backup og meta

การเจริญเติบโตของทารก ช่วงวัยขวบปีแรก และวิธีการดูแล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

    การเจริญเติบโตของทารก ช่วงวัยขวบปีแรก และวิธีการดูแล

    การเจริญเติบโตของทารก ในช่วงขวบปีแรกอาจแตกต่างกันออกไปตามแต่ละคน บางคนอาจมีพัฒนาการเหมาะสมกับช่วงวัย แต่บางคนก็อาจมีพัฒนาการล่าช้า ขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพและการดูแลของผู้ปกครอง ดังนั้น เพื่อให้ลูกน้อยเจริญเติบโตสมวัย คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาวิธีดูแลลูกอย่างเหมาะสม อีกทั้งยังควรสังเกตอาการผิดปกติ และควรแจ้งให้คุณหมอทราบทันที เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดและทำการรักษา เพื่อให้ทารกมีพัฒนาการที่เหมาะสม สมบูรณ์ เป็นไปตามวัย

    พัฒนาการและ การเจริญเติบโตของทารก ในช่วงขวบปีแรก

    พัฒนาการและการเจริญเติบโตของทารกขวบปีแรก แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังต่อไปนี้

    ทารกอายุ 0-3 เดือน

    ในช่วง 3 เดือนแรก ร่างกายและสมองของทารกกำลังเข้าสู่ช่วงพัฒนาและเริ่มเรียนรู้การใช้ชีวิตภายนอก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตพัฒนาการและการเจริญเติบโตได้ดังนี้

    • ทารกอาจเริ่มมองตามวัตถุที่อยู่ตรงหน้าไปมา
    • ยิ้ม ตอบสนองต่อสิ่งที่เห็น หรือในขณะที่คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูก
    • เริ่มยกศีรษะหรือชันคอเองได้
    • เอื้อมมืออยากจับวัตถุ ของเล่น หรือตุ๊กตาที่พบเห็น
    • จับนิ้วมือคุณพ่อคุณแม่ ของเล่น หรือสิ่งของรอบตัวและกำไว้ในมือ

    ทารกอายุ 4-6 เดือน

    ทารกอาจเริ่มมีการเรียนรู้มากขึ้น หากคุณพ่อคุณแม่มีการกระตุ้นพัฒนาการและการเจริญเติบโตของทารกอย่างสม่ำเสมอด้วยการพูดคุยบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ทารกเริ่มจดจำ เลียนแบบ และตอบสนอง

    • ทารกอาจเปล่งเสียงหัวเราะ หรือพูดภาษาอ้อแอ้ ส่งเสียงดัง
    • มีการควบคุมศีรษะได้ดี เริ่มยกศีรษะได้นานขึ้นกว่าเดิม
    • เริ่มมีการเคลื่อนไหวด้วยการพลิกคว่ำหรือหงายตัวไปมา
    • เอื้อมมือออกไปหยิบสิ่งของต่าง ๆ และอาจสลับมือถือสิ่งของนั้น ๆ ด้วยตัวเอง

    ทารกอายุ 7-9 เดือน

    วัยนี้เป็นช่วงที่ใกล้เข้าสู่วัยหัดเดิน ซึ่งทารกอาจเริ่มเจริญเติบโตมากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

    • เริ่มหัดยกแขนขึ้น ดันพื้นให้หน้าอกห่างจากพื้นเพื่อเตรียมคลาน บางคนอาจเริ่มคลาน หรือพยายามหาที่ยึดจับเพื่อเริ่มปีนป่าย
    • ปรบมือเมื่อรู้สึกชอบใจ มีความสุข ได้กินนมหรือขนม
    • พูดคุยเยอะขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพบเห็นสิ่งที่คุ้นเคย หรือได้ยินเสียงหรือคำที่คุ้นเคย แต่อาจยังออกเสียงไม่ชัดถ้อยชัดคำ
    • เริ่มทรงตัวและนั่งตัวตรงได้เองโดยไม่ต้องมีคนช่วย

    ทารกอายุ 10-12 เดือน

    เป็นช่วงสุดท้ายของขวบปีแรกก่อนที่ทารกจะมีอายุครบ 1 ปีเต็ม ซึ่งพัฒนาการของทารกในช่วงวัยนี้อาจมีดังต่อไปนี้

    • ทารกเริ่มกินอาหารได้เอง และเริ่มที่จะสามารถหยิบจับช้อน ส้อม หรืออาหารเองได้
    • เริ่มคลานเร็วขึ้น หรืออาจเริ่มพยุงตัวลุกขึ้นยืนด้วยการจับสิ่งของใกล้ตัว และค่อย ๆ เดิน
    • อาจเริ่มพูดได้ 1-3 คำ และอาจสามารถสื่อสารหรือเรียกพ่อแม่ได้ชัดเจนมากขึ้น
    • ใช้นิ้วชี้ไปตามจุดต่าง ๆ ที่สนใจ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่
    • เลียนแบบสิ่งที่เคยเห็น หรือแสดงบทบาทสมมุติ เช่น การหยิบจับของเล่นขึ้นมาเป็นโทรศัพท์และแกล้งคุยโทรศัพท์
    • อาจให้ความร่วมมือในการแต่งตัวได้มากขึ้น เช่น ยกแขนขาขึ้นเพื่อเตรียมใส่เสื้อผ้า

    วิธีดูแลทารกช่วงขวบปีแรก

    วิธีดูแลทารกช่วงขวบปีแรก อาจทำได้ดังนี้

    • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสทารก เนื่องจากทารกแรกเกิดยังมีระบบภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์ เสี่ยงติดเชื้อง่าย
    • ขณะอุ้มทารก ควรประคองศีรษะและต้นคอของทารก เพราะกระดูกคอของทารกยังไม่แข็งแรง
    • ไม่ควรเล่นกับทารกอย่างรุนแรง เช่น การอุ้มโยน เขย่าทารก เพราะอาจส่งผลให้ทารกมีเลือดออกในสมอง และเสียชีวิตได้ ควรเปลี่ยนเป็นการนวดสัมผัสบนผิวของทารก เขย่าเท้าของทารก เป่าแก้ม เป่าท้องทารกอย่างเบา ๆ แทน
    • ให้ทารกกินนมแม่ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เป็นเวลา 10-15 นาที หรือหากเป็นนมผง ควรให้ทารกกินนมครั้งละ 2-3 ออนซ์
    • ควรทำให้ทารกเรอหลังดื่มนม โดยการอุ้มทารกพาดไหล่ ประคองศีรษะ ลำคอ จากนั้นใช้มืออีกข้างตบหลังทารกเบา ๆ เพื่อไล่แก๊สหรืออากาศที่เข้าไปในท้องระหว่างดูดนม ป้องกันทารกอาเจียน ท้องอืด จุกเสียด หรือกรดไหลย้อน
    • เพิ่มความผ่อนคลายให้ทารกด้วยการนวดลำตัว แขน ขา หรืออาจอุ้มทารก พูดคุย เปิดเพลงให้ทารกฟัง
    • ห่อตัวทารก เพื่อเพิ่มความอบอุ่นและทำให้ทารกรู้สึกปลอดภัย หรือสบายใจขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการห่อตัวทารกที่อายุ 2 เดือนขึ้นไป เพราะทารกจะเริ่มพลิกตัว การห่อตัวจึงเป็นการปิดกั้นพัฒนาการและอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ทารกหายใจไม่ออกและเสียชีวิตกะทันหันได้
    • ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารกทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หรือเมื่อมีการอุจจาระหรือปัสสาวะ เพื่อป้องกันการหมักหมมสิ่งสกปรกและความชื้น จนอาจส่งผลให้เกิดผื่นผ้าอ้อม หรือติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และควรทำความสะอาดอวัยวะเพศและก้นของทารกให้สะอาดก่อนใส่ผ้าอ้อมทุกครั้ง
    • ควรให้ทารกนอนหลับอย่างเพียงพอ ปกติแล้วทารกมักใช้เวลานอนมากกว่า 16 ชั่วโมง แต่อาจสะดุ้งตื่นทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงเมื่อรู้สึกหิว เนื่องจากกระเพาะอาหารของทารกมีขนาดเล็กและย่อยเร็ว จึงอาจทำให้ทารกหิวบ่อย แต่ไม่ควรให้ทารกนอนในช่วงกลางวันมากเกินไป เพราะอาจทำให้ทารกนอนไม่หลับในตอนกลางคืน หรือสะดุ้งตื่นกลางดึก
    • เปลี่ยนท่านอนให้ทารกบ้าง เช่น ให้ทารกนอนตะแคงซ้ายขวาสลับกันไป เพื่อป้องกันศีรษะไม่สมส่วน เนื่องจากกระดูกของทารกอาจไม่แข็งแรง ดังนั้น การนอนท่าใดท่าหนึ่งติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้ศีรษะด้านใดด้านหนึ่งแบนราบ
    • อาบน้ำอุ่นให้ทารก ควรทดสอบอุณหภูมิน้ำ ก่อนนำทารกลงไปในอ่าง ไม่ให้น้ำร้อนเกินไป น้ำในอ่างไม่ควรลึกเกิน 2-3 นิ้ว ระหว่างอาบน้ำให้ทารกควรประคองลำตัวและศีรษะทารกตลอด และควรอาบน้ำให้ทารกวันละครั้ง  หากทารกมีปัญหาเรื่องผิวแห้งให้อาบน้ำเปล่าไม่ต้องฟอกสบู่
    • พูดคุยกับทารก เปิดเพลง อ่านหนังสือให้ทารกฟังบ่อย ๆ เพื่อพัฒนาสมองด้านการเรียนรู้ และการจดจำ
    • สำหรับทารกที่สายสะดือยังไม่หลุด คุณแม่ควรใช้ฟองน้ำค่อย ๆ เช็ดตัวให้ทารก โดยให้สายสะดือเปียกน้ำน้อยที่สุดจนกว่าสายสะดือหลุดออกไปเอง จึงจะสามารถอาบน้ำทารกในอ่างอาบน้ำได้ อีกทั้งยังควรดูแลสายสะดือทารกด้วยการเช็ดทำความสะอาดให้แห้งอยู่เสมอ จนกว่าสายสะดือทารกจะหลุดออก หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าสะดือทารกมีสีแดง กลิ่นเหม็น และหนองไหล ควรปรึกษาคุณหมอทันที

    อาการผิดปกติในทารกที่ควรพบคุณหมอ

    อาการผิดปกติในทารกที่ควรพบคุณหมอ ได้แก่

    • ทารกมีไข้สูง 38 องศา เป็นเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
    • ร้องไห้ไม่หยุด ร้องไห้เป็นเวลานาน และบ่อยครั้ง
    • อาเจียน ท้องร่วง อาจเป็นสัญญาณเตือนการติดเชื้อ
    • ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งอาจสังเกตจากทารกปากแห้ง ริมฝีปากแตก ปัสสาวะมีสีเข้ม และปัสสาวะน้อยกว่าปกติ เปลี่ยนผ้าอ้อมน้อยกว่า 6 ผืน/วัน
    • มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หายใจไม่ออกหรือหากทารกติดเชื้อในทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด มีน้ำมูกสีใสจนถึงสีเขียวเข้ม ร่วมกับมีไข้ เป็นเวลานานกว่า 3 วัน
    • ริมฝีปากสีม่วง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าออกซิเจนในร่างกายของทารกต่ำ
    • ผื่นขึ้นตามลำตัวและใบหน้านานกว่า 2-3 วัน
    • ตื่นยาก ปลุกไม่ค่อยตื่น
    • มีอาการชัก
    • ปัสสาวะมีเลือดปน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา