backup og meta

ทำความเข้าใจ โรคหลายบุคลิก อาการทางจิตที่มาพร้อมความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย

ทำความเข้าใจ โรคหลายบุคลิก อาการทางจิตที่มาพร้อมความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย

หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ “โรคหลายบุคลิก” หรือเคยได้ดูภาพยนตร์ที่มีตัวละครเป็นโรคหลายบุคลิกกันมาบ้างแล้ว โรคหลายบุคลิกนี้ไม่ใช่แค่ความแฟนตาซีที่ถูกสร้างขึ้นในโลกภาพยนตร์เท่านั้น แต่เป็นโรคทางจิตที่มีอยู่จริง โรคนี้ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย และมักสร้างปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งอาจรวมถึงการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายด้วย

โรคหลายบุคลิก คืออะไร

โรคหลายบุคลิก (Multiple Personality Disorder หรือ MPD) จัดเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งในกลุ่มโรคดิสโซสิเอทีฟ (Dissociative Disorders) ปัจจุบันถูกเปลี่ยนชื่อเป็นโรคหลายอัตลักษณ์ (Dissociative Identity Disorder หรือ DID) แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังคงคุ้นเคยกับชื่อโรคหลายบุคลิกมากกว่า คำว่า “อัตลักษณ์ (Identity)” หมายถึง ผลรวมของลักษณะเฉพาะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้สิ่งนั้นเป็นที่รู้จักหรือจำได้ โดยปกติแล้ว คนเราจะมีเพียงอัตลักษณ์เดียวเท่านั้น แต่ผู้ที่เป็นโรคหลายบุคลิกหรือโรคหลายอัตลักษณ์ มักมีมากกว่าหนึ่งอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการทางจิต (mental process) ทำให้สติ ความคิด ความทรงจำ อารมณ์ความรู้สึก การกระทำ และการยอมรับอัตลักษณ์ของตนเองแยกจากกันโดยสิ้นเชิง ไม่ปะติดปะต่อกัน ผู้ป่วยโรคนี้จึงแสดงพฤติกรรมและอารมณ์ไม่ต่อเนื่องและไม่เหมือนกัน หรือมีบุคลิกภาพแตกแยก ราวกับว่ามีหลายคนอยู่ในร่างเดียว

วิธีสังเกตอาการของโรคหลายบุคลิก

สัญญาณและอาการของโรคหลายบุคลิก หรือโรคหลายอัตลักษณ์ ในผู้ใหญ่

  • รู้สึกสับสน
  • มีบุคลิกภาพ หรืออัตลักษณ์มากกว่า 2 แบบ โดยแต่ละแบบแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน และผลัดกันแสดงออกมา
  • ความทรงจำขาดหาย มีภาวะสูญเสียความจำ และต้องใช้เวลานานกว่าจะนึกข้อมูลส่วนตัว หรือเหตุการณ์ในแต่ละวันออก
  • เคยหมดสติ หรือตื่นขึ้นมาแล้วจำไม่ได้ว่าตัวเองมาอยู่ที่ตรงนี้ได้ยังไง
  • โกหกเพราะเชื่อว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องจริง แม้จะไม่ได้ใช้ยาเสพติดหรือยารักษาโรคใดๆ
  • มีของสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ในครอบครอง โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าได้มาได้ยังไง
  • คนแปลกหน้าเข้ามาทักเหมือนรู้จักกัน แต่ตัวเองนึกไม่ออกว่าไปรู้จักคนๆ นั้นตั้งแต่เมื่อไหร่
  • ถูกเรียกด้วยชื่ออื่นที่ไม่ใช่ชื่อตัวเอง
  • เจอข้อความที่มีลายมือคนอื่น ไม่ใช่ลายมือตัวเอง
  • ได้ยินเสียงในหัว แต่ไม่ใช่เสียงของตัวเอง
  • มองกระจกแล้วจำตัวเองไม่ได้
  • รู้สึกเหมือนสิ่งที่ประสบไม่ใช่เรื่องจริง หรือรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมแปลกไป ไม่คุ้นเคย (derealization)
  • มีภาวะบุคลิกวิปลาส หรือบุคลิกภาพแตกแยก (depersonalization) คือ รู้สึกเหมือนนั่งมองคนอื่นใช้ชีวิตแทนตัวเอง ตัวเองไม่สามารถควบคุมการกระทำนั้นได้

สัญญาณและอาการของโรคหลายบุคลิก หรือโรคหลายอัตลักษณ์ ในเด็ก

หากเป็นเด็ก นอกจากอาการข้างต้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตเพิ่มเติมได้จากอาการเหล่านี้

  • ไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง
  • เกิดความเครียดทางจิตใจ หรือปัญหาสุขภาพจิต เมื่อมีอะไรกระทบบาดแผลทางใจ
  • มีปฏิกิริยาตอบสนองรุนแรงต่อความทรงจำหรือเหตุการณ์สะเทือนใจ เช่น อาการชัก
  • อาหารโปรดหรือกิจกรรมโปรดเปลี่ยนไปกะทันหัน

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า โรคหลายบุคลิกในเด็ก หากปล่อยไว้ อาการจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกทั้งเด็กและผู้ใหญ่มักมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มองโลกในแง่ร้าย ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD) โรคซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน มีปัญหาในการนอนหลับ (เช่น นอนไม่หลับ ฝันร้าย ละเมอ) มีอาการวิตกกังวล มีอาการแพนิค ติดเหล้า ติดยาเสพติด เป็นโรคเกี่ยวกับการกินผิดปกติ ชอบใช้ความรุนแรง ทั้งยังมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงด้วย

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคหลายบุคลิก

ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคหลายบุคลิกนั้นเกิดจากสาเหตุใด แต่สันนิษฐานว่าโรคนี้อาจเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือบาดแผลทางใจร้ายแรงที่ผู้ป่วยประสบในวัยเด็ก เช่น ถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้ายจิตใจ ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เด็กบางคนอาจปกป้องตัวเอง ด้วยการสร้างสภาวะจิตสำนึกที่เปลี่ยนไป (Altered State of Consciousness) ขึ้นมา เพื่อแยกความทรงจำนั้นออกจากความทรงจำอื่นๆ และเมื่อปฏิกิริยาตอบสนองนี้เกิดขึ้นบ่อย หรือรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงส่งผลให้เป็นโรคหลายบุคลิก หรือโรคหลายอัตลักษณ์ได้ในที่สุด

โรคหลายบุคลิกก็เหมือนกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ นั่นคือ หากคนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคหลายบุคลิก ความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ของคุณก็จะสูงขึ้น แต่ไม่ถือเป็นโรคทางพันธุกรรม ฉะนั้น ต่อให้คนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นโรคนี้เสมอไป

โรคหลายบุคลิก รักษาได้ไหม

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับโรคหลายบุคลิก แต่หากเข้ารับการบำบัดรักษาด้วยวิธีเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง อาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้

จิตบำบัด (Psychotherapy)

เป็นวิธีการรักษาอาการทางจิตด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยให้สามารถเชื่อมโยงอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน และรวมให้เหลือเพียงอัตลักษณ์เดียวที่สามารถควบคุมสิ่งกระตุ้นได้ การรักษาโรคหลายบุคลิกด้วยวิธีจิตบำบัดส่วนใหญ่จะต้องให้สมาชิกในครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

การสะกดจิต (Hypnotherapy)

การสะกดจิตทางเวชปฏิบัติ (Clinical Hypnosis) มักใช้ร่วมกับจิตบำบัด วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงความทรงจำที่ปิดผนึกเอาไว้ ช่วยควบคุมพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และช่วยให้อัตลักษณ์ทั้งหมดรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้

การรักษาเสริม (Adjunctive therapy)

การรักษาวิธีอื่นๆ เช่น ศิลปะบำบัด การเคลื่อนไหวบำบัดหรือการเต้นบำบัด ก็ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเปิดใจยอมรับ และเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่เคยกระทบกระเทือนจิตใจ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคหลายบุคลิกภาพได้

การใช้ยา

แม้จะยังไม่มียารักษาโรคหลายบุคลิกโดยเฉพาะ แต่โรคนี้มักเกิดร่วมกับปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า แพทย์จึงอาจสั่งยาเพื่อรักษาอาการร่วมที่เกิดขึ้นให้คุณด้วย

วิธีอยู่ร่วมกับคนเป็นโรคหลายบุคลิก

รับมืออย่างใจเย็น

บางครั้งคุณอาจพบว่า คุยกับเพื่อนที่เป็นโรคหลายบุคลิกอยู่ดีๆ เพื่อนกลับกลายเป็นอีกคนที่มีบุคลิกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากเป็นเช่นนั้น คุณควรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างใจเย็น อย่าดุด่า หรือมองว่าเพื่อนเป็นตัวประหลาด เพราะจะยิ่งทำให้เขารู้สึกแย่ โดยเฉพาะเมื่อเขาอยู่ในสถาการณ์ที่น่ากลัว หรือไม่เป็นมิตร

หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น

บุคลิกภาพหรืออัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไปของผู้ที่เป็นโรคหลายบุคลิก คือ ปฏิกิริยาตอบสนองทางอารมณ์ที่รุนแรง ซึ่งเป็นผลจากสิ่งกระตุ้นบางประการ ซึ่งอาจเป็นสถานที่ กลิ่น เสียง สัมผัส ช่วงเวลา เป็นต้น คุณจึงควรหาข้อมูลให้ดีว่า สิ่งกระตุ้นอาการโรคหลายบุคลิกของเพื่อนคืออะไร โดยจะถามจากเพื่อนโดยตรง หรือสังเกตพฤติกรรมของเขาก็ได้ วิธีนี้จะช่วยให้คุณและเพื่อนสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านั้นได้

อย่าลืมดูแลตัวเองด้วย

การใช้ชีวิตอยู่กับผู้เป็นโรคหลายบุคลิกอาจทำให้คุณมีปัญหาทางอารมณ์ หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้เช่นกัน ฉะนั้นหากคุณอยากช่วยดูแลเพื่อนที่เป็นโรคหลายบุคลิก หรือช่วยให้เขาสามารถใช้ชีวิตแต่ละวันได้สะดวกขึ้น คุณก็ควรรักษาสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวเองให้ดีด้วย

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dissociative Identity Disorder (Multiple Personality Disorder). https://www.webmd.com/mental-health/dissociative-identity-disorder-multiple-personality-disorder#1. Accessed January 3, 2020

How To Help a Friend with Dissociative Identity Disorder. https://www.therecoveryvillage.com/mental-health/dissociative-identity-disorder/related/how-to-help-a-friend-with-dissociative-identity-disorder/#gref. Accessed January 3, 2020

Dissociative identity disorder (DID). https://www.sane.org/information-stories/facts-and-guides/dissociative-identity-disorder. Accessed January 3, 2020

Dissociative Identity Disorder (Multiple Personality Disorder). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/9792-dissociative-identity-disorder-multiple-personality-disorder. Accessed January 3, 2020

What is dissociative identity disorder?. https://www.medicalnewstoday.com/articles/321462.php. Accessed January 3, 2020

อัตลักษณ์ (๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๐). http://www.royin.go.th/?knowledges=อัตลักษณ์-๑๖-มิถุนายน-๒๕. Accessed January 3, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Sukollaban Khamfan


บทความที่เกี่ยวข้อง

แค่ อ่านหนังสือ ก็ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีได้

โรคชอบขโมยของ โรคทางจิตที่แปลกแต่จริง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา