backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

การขลิบหนังหุ้มปลาย ขั้นตอน การดูแลตนเอง และความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 08/02/2023

การขลิบหนังหุ้มปลาย ขั้นตอน การดูแลตนเอง และความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ

การขลิบหนังหุ้มปลาย คือ การผ่าตัดนำหนังหุ้มปลายบริเวณองคชาตหรืออวัยวะเพศชายออก เพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาด การขลิบ อาจทำตั้งแต่แรกเกิดภายใต้ข้อกำหนดทางศาสนา หรือเหตุผลทางการแพทย์และเพื่อความสะอาด ทั้งนี้ การผ่าตัดขลิบหนังหุ้มปลาย อาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ รวมทั้งโอกาสที่หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศจะถูกขลิบจนสั้นเกินไป จำเป็นต้องระมัดระวังและปรึกษาคุณหมอถึงขั้นตอนและความปลอดภัยอย่างละเอียด

ผู้ที่ควรขลิบหนังหุ้มปลาย

การขลิบ หนังหุ้มปลาย อาจทำได้เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว เพื่อความสะอาด หรือป้องกันปัญหาสุขภาพ ทั้งนี้ อาจมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อขลิบหนังหุ้มปลายองคชาติ ได้แก่

  1. เด็กชายหรือผู้ชายที่ต้องการเลี่ยงภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ (Phimosis) หรือภาวะที่หนังหุ้มปลายหดตัวจนไม่สามารถกลับไปปิดส่วนปลายองคชาตได้
  2. บุคคลที่นับถือศาสนายูดาห์หรืออิสลาม หรือการขลิบหนังหุ้มปลายที่เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาของครอบครัว

การขลิบ มีข้อดีอย่างไร

การขลิบปลายองคชาตมีข้อดีหลายประการ ได้แก่

  • ง่ายต่อการทำความสะอาด ทำให้ช่วยกำจัดสิ่งสกปรกต่าง ๆ บริเวณอวัยวะเพศได้ง่ายขึ้น เช่น คราบเหงื่อ คราบปัสสาวะ คราบอสุจิ อันเป็นสาเหตุของโรคหรือการติดเชื้อ
  • ลดความเสี่ยงของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากการขลิบหนังหุ้มปลายทำให้เนื้อเยื่อบริเวณหนังหุ้มปลายซึ่งบอบบางและง่ายต่อการติดเชื้อนั้นถูกกำจัดออกไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ชายที่ขลิบแล้วยังมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ หากไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน
  • ลดความเสี่ยงการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โดยปกติแล้วโรคดังกล่าวมักพบมากในผู้ชายที่ไม่ได้ขลิบ โดยสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนองใน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะขลิบแล้วจำเป็นต้องดูแลอวัยวะเพศให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ป้องกันความผิดปกติขององคชาต ในบางกรณี ผู้ชายที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายอาจพบอาการผิดปกติขององคชาต เช่น ภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ ปลายองคชาตอักเสบ
  • ลดความเสี่ยงมะเร็งองคชาต เนื่องจากเมื่อขลิบส่วนหนังหุ้มปลายแล้ว จะทำให้ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น และลดโอกาสการติดเชื้อ แต่ทั้งนี้ มะเร็งองคชาตเป็นมะเร็งที่พบได้ยาก เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น การสูบบุหรี่ การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV)สุขอนามัยของอวัยวะเพศ สังเกตอาการได้จากผู้ป่วยจะมีหูดหรือเนื้องอกบริเวณปลายองคชาตหรือใต้หนังหุ้มปลาย

ขั้นตอนการขลิบหนังหุ้มปลายองคชาต

ขั้นตอนการขลิบหนังหุ้มปลายองคชาตในทารก เด็ก หรือผู้ใหญ่ไม่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ขั้นตอนมีดังนี้

  • คุณหมอจะทำความสะอาดบริเวณองคชาตและบริเวณรอบ ๆ
  • ฉีดยาชาหรือทายาชาแบบครีมให้คนไข้ที่โคนองคชาต ในผู้ใหญ่บางราย คุณหมออาจให้ดมยาสลบ
  • รัดปลายอวัยวะเพศด้วยตัวหนีบหรือแหวนพลาสติก
  • ตัดหนังหุ้มปลายออกด้วยมีดผ่าตัดหรือกรรไกร
  • ทายาปฏิชีวนะหรือปิโตรเลียมเจลลีบริเวณองคชาต
  • พันองคชาตด้วยผ้าก๊อซ

การดูแลตัวเองหลังขลิบหนังหุ้มปลายองคชาต

โดยปกติ แผลจากการขลิบหนังหุ้มปลายจะหายภายใน 7-10 วัน ระหว่างนั้นควรดูแลตัวเองหรือได้รับการดูแลดังนี้

ในกรณีของทารก

  • เลี่ยงการกดหรือสัมผัสบริเวณองคชาต เนื่องจากจะทำให้ทารกรู้สึกเจ็บ
  • สวมผ้าอ้อมหลวม ๆ เพื่อลดการระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ
  • ทาปิโตรเลียมเจลลี ก่อนใส่ผ้าอ้อม เพื่อให้องคชาตทารกไม่เหนียวติดกับผ้าอ้อม อาจทำให้เสียดสีและเจ็บได้
  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศอยู่เสมอ โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งเมื่อแผลดีขึ้นแล้ว
  • ไปพบคุณหมอ หากพบความผิดปกติหลังผ่าตัด ควรสังเกตอาการและลักษณะขององคชาตอยู่เสมอ เช่น ทารกไม่ปัสสาวะภายใน 12 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด พบเลือดไหลไม่หยุดบริเวณปลายองคชาต ได้กลิ่นไม่พึงประสงค์จากของเหลวซึ่งหลั่งออกมาจากอวัยวะเพศของทารก

ในกรณีของเด็กและผู้ใหญ่

  • รับประทานยาแก้ปวด เพื่อลดอาการปวดหรือบวมของอวัยวะเพศ โดยปกติคุณหมอจะจ่ายยาให้หลังการผ่าตัด
  • ทาวาสลีน หรือปิโตรเลียมเจลลี บริเวณปลายองคชาตบาง ๆ เพื่อไม่ให้องคชาตเหนียวติดกับกางเกงชั้นใน และรักษาความชุ่มชื้น
  • ใส่กางเกงหลวม ๆ เป็นเวลา 2-3 วันหลังจากการผ่าตัด เพื่อไม่ให้กางเกงไปรัดองชาตแน่นเกินไปจนเกิดการอักเสบหรืออับชื้น และลดการระคายเคือง
  • งดกิจกรรมบางอย่าง เช่น การขี่จักรยาน จนกว่าแผลจะหายบวม ในกรณีของผู้ใหญ่ หากต้องการจะขับรถยนต์หลังผ่าตัด ควรมั่นใจและสังเกตตัวเองว่าพร้อมจริง ๆ เพราะการขับรถยนต์โดยที่ร่างกายไม่พร้อมหรือยังรู้สึกกังวลเกี่ยวกับแผลผ่าตัด อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ เป็นเวลา 4 วันหลังจากการผ่าตัด เพื่อป้องกันอวัยวะเพศติดเชื้อหรืออักเสบบวมแดงจากการใส่ถุงยางอนามัยหรือจากการสอดใส่

ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจากการขลิบหนังหุ้มปลายองคชาต

ปกติการขลิบหนังหุ้มปลายมีความเสี่ยงต่ำต่อการสร้างปัญหาสุขภาพ โดยปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้

  • หนังหุ้มปลายอาจถูกผ่าออกมากเกินไป ทำให้รู้สึกตึงบริเวณปลายองคชาต
  • หากทำความสะอาดไม่ดีพอ อาจเกิดการติดเชื้อที่อวัยวะเพศ
  • ในบางราย อาจมีเลือดไหลไม่หยุดหลังจากการผ่าตัด
  • อาจยังมีหนังหุ้มปลายส่วนที่เหลือติดกับปลายองคชาต เสี่ยงติดเชื้อได้หากไม่ดูแลความสะอาดให้ดี
  • ความรู้สึกทางเพศอาจลดลง โดยเฉพาะบริเวณปลายองคชาต

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 08/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา