ยิ่งหากพ่อแม่หย่าร้างกันแล้ว เด็กต้องย้ายบ้านหรือย้ายโรงเรียน ก็อาจทำให้เด็กเครียดหรือเป็นกังวลยิ่งกว่าเก่า เพราะเขากลัวจะไม่ได้ติดต่อกับเพื่อนกลุ่มเดิมอีก
อารมณ์ต่าง ๆ ของเด็กที่เกิดขึ้นเมื่อพ่อแม่หย่าร้างกัน หากปล่อยไว้นานวันอาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ร้ายแรงหรือเรื้อรังได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น โดยสุขภาพกายและสุขภาพจิตนั้นเชื่อมโยงกัน ฉะนั้นเมื่อเด็กมีปัญหาสุขภาพจิต ก็อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพกายตามมา
วิธีที่ช่วยให้เด็กรับมือกับการหย่าร้างได้ดีขึ้น
เมื่อพ่อแม่หย่าร้างกัน ลูกย่อมต้องรู้สึกว่าเขาสูญเสียบางอย่างในชีวิตไป ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียพ่อหรือแม่ สูญเสียสมาชิกในครอบครัว หรือสูญเสียชีวิตประจำวันที่เคยมี และการสูญเสียก็อาจส่งผลกระทบร้ายแรงกับสุขภาพและการใช้ชีวิตของเด็กได้ คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยให้เด็กรับมือกับการหย่าร้าง หรือการสูญเสีย ด้วยวิธีเหล่านี้
- รับฟัง พยายามให้ลูกบอกความรู้สึกที่แท้จริงออกมา และพ่อแม่ควรรับฟังอย่างตั้งใจ
- ช่วยลูกนิยามความรู้สึกของเขา เด็ก ๆ อาจแสดงความรู้สึกไม่เป็น โดยเฉพาะเมื่อเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่จึงต้องคอยสังเกตอารมณ์และพยายามให้เขาระบายความรู้สึกออกมาให้ได้
- คอยส่งข่าวและข้อมูลการหย่าร้างให้ลูกรับรู้ตลอด เด็กอาจจะมีคำถามเกี่ยวกับการหย่าร้างของคุณ และอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อเขาถามก็ควรอธิบาย อย่าให้ลูกรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนเกิน หรือทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่พยายามปิดบังอะไรอยู่
- ทำให้ลูกรู้ว่าการที่พ่อแม่หย่าร้างกันไม่ใช่ความผิดของเขา เพราะหากลูกคิดว่าตัวเองเป็นสาเหตุของการหย่าร้าง ก็อาจส่งผลต่อจิตใจและการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้ผลการเรียนตกต่ำ มีปัญหาทะเลาะหรือชกต่อยกับคนอื่น เป็นต้น
- ทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยังคงรักและคอยสนับสนุนเขาเหมือนเดิม อาจแสดงให้เขาเห็นทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ เช่น บอกรัก กอด หอมแก้ม เป็นต้น
แม้การหย่าร้างกันของพ่อแม่จะเป็นเรื่องที่ลูกรู้สึกทำใจหรือยอมรับได้ยาก แต่หากพ่อแม่ลองทำตามคำแนะนำต่าง ๆ ข้างต้น อาจช่วยเด็กรับมือกับการหย่าร้างได้ดีขึ้น หรือหากมีแนวโน้มที่การหย่าร้างของพ่อแม่อาจสร้างปัญหาสุขภาพจิตแก่ลูก ควรปรึกษาจิตแพทย์
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย