backup og meta

โรคดักแด้ ในเด็ก อาการ สาเหตุ วิธีดูแล

โรคดักแด้ ในเด็ก อาการ สาเหตุ วิธีดูแล

โรคดักแด้ คือ ความผิดปกติทางผิวหนังที่ทำให้ผิวบอบบาง เป็นแผลง่าย ในเด็กที่มีอาการรุนแรง อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กที่เป็นโรคดักแด้ด้วยวิธีการที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาอาการ และทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายขึ้น เช่น การให้เด็กรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก การให้ทาโลชั่นเป็นประจำ

[embed-health-tool-vaccination-tool]

โรคดักแด้ คืออะไร

โรคดักแด้ (Epidermolysis Bullosa) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้ค่อนข้างยาก ทำให้ผู้ป่วยมีผิวหนังบอบบางจนฉีกขาดได้ง่าย หรือเกิดแผลพุพองเมื่อถูกสัมผัสเพียงเล็กน้อย โดยเด็กแรกเกิดที่เป็นโรคดักแก้มักถูกเรียกว่า เด็กผีเสื้อ เนื่องจากมีผิวที่เปราะบางเหมือนผีเสื้อ สำหรับเด็กที่มีอาการไม่รุนแรงมาอาจดีขึ้นได้เอง ส่วนผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจรู้สึกเจ็บปวด ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา หรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หากเด็กมีอาการดังกล่าวข้างต้นนี้ ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทั้งนี้ โรคดักแด้แบ่งตามชั้นผิวหนังที่เกิดโรคออกเป็น 5 ชนิด ได้แก่

  1. ตุ่มน้ำพองใสในชั้นหนังแท้ (Dystrophic Epidermolysis Bullosa หรือ DEB) เด็กที่ป่วยเป็นโรคดักแด้ชนิดนี้  จะพบอาการในชั้นหนังแท้ ทำให้ผิวหนังไม่ผนึกติดกัน เนื่องจากขาดคอลลาเจนในการสมานไว้ สำหรับบางราย โรคดังกล่าวอาจไม่แสดงอาการออกมาจนเข้าสู่ช่วงวัยเด็ก
  2. ตุ่มน้ำพองใสระหว่างชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ (Junctional Epidermolysis Bullosa หรือ JEB) ผู้ป่วยโรคดักแด้ชนิดนี้จัดว่าเป็นชนิดที่ร้ายแรงที่สุด ทำให้เกิดการพองตัวในชั้นลึกของผิวหนัง
  3. ตุ่มน้ำพองใสในชั้นหนังกำพร้า (Epidermolysis Bullosa Simplex หรือ EBS) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในทารกแรกเกิด ส่วนใหญ่จะพบตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า
  4. ตุ่มน้ำพองใสแบบ Epidermolysis Bullosa Acquisita ผู้ป่วยจะมีแผลหรือตุ่มพองบริเวณมือและเท้า โดยโรคชนิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเด็ก และไม่ใช่โรคที่เกิดจากทางพันธุกรรม
  5. ตุ่มน้ำพองใสแบบ Kindler Syndrome ผู้ที่ป่วยเป็นโรคดักแด้ชนิดนี้จะมีสีผิวเปลี่ยนไปเมื่อโดนแสงแดด เนื่องจากเกิดแผลในชั้นผิวที่แตกต่างกัน ทำให้มีอาการของโรคหลายอย่าง

สาเหตุของโรคดักแด้

สาเหตุของโรคดักแด้ เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมบางอย่างที่ได้รับจากพ่อแม่ โดยยีนที่ได้รับถ่ายทอดเกิดการกลายพันธุ์ส่งผลให้เด็กทารกมีผิวหนังที่เปราะบาง เกิดแผลพุพองได้ง่าย

อาการของโรคดักแด้

  • มีแผลที่ผิวหนัง
  • มีแผลตุ่มพุพองภายในปากหรือคอ
  • ผมร่วง หนังศีรษะพอง
  • ผิวบอบบาง มีอาการคัน และรู้สึกเจ็บปวด
  • เล็บเปราะบาง
  • เกิดตุ่มพองภายในทางเดินอาหารและบริเวณทวารหนัก

เคล็ดลับในการดูแลเด็กที่เป็นโรคดักแด้

โรคดักแด้นั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ คุณหมอจะรักษาโดยการแนะนำยาเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น บรรเทาอาการระคายเคืองของผิว บรรเทาอาการเจ็บป่วย เป็นต้น อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกได้ด้วยตัวเอง โดยมีเคล็ดลับเพื่อป้องกันการเกิดแผลพุพองหรือปัญหาผิวหนังที่รุนแรงชนิดอื่น ๆ ตามมา ดังนี้

  • ทาโลชั่นผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นและลดแรงเสียดทาน
  • เลือกเสื้อผ้าหลวมๆ เนื้อผ้าบางเบา และไม่มีตะเข็บ สวมใส่ให้ลูก
  • อาบน้ำให้ลูก โดยใช้น้ำอุณหภูมิห้องเหมาะสมที่สุด
  • เลือกอาหารที่มี ธาตุเหล็ก หรือรับประทานอาหารเสริมวิตามิน เพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
  • หากลูกมีอาการไข้ขึ้นหรือหนาวสั่น ผิวแดงหรือมีหนองไหลออกมา ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอทันที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Epidermolysis Bullosa?. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/epidermolysis-bullosa-what-is#1. Accessed  July 25, 2022.

EPIDERMOLYSIS BULLOSA: OVERVIEW. https://www.aad.org/public/diseases/a-z/epidermolysis-bullosa-overview. Accessed  July 25, 2022.

Epidermolysis Bullosa. https://www.nhs.uk/conditions/epidermolysis-bullosa. Accessed  July 25, 2022.

Epidermolysis Bullosa. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/epidermolysis-bullosa/symptoms-causes/syc-20361062. Accessed  July 25, 2022.

Epidermolysis Bullosa. https://rarediseases.org/rare-diseases/epidermolysis-bullosa/. Accessed  July 25, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/04/2023

เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคปอมเป คืออะไร จะสังเกตอาการและรักษาได้อย่างไร

เขย่าทารก พฤติกรรมอันตรายที่ผู้ใหญ่ควรระวัง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา