การตั้งครรภ์และการให้นมลูกอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ หน้าอก เปลี่ยนรูปร่างไป นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุ ขนาดของเต้านมก่อนตั้งครรภ์ จำนวนครั้งของการตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรกังวลจนเกินไปถึงรูปร่างหน้าอกที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ควรดูแลรักษาสุขภาพหน้าอกและเต้านมให้ปลอดภัยจากโรคต่าง ๆ
[embed-health-tool-ovulation]
หน้าอก เสียทรงเพราะให้นมลูกจริงหรือ
โดยปกติแล้ว ในเต้านมไม่มีกล้ามเนื้อแต่จะยึดติดอยู่กับหน้าอกได้ด้วยเส้นเอ็นบาง ๆ ที่เรียกว่า เส้นคูเปอร์ (Cooper’s Ligament) ขณะตั้งครรภ์เส้นเอ็นบาง ๆ เหล่านี้จะยืดออก และเลือดจะถูกปั๊มเข้าเต้านม ทำให้หน้าอกมีน้ำหนักและอวบอิ่ม การสร้างน้ำนมอาจทำให้เนื้อเยื่อในเต้านมหนาขึ้น และอาจทำให้เต้านมของดูเหมือนหย่อนยานลง เนื้อเยื่อไขมันและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ก็อาจจะค่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไป หลังจากการให้นมลูก อย่างไรก็ตาม แม้ไม่ได้ให้นมลูก แต่การตั้งครรภ์อาจส่งผลทำให้รูปร่างเต้านมของผู้หญิงแต่ละคนแตกต่างกันไป นอกจากนั้น ยังอาจขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย ได้แก่
- ดัชนีมวลกาย
- พันธุกรรม
- จำนวนครั้งของการตั้งครรภ์
- ขนาดของเต้านมก่อนตั้งครรภ์
- อายุ
- ประวัติการสูบบุหรี่
- พฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย
การเปลี่ยนแปลงของเต้านม
การเปลี่ยนรูปร่างของเต้านมอาจพบได้มากเมื่อเต้านมเต็มไปด้วยน้ำนม โดยเต้านมแต่ละข้างจะเป็นอิสระต่อกัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเต้านมข้างหนึ่ง อาจไม่เกิดขึ้นกับเต้านมอีกข้างก็ได้
ในขณะตั้งครรภ์ เส้นเอ็นที่ยึดติดเต้านมกับหน้าอกจะยืดออกและจะหดตัวลงหลังการให้นมลูก ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างของเส้นรอบอก ส่งผลให้หน้าอกอาจมีความไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่ เต้านมแต่ละข้างมักไม่เท่ากันและอาจมีรูปร่างเปลี่ยนแปลงหรือขนาดเปลี่ยนไปตามวัยและปัจจัยอื่น ๆ ดังที่กล่าวมา
วิธีดูแล หน้าอก ที่เปลี่ยนรูปร่าง
หากสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ หน้าอก หลังจากให้นมลูกอาจต้องทำความเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติและไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่หากต้องการให้ หน้าอก กลับมามีขนาดหรือรูปร่างดังเดิม ในปัจจุบันนี้ มีวิธีการดูแลหน้าอกหลายวิธี เช่น การออกกำลังกาย การผ่าตัดศัลยกรรม อย่างไรก็ตาม หากต้องการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าอกด้วยการผ่าตัด ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อขอคำปรึกษาและเข้าใจถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจขึ้นหลังจากทำศัลยกรรม เพื่อประกอบการตัดสินใจ
นอกจากนั้น อย่าลืมว่า การให้นมลูกโดยเฉพาะในช่วง 3-6 เดือนแรกเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะน้ำนมแม่ คือ แหล่งของสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อลูกน้อย ช่วยให้สุขภาพร่างกายของลูกน้อยแข็งแรงและเจริญเติบโตสมวัย
คุณแม่ที่ให้น้ำนมลูกควรบำรุงและดูแลรักษาเต้านมและหน้าอก อย่างสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตเต้านม และรักษาความสะอาด ใส่ใจการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เรียนรู้กับการปั้มนมอย่างถูกวิธี รวมถึงการดูแลเต้านมอย่างอ่อนโยน และควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมสม่ำเสมอ หากมีความกังวลใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเต้านม ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำรวมถึงวิธีการดูแลเต้านมที่ถูกต้อง