backup og meta

นวดแผนไทย ดีจริงไหม? ทำไมใคร ๆ ถึงติดใจกันนัก

นวดแผนไทย ดีจริงไหม? ทำไมใคร ๆ ถึงติดใจกันนัก

นอกจากการบำบัดโรคด้วยวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น การผ่าตัด การใช้ยา การทำกายภาพบำบัด จิตบำบัด ก็ยังมีวิธีการรักษาโรคอีกแขนงหนึ่งที่เรียกว่า การแพทย์ทางเลือก หรือแพทย์แผนโบราณ ที่แตกต่างกันไปตามภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติ เช่น การฝังเข็ม ยาจีน กัวซา ซึ่งเป็นตำรับแพทย์แผนจีนโบราณที่แพร่หลายยังมาประเทศไทยด้วย หรืออย่างการนวดแผนไทยของเรา ที่โด่งดังไปไกลทั่วโลก และติดอันดับ 1 ในกิจกรรมห้ามพลาด เมื่อมาเยือนเมืองไทย Hello คุณหมอ เลยอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับการนวดแผนไทยให้ถ่องแท้ จะได้รู้ว่า นวดแผนไทย แล้ว… ดีจริงไหม จะมีข้อเสียอะไรบ้างหรือเปล่า

ทำความรู้จักกับการ นวดแผนไทย

การนวดแผนไทย หรือ การนวดแผนโบราณ (Traditional Thai Massage) เป็นศาสตร์การบำบัดโรคแขนงหนึ่งของการแพทย์แผนไทย ที่มีหลักฐานว่าเผยแพร่จากอินเดียเข้ามายังประเทศไทยพร้อมกับพระพุทธศาสนา การนวดแผนไทยจะเน้นการกด คลึง ดัด บีบ ดึง ประคบ และการอบ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพ

การนวดแผนไทย สามารถแบ่งตามวิธีการนวดได้ 2 แบบ คือ

  1. การนวดแบบราชสำนัก ซึ่งจะเน้นท่วงท่าที่สุภาพ นวดโดยใช้มือ และนิ้วมือเท่านั้น
  2. การนวดแบบเชลยศักดิ์ ซึ่งเป็นการนวดในระดับชาวบ้าน สามารถใช้อวัยวะอื่น เช่น ศอก เท้า เข่า รวมถึงใช้ท่าทางทั่วไปได้

หากแบ่งการนวดไทยตามวัตถุประสงค์ จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ การนวดบำบัดโรค ที่เน้นเพื่อรักษาหรือบำบัดโรค เช่น นวดแก้คอเคล็ด และการนวดผ่อนคลาย เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และช่วยส่งเสริมสุขภาพ

ประโยชน์ของ การนวดแผนไทย

ช่วยคลายเครียด

เวลารู้สึกเครียด ๆ ไม่ว่าจะจากการเรียน การทำงาน หรือมีปัญหาในความสัมพันธ์ เราก็ต้องหาวิธีคลายเครียด ซึ่งการนวดแผนไทย ก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีคลายเครียดสุดโปรดของใครหลายคน เทคนิคการกด บีบ คลึง ดึง ยืด ของการนวดแผนไทยจะช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายทั่วร่างกาย และช่วยให้เรารู้สึกดี กระปรี้กระเปร่าขึ้น

ผลจากศึกษาชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่เมื่อปี 2015 ชี้ว่า จากผลการประเมินความเครียดของกลุ่มตัวอย่าง ด้วยการตรวจวัดปริมาณอัลฟาอะไมเลสในน้ำลาย (sAA) ทั้งก่อนและหลังเข้ารับการนวดแผนไทย พบว่า การนวดแผนไทยทำให้ตัวบ่งชี้ถึงระดับความเครียดลดลงอย่างเห็นได้ชัด และนักวิจัยยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า การนวดแผนไทยสามารถบรรเทาความเครียดในผู้ที่มีสุขภาพดีได้มากกว่าการพักผ่อนเฉย ๆ

นวดแผนไทย ช่วยเพิ่มพลังงาน

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การนวดแผนไทยช่วยเพิ่มพลังกายให้เราได้ จากการทดลองแบบสุ่มที่ให้กลุ่มตัวอย่างที่ประสบอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เข้ารับการนวดแบบสวีดิชและการนวดแผนไทย ผลออกมาว่า การนวดแผนไทยช่วยเพิ่มพลังงานและช่วยกระตุ้นสมอง ส่วนการนวดแบบสวีดิชช่วยให้ผ่อนคลายและนอนหลับได้ดีขึ้น

ช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียน

เทคนิคการยืดเส้นประกอบกับท่านวดที่คล้ายคลึงกับการทำโยคะเวลานวดแผนโบราณ จะช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตและระบบน้ำเหลืองทั่วร่างกายของเราให้ดีขึ้น จึงทำให้เนื้อเยื่อทุกส่วนของร่างกายได้รับสารอาหารและออกซิเจนอย่างเพียงพอ ส่งผลให้เซลล์เจริญเติบโตเป็นปกติ และช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจ

อีกทั้ง งานศึกษาชิ้นหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างที่ปลายประสาทอักเสบ หรือปลายประสาทเสื่อม (Peripheral Neuropathy) จากโรคเบาหวาน พบว่า การนวดเท้าเพื่อสุขภาพในรูปแบบการนวดแผนไทย สามารถช่วยพัฒนาบาลานซ์ (Balance) หรือความสามารถในการทรงตัวของร่างกายให้ดีขึ้นได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะ การนวดเท้าช่วยกระตุ้นระบบกายสัมผัสทั่วไป (Somatosensory System) ซึ่งสำคัญต่อความสมดุลหรือบาลานซ์ของร่างกาย

ช่วยให้เคลื่อนไหวสะดวกขึ้น

เทคนิคการนวดและท่านวดที่คล้ายท่าโยคะของการนวดแผนไทย ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเครียดและพัฒนาระบบไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง แต่ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้ร่างกาย และช่วยให้น้ำในเยื่อหุ้มข้อ หรือน้ำไขข้อ (Synovial Fluid) ไหลเวียนได้สะดวกขึ้น แรงเสียดทานบริเวณข้อต่อจึงลดลง ส่งผลให้พิสัยการเคลื่อนไหว  (Range of Motion) หรือความสามารถในการเคลื่อนไหวตามแนวของข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกายเพิ่มขึ้น เรียกง่าย ๆ ว่าทำให้ข้อต่าง ๆ เคลื่อนไหวได้เต็มพิกัด เราจึงเคลื่อนไหวได้สะดวก ก้มได้สุด เงยได้สุด แกว่งแขนก็ได้เต็มที่ ไม่รู้สึกสะดุดหรือปวด

นวดแผนไทยทีไร ทำไมถึงเจ็บกล้ามเนื้อ

แม้ การนวดแผนไทย จะเป็นที่ถูกอกถูกใจใครหลาย ๆ คน แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ลองนวดแผนไทยครั้งแรกแล้วเข็ดขยาด ไม่กล้านวดอีกรอบ เพราะเจ็บจนแทบร้องขอชีวิต เลยต้องหันไปนวดผ่อนคลายรูปแบบอื่นแทน เช่น นวดน้ำมันหอมระเหย

ที่เรารู้สึกเจ็บเวลานวดแผนไทย นั่นเป็นเพราะการนวดแผนไทยมีการกด บีบ คลึง เพื่อคลายกล้ามเนื้อที่จับตัวแน่นเป็นก้อน หรือที่เรียกว่า “ปมกล้ามเนื้อ (Muscle Knot)’ จึงทำให้เรารู้สึกเจ็บในบริเวณนั้น แต่ความเจ็บปวดจากการคลายปมกล้ามเนื้อ ก็ไม่เหมือนกับอาการเจ็บปวดเมื่อนวดแรงเกินไป หรือนวดผิดท่า ฉะนั้น

ดังนั้น หากคุณรู้สึกว่าเจ็บมากจนทนไม่ไหว ควรรีบบอกให้นักนวดแผนไทย หรือหมอนวดแผนไทยทราบทันที หมอนวดจะได้ปรับความหนักเบาและท่าท่างในการนวดให้เหมาะสม คุณจะได้รู้สึกผ่อนคลาย และได้ประโยชน์จากการนวดจริง ๆ

ความเสี่ยงจาก การนวดแผนไทย และใครบ้างไม่ควรนวด

แม้การนวดแผนไทยจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่หากนวดบ่อยเกินไป นวดผิดท่า หรือลงน้ำหนักมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ หมอนวดแผนไทยที่ได้รับการรับรองจะต้องถามประวัติสุขภาพของคุณก่อนนวดให้คุณ เพราะการนวดแผนไทยอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน หากคุณมีปัญหาสุขภาพ เช่น

  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Herniated disc)
  • โรคกระดูกพรุน
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • มีรอยฟกช้ำ
  • ผิวหนังอ่อนแอหรืออักเสบ
  • ผิวหนังเป็นผื่น
  • มีแผลเปิดหรือแผลที่ยังไม่หายดี
  • มีเนื้องอก
  • มีความผิดปกติทางระบบประสาทที่ส่งผลต่อเส้นประสาทไขสันหลัง

ก็ไม่ควรเข้ารับการนวดแผนไทย หรืออาจต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาจเป็นอันตรายได้ หากแพทย์แจ้งว่านวดได้ คุณก็ต้องแจ้งสภาวะทางการแพทย์ของคุณให้หมอนวดทราบด้วย

หรือหากคุณป่วยเป็นโรคมะเร็ง อยู่ในช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัด กระดูกหักเพิ่งรักษาหาย หรือกำลังตั้งครรภ์ ก็ไม่ควรเข้ารับการนวดแผนไทยเช่นกัน โดยเฉพาะการนวดกดจุดสะท้อน หรือการนวดที่รุนแรง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือด หรือรุนแรงถึงขั้นทำให้แท้งลูกได้เลย

ก่อนไปนวดแผนไทย เตรียมตัวอย่างไรดี

  • เลือกสถานประกอบการ และหมอนวดแพทย์ไทย ที่ได้รับใบรับรองและมีใบอนุญาตอย่างถูกต้องจากสภาการแพทย์แผนไทย
  • ควรจองคิวนวดไทยล่วงหน้า เพื่อไม่ให้ไปเสียเที่ยว
  • ไม่ควรนวดในช่วงที่ไม่มีอาการเจ็บ เช่น ไข้หวัด เพราะอาจไปแพร่เชื้อใส่ผู้อื่นได้ และหากคุณมีปัญหาสุขภาพต้องแจ้งให้หมอนวดทราบด้วย
  • สวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าหลวม ๆ หรือที่ถอดเปลี่ยนได้สะดวก เพราะร้านนวดแผนไทยส่วนใหญ่ มักจะให้คุณเปลี่ยนชุดก่อนเข้ารับการนวด
  • ห้ามกินอาหารมื้อหนักก่อนนวด
  • ในระหว่างนวดแผนไทย หากคุณรู้สึกเจ็บปวด อึดอัด หรือไม่สบายจนทนไม่ไหว ควรแจ้งให้หมอนวดทราบทันที อย่าฝืนทน

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Thai Massage Technique and Benefits. https://www.verywellhealth.com/thai-massage-90010. Accessed December 11, 2019

What are the health benefits of Thai massage?. https://www.medicalnewstoday.com/articles/323687.php. Accessed December 11, 2019

Massage Therapy Side Effects. https://www.painscience.com/articles/massage-therapy-side-effects.php. Accessed December 11, 2019

Thai traditional massage: Issues causing possible adverse effects. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4728864/. Accessed December 11, 2019

Effects of Thai traditional massage to anxiety, depression and pain level of patients with myofascial pain syndrome at the Clinic of Applied Thai Traditional Medicine, Faculty of Medicine, Thammasart University. https://www.tci-thaijo.org/index.php/clmj/article/view/182045. Accessed December 11, 2019

Is Thai Massage Really Good for You? Exploring the Claims Vs. the Science. https://www.thethailandlife.com/is-thai-massage-really-good-for-you. Accessed December 11, 2019

การนวดไทย. http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=33&chap=8&page=t33-8-infodetail07.html. Accessed December 11, 2019

Traditional Thai Massage: Benefit for your health

https://blog.lumahealth.com/thai-massage

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/05/2021

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

บำบัดอาการปวดเมื่อยด้วยการ ครอบแก้ว ฉบับศาสตร์จีน

กินแบบหยินหยาง สร้างความสมดุลให้ร่างกายตามหลักแพทย์แผนจีน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 14/05/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา