backup og meta

น้ำลาย ผู้ช่วยสำคัญ ในการป้องกันฟันผุ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    น้ำลาย ผู้ช่วยสำคัญ ในการป้องกันฟันผุ

    น้ำลายนั้นเป็นส่วนประกอบหนึ่งภายในช่องปาก ที่ช่วยทำให้ปากเกิดความชุ่มชื้น และช่วยย่อยอาหาร หลายคนอาจจะไม่ชอบน้ำลาย เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่สกปรก และเต็มไปด้วยเชื้อโรค แต่จริงๆ แล้ว น้ำลาย นั้นมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะสุขภาพช่องปาก มากกว่าที่เราคิด

    น้ำลาย คืออะไร

    น้ำลาย (Saliva) หมายถึงของเหลวใสๆ ที่ผลิตขึ้นจากต่อมน้ำลายภายในช่องปาก โดยน้ำลายนั้นจะมีอยู่ 2 ประเภท คือน้ำลายที่มีลักษณะเหนียว และน้ำลายที่มีลักษณะใส

    ส่วนประกอบของน้ำลายมนุษย์ ได้แก่ น้ำ มากกว่า 99.5 เปอร์เซ็นต์ และส่วนประกอบย่อยที่เหลือคือ เยื่อบุผิว อิเล็กโทรไลท์ (Electrolytes) ต่างๆ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม และฟอสเฟส แป้ง โปรตีนชนิดต่างๆ สารต้านเชื้อแบคทีเรีย และเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหารจำพวกแป้งและไขมัน นอกจากนี้ น้ำลายยังมีส่วนประกอบของน้ำเหลืองที่มาจากเหงือกอีกด้วย

    โดยเฉลี่ยแล้ว ตามปกติร่างกายของเราจะหลั่งน้ำลายในปริมาณ 0.75 – 1.5 สิตรต่อวัน และจะมีการหลั่งน้ำลายน้อยลงในช่วงระหว่างที่เรากำลังนอนหลับ ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เรามักจะมีกลิ่นปากในตอนเช้า เนื่องจากการขาดสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียภายในน้ำลาย ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียภายในช่องปาก

    น้ำลายทำหน้าที่อะไรบ้าง

    ทำให้ช่องปากชุ่มชื้น น้ำลายจะช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ช่องปาก เช่นป้องกันไม่ให้ปากแห้ง และป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อภายในช่องปาก เช่น กระพุ้งแก้ม แห้ง และเกิดแผลได้ง่าย นอกจากนี้การกลืนน้ำลายจะช่วยป้องกันไม่ให้คอแห้งได้อีกด้วย

    ช่วยรับรสชาติ น้ำลายจะช่วยเพิ่มการทำงานของปุ่มรับรสที่อยู่บนลิ้น ทำให้สามารถรับรสชาติเวลาเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น

    ช่วยย่อยอาหาร ในน้ำลายจะมีเอนไซม์ Amylase และ Lipase ที่ทำหน้าที่ในการย่อยสารอาหารจำพวกแป้งและไขมัน ก่อนที่จะส่งต่อไปยังกระเพาะอาหาร นอกจากนี้น้ำลายยังจะช่วยทำให้อาหารนุ่มขึ้น และเคี้ยวง่ายอีกด้วย

    ฆ่าเชื้อโรค น้ำลายจะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในปาก ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นปากเนื่องจากเชื้อแบคทีเรีย และช่วยให้แผลหายไวขึ้น

    น้ำลายป้องกันฟันผุได้จริงเหรอ

    ฟันผุนั้นเกิดจากการที่เศษอาหารไปติดในซอกฟัน หรือเกิดจากการที่น้ำตาลที่พบในอาหารนั้นติดค้างอยู่ในช่องปาก ทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโต คอคคัส มิวแทนส์ (Streptococcus mutans ; S.mutans) เมื่อร่างกายทำการย่อยสลายเศษอาหารและน้ำตาลพวกนี้ ก็จะกลายเป็นกรดแลคติก (Lactic) ที่สามารถกัดกร่อนฟัน ทำให้เกิดเป็นฟันผุได้

    น้ำลายนั้นจะทำหน้าที่เป็นสารบัฟเฟอร์ เพื่อช่วยควบคุมความเป็นกรดเป็นด่างภายในช่องปาก ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คือ pH 6.2 -7.4 ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม และทำให้มีโอกาสในการเกิดฟันผุได้ยาก

    นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า น้ำลายนั้นไม่ได้ช่วยลดระดับของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุ และก็ไม่ได้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่จะกักเก็บเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ไว้ในน้ำลาย ทำให้เชื้อแบคทีเรียนั้นไม่สามารถก่อให้เกิดฟันผุขึ้นได้ เพราะเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ จะไม่สามารถเกาะติดเข้ากับพื้นผิวของฟัน และทำให้ฟันสึกกร่อนจนเกิดเป็นฟันผุได้ ดังนั้น น้ำลาย จึงสามารถช่วยป้องกันฟันผุได้อย่างแน่นอน

    จะเกิดอะไรขึ้น หากเรามีน้ำลายไม่เพียงพอ

    ในบางครั้ง ปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น การใช้ยาบางชนิด อายุที่เพิ่มขึ้น การทำเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ โรคเบาหวาน การติดเชื้อที่ต่อมน้ำลาย และปัญหาสุขภาพอื่นๆ อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อต่อมน้ำลาย และทำให้ร่างกายหลั่งน้ำลายน้อยลงได้ จนเกิดเป็นภาวะปากแห้ง ภาวะปากแห้งนี้ก็อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับช่องปาก เช่น

    • มีคราบพลัค (Plaque) และคราบหินปูน สะสมภายในปากมากขึ้น
    • ฟันผุ
    • โรคเหงือก
    • แผลในปาก
    • การรับรสชาติเปลี่ยนแปลงไป
    • เสียงแหบ
    • ติดเชื้อราในปาก
    • มีกลิ่นปาก
    • กลืนอาหารได้ลำบาก
    • ริมฝีปากแห้ง

    น้ำลายนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพของช่องปากเป็นอย่างมาก ดังนั้น หากคุณพบความผิดปกติเกี่ยวกับน้ำลาย หรือพบว่ามีการหลั่งน้ำลายน้อยลงมากกว่าปกติ คุณควรไปพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและทำการรักษาในทันที นอกจากนี้ก็ควรที่จะคอยดูแลรักษาสุขภาพของช่องปากให้สะอาดเรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาใดๆ กับช่องปากของคุณ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา