ซึมเศร้า เป็นหนึ่งในอาการของโรคซึมเศร้า และในทุกๆ วันที่เราจะต้องเจอกับเรื่องสับสนวุ่นวายมากมาย ทั้งในเรื่องชีวิตส่วนตัว หน้าที่การงาน หรือแม้แต่เรื่องราวในสื่อโซเชียล บางครั้งเราก็ต้องพบเจอกับอะไรที่เจ็บปวดหรือเศร้าโศก ซึ่งคนเราจะมีวิธีจัดการกับความเศร้าแตกต่างกันไป บางคนก็สามารถผ่านเรื่องเลวร้ายไปได้ง่ายๆ แต่สำหรับบางคน ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องเศร้าที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจจนยากที่จะสลัดออกไปได้
ถ้าเพื่อนมีอาการของโรค ซึมเศร้า เราจะรับมืออย่างไรดี
การที่มีเพื่อน คนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า ก็นับเป็นเรื่องที่ทำให้เรามีความทุกข์ได้เหมือนกัน ที่ต้องเห็นพวกเขาต้องจมอยู่กับความเศร้าโศกอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นถ้าคุณเห็นพวกเขาตกอยู่ในความมืดมน และไร้ความหวังขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็ลองหยิบยื่นความช่วยเหลือให้คนที่คุณรักด้วยวิธีพวกนี้ดูนะ
รับฟังเรื่องราว
คุณควรทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี โดยแสดงออกมาให้เขาเห็นว่าคุณพร้อมที่จะช่วยเหลือ โดยไม่ไปตัดสินเรื่องราวที่เขาพบเจอ บางครั้งการแสดงความช่วยเหลือแบบนี้ก็เป็นอะไรที่เขาอยากได้ ซึ่งถึงแม้คุณจะช่วยแก้ปัญหาให้เขาไม่ได้ แต่อย่างน้อยเขาก็รับรู้ได้ว่ามีคุณอยู่ข้างๆ และคอยให้ความช่วยเหลือเขาเสมอ การฟังเรื่องราวที่เขาระบายออกมานับว่ามีความสำคัญมาก ไม่ว่าเรื่องราวนั้นจะเล็กน้อยขนาดไหน คุณก็ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก พร้อมทั้งออกความคิดเห็นบ้างตามสมควร คุณควรทำให้เขารับรู้ได้ว่า คุณพร้อมที่จะฟังเรื่องราวของเขาเสมอ
อย่าตำหนิ
ระวังคำพูดของคุณเอาไว้ให้ดี อย่าไปตำหนิเข้าในทำนองว่า “เหลวไหลน่า” หรือ “คุณคิดแบบนั้นได้ยังไงเนี่ย” พวกเขามีเหตุผลที่จะรู้สึกอย่างนั้น ไม่ว่าเหตุผลนั้นจะฟังขึ้นสำหรับคุณหรือไม่ก็ตาม เวลาที่เขาเปิดอกคุยกับกับคุณนั้น ก็อย่าไปเล่นกับความรู้สึกของเขา ให้กำลังใจหรือปล่อยคำพูดที่ฟังแล้วรู้สึกดีออกไปจะดีกว่า
อย่าไปตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด
นี่เป็นอะไรที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเขามาก เพราะเวลาที่ใครกำลังรู้สึกท้อแท้หรือสิ้นหวัง แล้วมีใครไปตัดสินความรู้สึกเขาอีก เขาก็อาจจะรู้เหมือนว่าตัวเอง ‘ไม่ปกติ‘ ได้ การไปตัดสินอะไรเค้ามีแต่จะทำให้เรื่องเลวร้ายเข้าไปกันใหญ่ ฉะนั้นเพื่อจะทำให้เขารับรู้ได้ว่าคุณพร้อมจะยืนเคียงข้างและให้ความช่วยเหลือ คุณก็ต้องเปิดใจให้กว้างเข้าไว้ ความคิดเห็นอะไรที่ฟังดูแรงๆ ก็ควรจะเก็บเอาไว้กับคุณคนเดียว
ช่วยเขาให้อยู่ในมือผู้เชี่ยวชาญ
ไม่มีอะไรที่ต้องอับอายในการพาเขาไปพบกับผู้เชี่ยวชาญ ถ้าคุณสังเกตเห็นเพื่อนหยุดทำกิจกรรมที่เคยทำ ก็ควรเสนอแนะแนวทางนี้ให้เขาซะ เพราะนั่นคือหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับโรคซึมเศร้า เขาจำเป็นต้องเรียนรู้ในการใช้เครื่องมือในการจัดระเบียบความคิดซะใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยให้เขาเรียนรู้ว่า อะไรที่ทำให้เขาเกิดความรู้สึกอย่างนั้นขึ้นมา แล้วจะเพิกเฉยหรือจัดการกับความรู้สึกนั้นได้อย่างไร ลองพูดโน้มน้าวให้เขาลองไปพบผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์ดูนะ บางครั้งการที่ต้องไปรับการบำบัดอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น ก็อาจทำให้เพื่อนรู้สึกใจคอไม่ดีได้ แต่ที่สำคัญคือเขาจะต้องรู้ว่า เขาจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือสิ้นเรี่ยวแรงเวลาที่ต้องไปพบกับผู้เชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ก็ไม่ควรรู้สึกอับอายอะไรเวลาที่ต้องได้รับการรักษา บอกให้เขารู้ซะว่าคุณพร้อมจะให้ความช่วยเหลือเข้าทุกอย่าง เมื่อต้องไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยดูว่าเขาจะได้รับการช่วยเหลือด้วยวิธีใดได้บ้าง ซึ่งบางครั้งก็อาจจะเป็นเพราะสารเคมีในสมองขาดความสมดุล ซึ่งสามารถรักษาได้ และจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ต่างกันไป ซึ่งการรักษาทางด้านจิตใจก็ไม่ต่างจากการรักษาโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตหรอกนะ
เคลื่อนไหวร่างกายซะหน่อย
คนที่มีปัญหาในเรื่องโรคซึมเศร้า มักจะนอนอยู่บนเตียงตลอดทั้งวัน คุณสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ด้วยการชักชวนเขาทำอะไรที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย แต่ไม่ถึงกับต้องชวนเข้าไปวิ่งแข่งมาราธอนหรอกนะ (ยกเว้นว่าเขาจะเป็นนักวิ่งที่รักในการวิ่งมากๆ) กิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทำให้เขาได้เคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งแม้แต่การเดินเล่นธรรมดาๆ ก็สามารถช่วยฟื้นฟูจิตใจของเขาได้แล้ว เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมา สารเคมีที่ทำให้รู้สึกดีชนิดนี้ถูกผลิตขึ้นในสมองหรือระบบประสาทต่างๆ เพื่อช่วยต่อสู้กับความเจ็บปวดหรือความเครียด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองนั้น อาจช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าให้เขาได้
ชวนกันทำอาหาร
เวลาที่เพื่อนตกอยู่ในอาการซึมเศร้า เขาก็มักจะไม่มีความรู้สึกอยากกินอาหาร ฉะนั้นคุณก็น่าจะชวนให้เขาลุกขึ้นมาทำอาหารกินด้วยกัน โดยงานศึกษาวิจัยมีการค้นพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า สุขภาพจิตกับอาหารนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าอาหารในแบบเมดิเตอร์เรเนียน ช่วยฟื้นฟูจิตใจของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ นอกจากนี้จิตแพทย์บางคนยังใช้วิธีจัดคลาสทำอาหารหรือทำขนม เพื่อให้ผู้ป่วยเลิกครุ่นคิดอะไรทางด้านลบ และช่วยกระตุ้นการมีปฎิสัมพันธ์ทางสังคมด้วย
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด