ไม่กล้าแสดงออก หรืออาการขี้อาย คือความรู้สึกหวาดกลัวผู้คนที่อยู่รอบตัว อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ยังเด็กกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หากลูกไม่กล้าแสดงออกเ และพ่อแม่ไม่ส่งเสริมให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง อาจเป็นผลเสียให้ทำให้ไม่มีความกล้าแสดงออกติดไปจนกระทั่งตอนโต จนอาจทำให้พลาดโอกาสดี ๆ ในชีวิตเพียงเพราะความไม่กล้าแสดงออก คุณพ่อคุณแม่จะมีเสริมสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นกับลูกน้อยได้อย่างไรบ้าง
ไม่กล้าแสดงออกเป็นอย่างไร
เมื่อลูกน้อยไม่กล้าแสดงออก แต่ต้องไปอยู่ท่ามกลางคนจำนวนมากอาจทำให้เกิดความประหม่าได้ ซึ่งหมายถึงความรู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกประหม่าแบบขี้อาย หรือมีความรู้สึกไม่ปลอดภัย หากเกิดความรู้สึกอายมักสังเกตเห็นความรู้สึกทางร่างกายที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน เช่น หน้าแดง รู้สึกพูดไม่ชัด ตัวสั่น หัวใจเต้นแรง หายใจไม่ออก เหงื่อออกมาก
ทำไมจึงไม่กล้าแสดงออก
สาเหตุที่ทำให้ไม่กล้าแสดงออกนั้นอาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุดังนี้
1.พันธุกรรม
ยีนเป็นตัวกำหนดลักษณะทางกายภาพ เช่น ความสูง สีตา หรือสีผิว แต่ยีนก็มีอิทธิพลต่อลักษณะบุคลิกภาพบางอย่างด้วยเหมือนกัน เช่น ความประหม่า ซึ่งยีนมีอิทธิพลต่อความประหม่าอยู่ประมาณ 20% ของคนที่มีแนวโน้มทางพันธุกรรมที่จะขี้อายตามธรรมชาติ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีแนวโน้มทางพันธุกรรมนี้
2. ขาดการเข้าสังคม
เด็ก ๆ ที่ถูกทอดทิ้งในช่วงสองสามขวบปีแรกของชีวิตอาจไม่มีทักษะในการเข้าสังคม ทำให้รู้สึกไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรต่อคนแปลกหน้า เมื่อต้องไปอยู่ในสถานการณ์แปลกใหม่ สถานที่ใหม่ ๆ ทำให้ไม่กล้าแสดงออก
3. กลัวความผิดพลาด
เด็ก ๆ ที่ถูกผลักไสหรือสนับสนุนให้ทำกิจกรรมที่ตัวเองไม่ชอบหรือเกินขีดความสามารถในหลาย ๆ ครั้ง แล้วได้รับผลลัพธ์ที่ไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือถูกตัดสินจากผู้ใหญ่ จะทำให้พวกเขากลัวการทำผิดพลาดซ้ำ จึงกลายเป็นว่าพวกเขาขาดความมั่นใจ และกลัวที่จะแสดงออกไปในที่สุด
พ่อแม่จะช่วยเสริมความมั่นใจให้ลูกได้อย่างไร
1.หมั่นชื่นชมความสำเร็จของลูกอยู่เสมอ
เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองควรจะต้องเอ่ยคำชมแก่ลูก โดยเฉพาะเวลาที่ลูกประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเด็กจะล้มเหลวในบางอย่าง ก็ให้ชื่นชมในความพยายามที่ได้ทำลงไปอย่างเต็มที่เต็มความสามารถ แต่ไม่ควรชื่นชมในผลลัพธ์ที่ไม่สมจริง ให้ลูกได้เรียนรู้ว่าไม่สามารถทำทุกอย่างให้สมบูรณ์ไร้ที่ติเสมอไป แต่ควรสอนให้ใช้ความพยายามและรู้จักการฝึกฝน
2.ฟังอย่างตั้งใจ
พ่อแม่ควรหาเวลาอยู่กับลูก และฟังลูกพูดเกี่ยวกับความกลัวของเขา พยายามเอาใจใส่ในทุก ๆ เรื่องราว อาจพูดแสดงความเข้าใจปัญหา เช่น “บางครั้งแม่ก็รู้สึกอายเหมือนกัน” หรือ “ตอนที่พ่ออายุเท่าลูกพ่อก็อายเหมือนกัน” เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เผชิญปัญหานี้แค่คนเดียวในโลก
3.ให้เวลาลูกในการเตรียมความพร้อม
ในทุกสถานการณ์ความกังวลของเด็ก ๆ จะลดลงเมื่อพวกเขารู้ว่าพวกเขาจะต้องทำอะไร ยกตัวอย่างเช่น สองสามวันก่อนงานเลี้ยงวันเกิดพ่อกับแม่อาจนัดพาลูกไปที่บ้านเพื่อน พบกับผู้ปกครองของเพื่อนและรับฟังเกี่ยวกับตารางกิจกรรม เพื่อให้เด็กรู้ว่าตัวเองจะต้องทำอะไรต่อไป และควรเตรียมตัวอย่างไร
4.หยุดการมองโลกในแง่ร้าย
พฤติกรรมไม่กล้าแสดงออกเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของความคิดเชิงลบ ทำให้เกิดความสงสัยในตัวเอง พ่อแม่สามารถช่วยเพิ่มความคิดในเชิงบวกแก่เด็ก ๆ ได้ เช่น ถ้าลูกมีความคิดว่าคนอื่น ๆ จะไม่ชอบตัวเอง ก็สามารถเปลี่ยนความคิดให้ลูกรู้สึกว่าเขาสามารถที่จะเข้ากันได้ดีกับเพื่อนคนอื่น ๆ อาจจะโดยการพูดให้กำลังใจ หรือย้ำเตือนว่าพ่อแม่อยู่ข้าง ๆ ลูกเสมอ
5.ฝึกฝน
บางครั้งการไม่กล้าแสดงออกอาจเกิดจากความไม่พร้อม ทำให้เกิดความกังวลว่าจะทำข้อผิดพลาด พ่อแม่ควรให้เวลาลูกได้ฝึกฝนในสิ่งที่เขาต้องการ หรือสอนให้รู้ว่าหากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นจะมีวิธีรับมืออย่างไรได้บ้าง
6.สอนให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง
โดยธรรมชาติเด็กจะอายหรือไม่กล้าแสดงออกเมื่อรู้สึกว่าแตกต่างจากคนอื่นในสังคม ผู้ปกครองสามารถที่จะสอนให้ลูกเข้าใจว่าการที่แตกต่างจากคนอื่นไม่ใช่เรื่องน่าอาย โดยอาจจะอาศัยประสบการณ์ในอดีตของตนเองมาเล่าให้ฟังเพื่อให้เด็กสบายใจมากขึ้น
[embed-health-tool-vaccination-tool]