สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคหลายบุคลิก
ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคหลายบุคลิกนั้นเกิดจากสาเหตุใด แต่สันนิษฐานว่าโรคนี้อาจเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือบาดแผลทางใจร้ายแรงที่ผู้ป่วยประสบในวัยเด็ก เช่น ถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้ายจิตใจ ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เด็กบางคนอาจปกป้องตัวเอง ด้วยการสร้างสภาวะจิตสำนึกที่เปลี่ยนไป (Altered State of Consciousness) ขึ้นมา เพื่อแยกความทรงจำนั้นออกจากความทรงจำอื่นๆ และเมื่อปฏิกิริยาตอบสนองนี้เกิดขึ้นบ่อย หรือรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงส่งผลให้เป็นโรคหลายบุคลิก หรือโรคหลายอัตลักษณ์ได้ในที่สุด
โรคหลายบุคลิกก็เหมือนกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ นั่นคือ หากคนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคหลายบุคลิก ความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ของคุณก็จะสูงขึ้น แต่ไม่ถือเป็นโรคทางพันธุกรรม ฉะนั้น ต่อให้คนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นโรคนี้เสมอไป
โรคหลายบุคลิก รักษาได้ไหม
ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับโรคหลายบุคลิก แต่หากเข้ารับการบำบัดรักษาด้วยวิธีเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง อาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้
จิตบำบัด (Psychotherapy)
เป็นวิธีการรักษาอาการทางจิตด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยให้สามารถเชื่อมโยงอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน และรวมให้เหลือเพียงอัตลักษณ์เดียวที่สามารถควบคุมสิ่งกระตุ้นได้ การรักษาโรคหลายบุคลิกด้วยวิธีจิตบำบัดส่วนใหญ่จะต้องให้สมาชิกในครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
การสะกดจิต (Hypnotherapy)
การสะกดจิตทางเวชปฏิบัติ (Clinical Hypnosis) มักใช้ร่วมกับจิตบำบัด วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงความทรงจำที่ปิดผนึกเอาไว้ ช่วยควบคุมพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และช่วยให้อัตลักษณ์ทั้งหมดรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้
การรักษาเสริม (Adjunctive therapy)
การรักษาวิธีอื่นๆ เช่น ศิลปะบำบัด การเคลื่อนไหวบำบัดหรือการเต้นบำบัด ก็ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเปิดใจยอมรับ และเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่เคยกระทบกระเทือนจิตใจ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคหลายบุคลิกภาพได้
การใช้ยา
แม้จะยังไม่มียารักษาโรคหลายบุคลิกโดยเฉพาะ แต่โรคนี้มักเกิดร่วมกับปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า แพทย์จึงอาจสั่งยาเพื่อรักษาอาการร่วมที่เกิดขึ้นให้คุณด้วย
วิธีอยู่ร่วมกับคนเป็นโรคหลายบุคลิก
รับมืออย่างใจเย็น
บางครั้งคุณอาจพบว่า คุยกับเพื่อนที่เป็นโรคหลายบุคลิกอยู่ดีๆ เพื่อนกลับกลายเป็นอีกคนที่มีบุคลิกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากเป็นเช่นนั้น คุณควรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างใจเย็น อย่าดุด่า หรือมองว่าเพื่อนเป็นตัวประหลาด เพราะจะยิ่งทำให้เขารู้สึกแย่ โดยเฉพาะเมื่อเขาอยู่ในสถาการณ์ที่น่ากลัว หรือไม่เป็นมิตร
หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
บุคลิกภาพหรืออัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไปของผู้ที่เป็นโรคหลายบุคลิก คือ ปฏิกิริยาตอบสนองทางอารมณ์ที่รุนแรง ซึ่งเป็นผลจากสิ่งกระตุ้นบางประการ ซึ่งอาจเป็นสถานที่ กลิ่น เสียง สัมผัส ช่วงเวลา เป็นต้น คุณจึงควรหาข้อมูลให้ดีว่า สิ่งกระตุ้นอาการโรคหลายบุคลิกของเพื่อนคืออะไร โดยจะถามจากเพื่อนโดยตรง หรือสังเกตพฤติกรรมของเขาก็ได้ วิธีนี้จะช่วยให้คุณและเพื่อนสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านั้นได้
อย่าลืมดูแลตัวเองด้วย
การใช้ชีวิตอยู่กับผู้เป็นโรคหลายบุคลิกอาจทำให้คุณมีปัญหาทางอารมณ์ หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้เช่นกัน ฉะนั้นหากคุณอยากช่วยดูแลเพื่อนที่เป็นโรคหลายบุคลิก หรือช่วยให้เขาสามารถใช้ชีวิตแต่ละวันได้สะดวกขึ้น คุณก็ควรรักษาสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวเองให้ดีด้วย
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย