ลูกโดนเพื่อนนินทา เป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลยหรือมองข้ามเด็ดขาด เพราะแม้ว่าลูกน้อยอาจจะหลีกเลี่ยงการจับกลุ่ม หรือเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน มากแค่ไหน แต่ก็ไม่อาจพ้นจากการถูกนินทาได้ ดังนั้น เมื่อลูกน้อยเข้ามาปรึกษาว่าโดนเพื่อนนินทา คุณพ่อคุณแม่ควรรับฟังอย่างตั้งใจและพยายามทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ควรตำหนิหรือซ้ำเติมเพราะอาจยิ่งทำให้ลูกรู้สึกเจ็บปวดและควรทางออกร่วมกันกับลูก อย่าปล่อยให้ลูกรู้สึกโดดเดี่ยว นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหาวิธีช่วยเหลืออย่างถูกต้องและเหมาะสมในการรับมือเมื่อลูกโดนเพื่อนนินทา
วิธีรับมือ เมื่อ ลูกโดนเพื่อนนินทา
การนินทานั้นมักจะเกิดขึ้นเมื่อเด็ก ๆ เริ่มโตขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ไม่ว่าจะตั้งใจเรียน เป็นเด็กดี หรือมีนิสัยอย่างไรก็ตาม ยากที่จะหลีกเลี่ยงการโดนนินทา เมื่อ ลูกโดนเพื่อนนินทา คุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องทำให้ลูกรู้สึกว่ามีคนคอยช่วยเหลือและอยู่ข้าง ๆ เสมอ รวมทั้งควรอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงความจริงข้อที่ว่า ไม่มีใครสามารถหลีกพ้นการโดนนินทาไปได้ ทั้งนี้ วิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกน้อยรับมือเมื่อโดนเพื่อนนินทานั้น อาจปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
หลีกเลี่ยงการอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่ชอบนินทา
เมื่อโดนเพื่อนนินทา เด็ก ๆ ย่อมรู้สึกเจ็บปวดและเสียใจ คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามช่วยให้ลูกน้อยหันไปสนใจเรื่องอื่นแทน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมภายนอกหรือวางแผนการเดินทางของครอบครัว เพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการถูกนินทา
นอกจากนี้ วิธีการที่ดีคือ ให้ลูกน้อยหลีกเลี่ยงจากการใช้โซเชียลมีเดียสักระยะหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากโซเชียลมีเดียนั้นเป็นแหล่งกระจายข่าวลือของเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน แม้จะเป็นเรื่องยากเพราะเด็ก ๆ มักต้องการรู้ว่าคนอื่นกำลังพูดอะไรเกี่ยวกับตนเองบ้าง แต่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า บางครั้งอาจจะเป็นการดีกว่าที่จะไม่สนใจคำนินทาและควรใช้เวลาอยู่กับกิจกรรมที่ทำให้มีความสุขมากกว่า
สังเกตพฤติกรรมลูกอย่างใกล้ชิด
เด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถรอให้การนินทาเงียบสงบไปเองได้ แม้แต่ข่าวลือเล็ก ๆ น้อย ๆ และการเรียกชื่อก็อาจส่งผลร่ายแรงต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ของเด็ก ๆ ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตอาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความเครียด หรือไม่ปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียวเพราะในบางรายอาจรู้สึกเจ็บปวดหรือเสียใจอย่างรุนแรงจนถึงขั้นมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายได้
โดยอาจสังเกตสัญญาณเตือนบางอย่าง เช่น ความผิดปกติในการรับประทานอาหาร การทำร้ายตัวเอง ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic Stress Disorder หรือ PTSD) หากสังเกตเห็นว่าลูกน้อยมีอาการผิดปกติไปจากที่เคย ไม่สามารถหันเหความสนใจหรือดึงตัวเองออกจากเรื่องที่โดนนินทาได้ ควรรีบพาลูกน้อยไปเข้ารับคำปรึกษาจากคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งพยายามรับฟัง ให้กำลังใจ และแสดงออกให้ลูกน้อยรู้ว่ามีคุณพ่อคุณแม่อยู่เคียงข้างเสมอ
นอกจากนั้น อาจฝากฝังคุณครูหรือเพื่อนสนิทของลูกให้ช่วยสังเกต เพราะเมื่ออยู่บ้านลูกน้อยอาจจะดูสบายดี แต่เมื่อไปโรงเรียนอาจเปลี่ยนเป็นคนละคน
หลีกเลี่ยงการแก้แค้น
เมื่อลูกโดนนินทา บางครั้ง เด็ก ๆ หลายคนพยายามตอบสนองต่อคนที่นินทาด้วยการแสดงออกถึงอารมณ์เสียอหรือแสดงปฏิกิริยาที่รุนแรง หรือแม้กระทั่งต้องการทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเจ็บปวดหรือเสียหายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
คุณพ่อคุณแม่ควรดึงความสนใจให้ลูกน้อยไม่จดจ่ออยู่กับเรื่องนี้ โดยเฉพาะหากลูกน้อยดูมีท่าทีต้องการแก้แค้นหรือตอบโต้ด้วยความรุนแรง อาจพูดคุยให้ลูกน้อยทราบถึงผลเสียที่ตามมาหากลูกมีพฤติกรรมรุนแรง
บันทึกหลักฐานจากโลกออนไลน์
หากลูกโดนนินทาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกใช้วิธีเก็บสำเนาหลักฐานเอาไว้ จากนั้นรายงานข้อมูลไปยังโรงเรียนที่ลูกเรียนอยู่ เพื่อเป็นหลักฐานให้ผู้ที่มีอำนาจสามารถกำหนดบทลงโทษหรือว่ากล่าวตักเตือนอย่างเหมาะสม
เรียนรู้จากการโดนเพื่อนนินทา
พูดคุยและสอบถามลูก รวมทั้งชี้แนะให้เห็นถึงประสบการณ์จากการโดนนินทาและข่าวลือ รวมทั้งข้อเสียของการใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ผิด เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้จากการกระทำของผู้อื่น ตัวอย่างที่ไม่ดีที่ไม่ควรทำตาม รวมทั้งชี้ให้เห็นว่า การถูกเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเท่าไหร่ คนอื่น ๆ จะมีข้อมูลในการโจมตีมากเท่านั้น เพื่อให้ลูกน้อยรู้จักระวังตัวและรู้จักเลือกเพื่อนที่จะมอบความไว้วางใจ
[embed-health-tool-vaccination-tool]