ทารกตัวเหลืองเกิดจากอะไร
ทารกตัวเหลือง เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด เกิดจากทารกมีระดับบิลิรูบินสูงเกินไป โดยบิลิรูบินเป็นสารเคมีสีเหลืองที่สะสมอยู่ในกระแสเลือดที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่าสลายตัว โดยทั่วไปตับของทารกแรกเกิดจะกำจัดบิลิรูบินออกไปได้ตามปกติและไม่ทำให้มีภาวะตัวเหลือง แต่ทารกแรกเกิดบางรายที่ตับยังพัฒนาไม่เต็มที่หรือตับทำงานผิดปกติ อาจขับบิลิรูบินออกจากร่างกายไม่ทัน จึงมีบิลิรูบินสะสมอยู่ในกระแสเลือดมากเกินไป จนส่งผลให้ทารกมีผิวสีเหลืองหรือตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ภาวะนี้มักพบในทารกอายุ 2-3 วัน และอาจหายไปเองภายใน 10-14 วัน
สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ทารกตัวเหลือง อาจมีดังนี้
- การคลอดก่อนกำหนด ทารกที่คลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 38 สัปดาห์อาจไม่สามารถขับบิลิรูบินส่วนเกินได้หมด เนื่องจากตับยังทำงานได้ไม่เต็มที่ และทารกกินน้ำนมได้น้อย จึงทำให้ถ่ายอุจจาระน้อยกว่าปกติ ร่างกายจึงขับบิลิรูบินออกทางอุจจาระได้น้อยตามไปด้วย
- การได้รับน้ำนมแม่น้อยเกินไป ในช่วง 1-3 วันหลังคลอด ร่างกายคุณแม่จะผลิตน้ำนมเหลืองหรือโคลอสตรุม (Colostrum) ซึ่งมีความเข้มข้นสูงและมีสารอาหารหลากหลาย เพื่อช่วยให้ทารกสามารถปรับตัวในการดูดและกินนมได้อย่างเต็มที่ แต่ปริมาณน้ำนมเหลืองจะน้อยกว่าน้ำนมใสและน้ำนมขาว ทารกอายุ 1-3 วันจึงได้รับน้ำนมน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ถ่ายอุจจาระน้อยและกำจัดบิลิรูบินส่วนเกินได้ไม่ทัน นอกจากนี้ การให้นมผิดท่าจนทารกกินนมได้น้อยหรือทารกมีปัญหาในการดูดนม ก็อาจทำให้เกิดภาวะตัวเหลืองได้เช่นกัน จึงควรให้ทารกกินนมบ่อยขึ้นเพื่อกระตุ้นน้ำนมและช่วยให้ทารกได้รับน้ำนมมากขึ้น
- ภาวะตัวเหลืองจากน้ำนมแม่ (Breast Milk jaundice) ทารกบางคนที่กินนมแม่อาจมีระดับบิลิรูบินสูงกว่าปกติ แต่โดยทั่วไประดับบิลิรูบินจะลดลงและทำให้อาการตัวเหลืองจากน้ำนมแม่หายไปเองภายใน 2 สัปดาห์ ทารกที่เกิดภาวะนี้มักมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวในระดับเหมาะสม และตับสามารถทำงานเป็นปกติ
- การบาดเจ็บขณะคลอด หากทารกได้รับบาดเจ็บขณะคลอด เช่น เลือดออกที่หนังศีรษะ จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวมากและเร็วกว่าปกติ จึงอาจส่งผลให้มีระดับบิลิรูบินสูงกว่าทารกทั่วไปได้
- ทารกมีกรุ๊ปเลือดต่างกับคุณแม่ หากกรุ๊ปเลือดทารกและคุณแม่แตกต่างกัน เช่น คุณแม่มีเลือดกรุ๊ปโอ ส่วนทารกมีเลือดกรุ๊ปเอหรือบี คุณแม่มีเลือดกรุ๊ปอาร์เอชลบ (Rh Negative) ส่วนทารกมีเลือดกรุ๊ปเลือดอาร์เอชบวก (Rh Positive) อาจทำให้แอนติบอดีที่ได้รับจากเลือดคุณแม่ผ่านทางรกไปโจมตีเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารก ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวเร็วผิดปกติ จนมีระดับบิลิรูบินสูงและเกิดภาวะตัวเหลือง
- ภาวะทางสุขภาพ เช่น ภาวะตับอักเสบ ตับทำงานผิดปกติ การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในกระแสเลือด ภาวะเลือดออกภายใน (Internal hemorrhage) ภาวะท่อน้ำดีตีบ การขาดเอนไซม์บนเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารก อาจทำให้เกิดภาวะตัวเหลืองได้
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย