Sociopath เป็นความผิดปกติทางบุคลิภาพประเภทหนึ่ง โดยคำว่าโซซิโอพาธ หมายถึง ผู้ที่มีพฤติกรรมและทัศนะคติที่ต่อต้านสังคม หรือผู้ที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) มักไม่มีมโนธรรม แปลกแยก เกลียดชัง หลีกเลี่ยงสังคม
[embed-health-tool-bmi]
Sociopath คืออะไร
โดยปกติแล้วคำว่า Sociopath มักใช้สำหรับอธิบายถึงบุคคลที่มีลักษณะไม่มีมโนธรรม แปลกแยก เกลียดชัง หลีกเลี่ยงสังคม คำว่าโซซิโอพาธ หมายถึง ผู้ที่มีพฤติกรรมและทัศนะคติที่ต่อต้านสังคม หรือผู้ที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) โดยคนเหล่านี้จะแสดงออกอย่างเห็นได้ชัดว่าไม่ชอบเข้าสังคม อยู่ร่วมกับผู้อื่นยาก ขี้เบื่อ ตลอดไปจนถึงหลอกลวงและชักจูงผู้อื่น โดยมักจะมีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมที่เลี้ยงดูมา
Sociopath นั้นอาจจะไม่ใช่คำเรียกอย่างเป็นทางการ แต่คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders หรือ DSM) ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ที่เป็นโรคโซซิโอพาธนั้นจะมีลักษณะใกล้เคียงกับผู้ที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคมที่สุดแล้ว
คนที่เป็นโรค Sociopath นั้นในบางครั้งอาจจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับคนที่เป็นไซโคพาธ (Psychopaths) แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้สองภาวะนี้แตกต่างกัน คือการที่ผู้ที่เป็นโรค Sociopath นั้นยังสามารถมีความรู้สึกผิด เห็นอกเห็นใจ และเข้าใจได้ว่าการกระทำของตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ผิด เพราะพวกเขายังคงมีกระบวนการทางสมองเป็นปกติอยู่ แต่ก็เลือกที่จะไม่สนใจอยู่ดี
จะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นโรค Sociopath
อาจเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าใครเป็น Sociopath จนกว่าจะได้ทำความคุ้นเคยกับพฤติกรรมของพวกเขา ผู้ที่เป็นโซซิโอพาธนั้นโดยปกติแล้ว มักจะมีนิสัยไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ชอบหลอกลวงหรือหลอกใช้ผู้อื่น โกหกเก่ง ไร้มนุษย์ธรรม และมักจะแสดงออกในทางก้าวร้าวหรือรุนแรงในบางครั้ง ต่อต้านสังคม เห็นต่าง แปลกแยกอย่างสุดโต่ง
นอกจากนี้ อาจสำรวจพฤติกรรมผู้ที่เป็นโซซิโอพาธได้ด้วยการแบ่งตามเกณฑ์ของคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับล่าสุด (DSM-5) ที่ทำการอธิบายถึงลักษณะของผู้ที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคมได้ดังต่อไปนี้
- ไม่สนใจกฎหมายหรือกฎระเบียบของสังคม ผู้ที่เป็น Sociopath มักจะชอบที่จะแหกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่สังคมกำหนด หรือเบียดเบียดสิทธิของผู้อื่นอย่างจงใจ
- ชอบโกหก พวกเขาอาจจะโกหกและหลอกลวงผู้อื่น เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตน
- ไม่วางแผนในระยะยาว หรือชอบที่จะกระทำการใด ๆ โดยไม่ไตร่ตรองให้ดีล่วงหน้า และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาในภายหลัง
- แสดงท่าทางหรือพฤติกรรมก้าวร้าว พวกเอาอาจจะมีแนวโน้มที่จะเกิดการขัดแย้งหรือทะเลาะกับผู้อื่นได้มากกว่า
- ไม่สนใจอันตราย ไม่ว่าจะเป็นอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้อื่น หรือตัวของเขาเองก็ตาม
- ไม่มีความรับผิดชอบ พวกเขาจะไม่สนใจหน้าที่และสิ่งที่พวกเขาต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะงานกลุ่ม พวกเขามักจะไปทำงานสาย ทำงานช้า และไม่สนใจที่จะชำระหนี้ให้ตรงเวลา
- ไม่รู้สึกผิด พวกเขาจะไม่มีความรู้สึกผิด หรือรู้สึกเห็นอกเห็นใจเวลาที่ทำผิดต่อผู้อื่น
- ยึดติดในความคิดของตัวเอง พวกเขาจะไม่สนใจที่จะฟังความคิดเห็นของผู้อื่น สนใจแต่ความคิดของตัวเองเป็นหลักเท่านั้น
ความแตกต่างระหว่าง Sociopath กับ Psychopaths
ความแตกต่างระหว่างโซซิโอพาธกับไซโคพาธนั้นอาจจะยังไม่สามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจน โดยกฏเกณฑ์ทางการแพทย์ เนื่องจากทั้งสองภาวะนี้มักจะถูกเรียกเหมารวมกันว่าเป็นคนในกลุ่มที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคมด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็มีความแตกต่างบางอย่างที่สามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจน
หนึ่งในจุดหลักที่ทำให้สามารถแยกแยะระหว่างโซซิโอพาธกับไซโคพาธได้ ก็คือสาเหตุของการเกิดภาวะทั้งสอง เนื่องจากทั้งสองภาวะนี้อาจจะมีลักษณะและอาการที่คล้ายคลึงกันมาก แต่ก็มีสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกัน โซซิโอพาธนั้นเกิดจากการเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา เป็นสิ่งที่สามารถสร้างขึ้นมาได้ ในขณะที่ไซโคพาธนั้นมักจะเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้เกิดความผิดปกติในสมองส่วนหน้า ซึ่งมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึก
นอกจากนี้ อาจแยกแยะความแตกต่างระหว่างโซซิโอพาธกับไซโคพาธได้จากพฤติกรรมการแสดงออกดังต่อไปนี้
- โซซิโอพาธจะแสดงออกอย่างชัดเจนว่าพวกเขาไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่น แต่ไซโคพาธอาจจะพยายามทำทีเป็นเหมือนว่าสนใจ
- โซซิโอพาธมักจะมีความใจร้อนและก้าวร้าวมากกว่า ในขณะที่ไซโคพาธจะใจเย็นกว่า และช่างวางแผน
- โซซิโอพาธสามารถเข้าใจและรับรู้ถึงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ เพียงแต่เลือกที่จะไม่แคร์ แต่ไซโคพาธนั้นจะไม่สามารถมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจได้เลย
- โซซิโอพาธนั้นมักจะไม่สามารถเข้าสังคมและใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ไซโคพาธสามารถทำตัวให้กลมกลืนไปกับสังคมได้