ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกที่มีพาหะมาจากยุง

    • ควรได้รับวัคซีน 3 ครั้ง สามารถรับได้เมื่ออายุ 9-45 ปี โดยการรับวัคซีนครั้งแรกและครั้งที่ 2 ควรห่างกัน 6 เดือน และครั้งที่ 3 ห่างกัน 12 เดือน อย่างไรก็ตาม ก่อนให้วัคซีน เด็กอาจมีประวัติติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน หรือหากไม่เคยติดเชื้อควรได้รับการพิจารณาจากคุณหมอก่อนฉีดวัคซีน

    วัคซีนพิษสุนัขบ้า ก่อนสัมผัสเชื้อ

    เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าที่มีพาหะมาจากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด เช่น สุนัข แมว กระต่าย หนู ลิง โดยเชื้อไวรัสจะเข้าทำลายระบบประสาทส่วนกลางและอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้

    • ควรได้รับวัคซีน 2 ครั้ง สามารถรับครั้งแรกได้เมื่ออายุ 2 เดือนเป็นต้นไป โดยครั้งแรกและครั้งที่ 2 ควรห่างกันอย่างน้อย 7 วัน

    วัคซีนโควิด-19

    เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) แนะนำให้ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เริ่มตั้งครรภ์และวางแผนตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนอาจมีโอกาสป่วยน้อยลงและอาจมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยน้อยลงด้วย นอกจากนี้ แนะนำให้เด็กอายุ 5-11 ปี เริ่มฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ได้ประมาณ 90.7%

    • วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) สามารถใช้ฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปี โดยฉีด 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์

    คำแนะนำการฉีด Vaccine สำหรับผู้ใหญ่อายุ 19 ปี ขึ้นไป

    สำหรับผู้ที่มีอายุ 19 ปี ขึ้นไป อาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันเพิ่มเติม ดังนี้

    วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย (Influenza Inactivated หรือ Influenza Recombinant)

    เป็นวัคซีนแบบฉีดชนิดเชื้อตาย มีประสิทธิภาพช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดใหญ่และลดความรุนแรงของอาการ

    • ควรได้รับวัคซีน 1 โดส/ปี ตั้งแต่อายุ 19 ปี เป็นต้นไป กลุ่มคนที่ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้พิการทางสมอง ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้มีภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง

    วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อมีชีวิต (Influenza Live Attenuated)

    เป็นวัคซีนแบบฉีดชนิดเชื้อมีชีวิต ช่วยลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อน ลดโอกาสที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตลงได้

    • ควรได้รับวัคซีน 1 โดส/ปี ตั้งแต่อายุ 19-49 ปี

    วัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap หรือ Td)

    เป็นวัคซีนที่มีส่วนประกอบของเชื้อบาดทะยักในปริมาณเท่าเดิม แต่ลดปริมาณเชื้อคอตีบและไอกรน เพื่อให้เหมาะกับสภาพร่างกายของเด็กโตและผู้ใหญ่เพื่อช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ดียิ่งขึ้น

    • ผู้หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีน 1 โดส ในทุกครั้งที่ตั้งครรภ์
    • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและมีบาดแผลควรได้รับวัคซีน 1 โดส
    • ควรได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี

    วัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR)

    เป็นวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม สามารถใช้ฉีดในเด็กโตและผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือใช้ฉีดกระตุ้น

    • ควรได้รับวัคซีนกระตุ้น 1 หรือ 2 โดส ตั้งแต่อายุ 19-64 ปี ขึ้นอยู่กับพิจารณาของคุณหมอ

    วัคซีนงูสวัด

    เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่ก่อโรคอีสุกอีใส และช่วยป้องกันการเกิดโรคงูสวัดได้เช่นกัน

    • ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีน 2 โดส ห่างกันโดสละ 2-6 เดือน

    วัคซีนโรคปอดบวม (PCV15, PCV20, PPSV23)

    เป็นวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcal Vaccine) ที่ก่อให้เกิดโรคปอดบวมและปอดอักเสบ

    • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปและไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม คุณหมอจะให้วัคซีน 2 ครั้ง คือ PCV15 1 ครั้ง ตามด้วย PPSV23 หรือ PCV20 อีก 1 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1 ปี

    วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (HepB)

    เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดบีที่อาจสามารถช่วยป้องกันมะเร็งตับ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ด้วยโรคมะเร็ง สามารถฉีดในเด็กโตและผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน หรือใช้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย

    • ผู้ที่มีอายุ 19 -64 ปี คุณหมออาจให้วัคซีน 2, 3 หรือ 4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีนหรือสุขภาพผู้ป่วย

    วัคซีนเอชพีวี

    เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก สามารถฉีดในเด็กโตและผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน หรือใช้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย

    • ผู้ที่มีอายุ 19-26 ปี คุณหมออาจให้วัคซีน 2 หรือ 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับอายุของผู้เข้ารับฉีดวัคซีนหรือสุขภาพผู้ป่วย

    วัคซีนโควิด-19

    เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ในผู้ใหญ่ที่อายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถฉีดได้เพื่อป้องกันการติดเชื้อและอาการรุนแรงของโรค

    • วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ฉีด 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์
    • วัคซีนโควิดแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ใช้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 16 สัปดาห์
    • วัคซีนโควิดโมเดอร์นา (Moderna) ใช้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 28 วัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา