backup og meta

ให้นมลูก นานเกิน 1 ปี มีประโยชน์อย่างไรบ้าง

ให้นมลูก นานเกิน 1 ปี มีประโยชน์อย่างไรบ้าง

คำแนะนำเกี่ยวกับการ ให้นมลูก โดยทั่วไปคือ ทารกควรได้รับน้ำนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ทำให้คุณแม่หลายคนอาจหยุดให้นมลูกเมื่อครบ 6 เดือน แต่องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟได้ให้คำแนะนำว่า ควรให้ลูกกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนอายุครบ 2 ปี เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการและการเจริญเติบโตอย่างเต็มเปี่ยม นอกจากนี้ ยังอาจสามารถช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของลูก และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้อีกด้วย

[embed-health-tool-bmi]

ให้นมลูก นานแค่ไหนจึงจะดี

นมแม่ได้รับการรับรองว่าเป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุดในการเลี้ยงทารก โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า การให้นมลูกควรเริ่มต้นตั้งแต่ชั่วโมงแรกของชีวิต และต่อเนื่องไปจนถึงหกเดือน โดยให้นมแม่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องเพิ่มอาหารเสริมใดๆ และหลังจากหกเดือนจึงค่อยเพิ่มอาหารเสริมที่เหมาะกับวัยเข้ามา

อย่างไรก็ตามนี่ไม่ได้หมายความว่า แม่ควรหยุดให้นมลูกเมื่ออายุ 6 เดือน แต่ยังควรให้นมลูกต่อเนื่องไปยาวนานกว่านั้น โดยองค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ ให้คำแนะนำตรงกันว่า แม่ควรจะให้นมลูกต่อเนื่องไปจนถึงสองปีหรือมากกว่านั้น

องค์กรด้านสุขภาพหลายองค์กรในสหรัฐฯ ก็ให้คำแนะนำที่บ่งชี้ไปถึงประโยชน์ของการให้นมแม่นานกว่าหกเดือนแทบทั้งสิ้น อย่างเช่นสมาคมกุมารแพทย์สหรัฐฯ แนะนำว่า ควรให้นมแม่ต่อเนื่องไปจนอย่างน้อยในขวบปีแรกของเด็ก และนานกว่านั้นตราบเท่าที่ต้องการ การเพิ่มระยะเวลาของการให้นมแม่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็ก และต่อสุขภาพของทั้งเด็กและแม่อย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่มีขีดจำกัดของระยะเวลาในการให้นมแม้ และไม่มีหลักฐานว่ามีอันตรายทางจิตใจใดๆ เกิดขึ้นจากการให้นมแม่จนถึงสามขวบหรือนานกว่านั้น

สมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวสหรัฐฯ ก็ให้คำแนะนำเช่นกันว่า ควรให้นมลูกตลอดขวบปีแรก และยังชี้ว่าช่วงเวลาการหย่านมตามธรรมชาตินั้น อยู่ระหว่างอายุสองถึงเจ็ดปี

ความเข้าใจผิดเรื่องคุณค่าของนมแม่หลังขวบปีแรก

การที่แม่หลายคนหยุดให้นมลูกหลังจากหกเดือน ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่แม่ต้องกลับไปทำงาน และไม่สะดวกต่อการให้นมลูก อย่างไรก็ตาม เทคนิคการปั๊มนมแม่เพื่อเก็บไว้ให้ลูกกิน สามารถช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ กระนั้นก็ตาม สิ่งที่เป็นอุปสรรคมากกว่า อาจจะมาจากความเชื่อที่ว่า หลังจากหกเดือน คุณค่าอาหารของนมแม่จะเริ่มลดลง และหลังจากหนึ่งปีเป็นต้นไป นมแม่ก็จะไม่มีประโยชน์ต่อเด็กเท่ากับการกินอาหารหรือนมอย่างอื่น

การศึกษาหลายชิ้นในสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นความเชื่อที่ผิดอย่างมหันต์ โดยการศึกษาชิ้นหนี่งเมื่อปี 2005 ระบุว่า นมแม่ในช่วงเวลาที่นานเกินหนึ่งปีขึ้นไปนั้น มีไขมันและสารให้พลังงานเพิ่มมากขึ้น ส่วนการศึกษาในปี 2001 ชี้ว่า นมแม่ยังคงให้สารอาหารหลักที่จำเป็นในปริมาณสูง แม้จะเลยปีแรกไปแล้ว โดยเฉพาะโปรตีน ไขมัน และวิตามินจำนวนมาก รวมทั้งปัจจัยในการสร้างภูมิคุ้มกันก็เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงปีที่สอง และในระหว่างการหย่านมแม่

ให้นมลูก นานเกิน 1 ปี มีประโยชน์อย่างไร

ไม่เพียงแต่การศึกษาที่ยืนยันถึงคุณค่าของนมแม่ ซึ่งไม่ได้ลดน้อยลงแต่อย่างใดในขวบปีต่อมา ยังมีการศึกษาอีกหลายชิ้นที่พบว่า เด็กอายุที่ยังกินนมแม่จนหนึ่งถึงสามขวบ เจ็บป่วยน้อยกว่า หรือป่วยในระยะสั้นกว่า และมีอัตราการตายต่ำกว่า โดยองค์การอนามัยโลกยืนยันถึงความสำคัญของการให้นมแม่ ในการรักษาและป้องกันการเจ็บป่วยในเด็ก และประกาศว่าการเพิ่มขึ้นของการให้นมแม่เพียงแค่เล็กน้อย ก็สามารถป้องกันการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบ ได้เพิ่มมากขึ้นถึง 10%

ประโยชน์ของการให้นมแม่นานขึ้น ยังมีมากกว่าแค่เรื่องร่างกาย งานวิจัยชี้ว่ายิ่งเด็กกินนมแม่นานแค่ไหน ก็จะยิ่งมีพัฒนาการในเรื่องการรับรู้และความจำดีขึ้น (เมื่อวัดจากไอคิวและคะแนนในการเรียนในช่วงวัยต่อมา) การศึกษาชิ้นอื่นๆ ก็ชี้ว่า เด็กที่กินนมแม่นานกว่า มีพัฒนาการทางสังคมที่ดี และมีอัตราของการเกิดปัญหาสุขภาพจิตต่ำกว่า ทั้งในช่วงวัยเด็ก จนถึงวัยผู้ใหญ่

สมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวสหรัฐฯ ระบุว่า การให้นมแม่ต่อเนื่องให้การปกป้องทางภูมิคุ้มกันแก่เด็ก การปรับตัวทางสังคมที่ดีกว่า เป็นแหล่งอาหารที่ดีของเด็ก และช่วยแม่ในการลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ อย่างเช่นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งเยื่อบุมดลูก โรคกระดูกพรุน โรคข้อรูมาตอยด์ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานชนิดที่สอง

การให้นมแม่ยังเป็นการคุมกำเนิดตามธรรมชาติ เพราะจะทำให้แม่กลับสู่วัยเจริญพันธุ์ช้าลง นอกจากนี้แล้ว หากคุณแม่กังวลเรื่องน้ำหนักหลังคลอด การศึกษาก็ชี้ว่าแม่ที่ให้นมลูกสามารถลดน้ำหนักได้ง่ายกว่า และนี่ก็ยังไม่ได้พูดถึงข้อดีที่ว่า การให้นมแม่นั้นเป็นวิธีการที่ประหยัดที่สุดในการเลี้ยงดูบุตร

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What are the benefits of breastfeeding more than a year?. https://www.breastfeedingbasics.com/qa/nursing-beyond-the-first-year. Accessed on November 30, 2018.

Breast-feeding beyond infancy: What you need to know. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/infant-and-toddler-health/in-depth/extended-breastfeeding/art-20046962. Accessed on November 30, 2018.

Breastfeeding Report Card / Accessed on November 30, 2018.

https://www.cdc.gov/breastfeeding/pdf/2013breastfeedingreportcard.pdf

Breastfeeding / Accessed on November 30, 2018.

https://www.who.int/topics/breastfeeding/en/

Prolonged breastfeeding for 24 months or more and mental health at 6 years of age: evidence from the 2004 Pelotas Birth Cohort Study, Brazil / Accessed on November 30, 2018.

https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/camh.12224

Extended Breastfeeding / Accessed on November 30, 2018.

https://www.health-foundations.com/blog/2014/07/08/extended-breastfeeding

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/11/2022

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

หน้าอก เสียทรงเพราะให้นมลูกจริงหรือ

ฝึกลูก หย่านมแม่ อย่างไรให้ถูกวิธีและได้ผล


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 23/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา