backup og meta

ฉี่รดที่นอน ในเด็ก สาเหตุและวิธีแก้ปัญหา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 26/01/2022

    ฉี่รดที่นอน ในเด็ก สาเหตุและวิธีแก้ปัญหา

    ฉี่รดที่นอน อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ การฉี่รดที่นอนในเด็กเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโต แต่หากไม่เลิกฉี่รดที่นอนอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจ สาเหตุฉี่รดที่นอนอาจเกิดจากกรรมพันธ์ุ และปัจจัยอื่นประกอบด้วย จำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจเพื่อรับมือกับปัญหานี้

    ฉี่รดที่นอน เกิดจากอะไร

    โดยปกติแล้ว เด็กสามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้เองตามธรรมชาติเมื่อโตขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องอายุ กรรมพันธ์ สภาพแวดล้อม เด็กผู้ชายอาจฉี่รดที่นอนในบางคืนมากกว่าเด็กผู้หญิงถึง 2 เท่า แต่หลังจากอายุ 5 ขวบเป็นต้นไป ประมาณร้อยละ 15 ของเด็กยังคงฉี่รดที่นอน และเมื่ออายุ 10 ขวบ ประมาณร้อยละ 95 มักเลิกฉี่รดที่นอน

    ฉี่รดที่นอน มักสร้างปัญหาให้ทุกคนในครอบครัว ไม่เพียงแต่ต้องทำความสะอาดที่นอนบ่อย ๆ แต่ยังอาจสร้างความกังวลใจให้พ่อแม่และเด็กด้วย ทั้งที่จริงแล้ว การฉี่รดที่นอนเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโต ควรทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการฉี่รดที่นอน

    สาเหตุที่ทำให้เด็กฉี่รดที่นอน

    สาเหตุของการฉี่รดที่นอนอาจเกิดได้จากกรรมพันธ์ุ โดยเด็ก 3 ใน 4 คนมักมีคุณพ่อคุณแม่หรือญาติใกล้ชิดที่ฉี่รดที่นอนเหมือนกันในวัยเด็ก โดยนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า เกิดจากยีนบางตัวที่ทำให้ความสามารถในการควบคุมกระเพาะปัสสาวะล่าช้าออกไป นอกเหนือจากกรรมพันธุ์แล้ว อาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยที่ทำให้เด็กฉี่รดที่นอน ได้แก่

    • มีปัสสาวะมากกว่าที่กระเพาะปัสสาวะจะรับได้
    • กระเพาะปัสสาวะมีปัญหา บีบตัวไวเกินไป ทำให้ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้
    • นอนหลับลึก เด็กจึงไม่รับรู้สัญญาณที่ร่างกายบอกว่า กระเพาะปัสสาวะเต็ม หรือถึงเวลาต้องไปปัสสาวะ
    • ท้องผูกเป็นประจำ หากลำไส้ไม่ได้ขับถ่าย และมีของเสียค้างอยู่จะส่งผลต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ
    • กระเพาะปัสสาวะเจริญเติบโตเต็มที่ช้ากว่าคนอื่น จะทำให้สมองกับกระเพาะปัสสาวะทำงานร่วมกันได้ไม่เต็มที่ จึงไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะขณะหลับได้
    • มีฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Anti-Diuretic Hormone-ADH) ต่ำ และเมื่อฮอร์โมนนี้ถูกหลั่งออกมาน้อยลง ไตจะขับปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น

    นอกจากนั้น ฉี่รถที่นอนอาจมีสาเหตุจากอาการโรคต่าง ๆ เช่น โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคเบาหวานชนิดที่ 1  ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ปัญหาเกี่ยวกับไขสันหลัง หรือมีความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ และทางเดินปัสสาวะ ในเด็กบางรายแม้ว่าจะเลิกฉี่รดที่นอนไปแล้วแต่กลับมาฉี่รดที่นอนอีกครั้ง อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ หรืออาจเป็นสัญญาณของความเครียดทางจิตใจบางอย่าง เช่น การหย่าร้างของคุณพ่อคุณแม่ การถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน การมีพี่น้องคนใหม่ ในบางกรณี เด็กที่อายุ 6 ขวบขึ้นไปแต่ยังปัสสาวะรดที่นอนอยู่ อาจเกิดจากอาการปัสสาวะขณะหลับตั้งแต่เด็ก (Primary Nocturnal Enuresis) แต่ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษากับหมอเด็กเพื่อการวินิจฉัยโรคต่อไป

    วิธีแก้ปัญหาลูกฉี่รดที่นอน

    วิธีแก้ปัญหาลูกฉี่รดที่นอนอันดับแรก อย่าตำหนิ ดุ หรือแสดงความไม่พอใจ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกไม่สบายใจ หากลูกเครียดหรือรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอาย คุณพ่อคุณแม่อาจอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า การฉี่รดที่นอนของเด็ก ๆ ในวัยนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เพียงเขาคนเดียวที่ฉี่รดที่นอน นอกจากนี้อาจใช้วิธีอื่น ๆ ด้วยเช่น

    • บอกให้ลูกฉี่ก่อนนอน
    • อย่าให้ลูกดื่มน้ำมากจนเกินไปในช่วงก่อนนอน
    • ให้ลูกออกกำลังกายแบบยืดกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยให้กระเพาะปัสสาวะแข็งแรง
    • ใช้เครื่องเตือนการฉี่รดที่นอน โดยเครื่องจะส่งเสียงเตือนเมื่อตรวจจับปัสสาวะได้ และส่งเสียงให้เด็กลุกขึ้นมาฉี่
    • การใช้ยา เช่น เดสโมเพรสซิน (Desmopressin) ที่ช่วยลดการสร้างปัสสาวะ แต่การใช้ยาก็อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ หน้าแดง คลื่นไส้ และยามักจะเป็นการควบคุมอาการมากกว่าแก้ปัญหา เมื่อหยุดใช้ยาก็อาจฉี่รดที่นอนได้อีก ดังนั้น หากเกิดความวิตกกังวลควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ไข

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 26/01/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา