การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และโรคเอดส์ (AIDS) เป็นภาวะสุขภาพที่ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีหรือยาที่จะช่วยรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จึงต้องมุ่งเน้นไปที่การรักษาด้วยยาต้านเชื้อเอชไอวีเพื่อกดไวรัสไว้ในร่างกายไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และการส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับโรคที่เป็นและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ควรรู้ ก็คือ วิธีป้องกันตัวเองจากเชื้อเอชไอวี ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อนี้ได้
วิธีป้องกันตัวเองจากเชื้อเอชไอวี (HIV)
การติดเชื้อเอชไอวีนั้นสามารถติดต่อได้จาก 3 ช่องทางหลัก ๆ ได้แก่
- ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือการทำกิจกรรมทางเพศ เช่น ออรัลเซ็กส์
- ติดต่อผ่านทางเลือด เช่น การใช้เข็ดฉีดยาร่วมกัน การติดต่อผ่านอุปกรณ์สัก
- การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก เชื้อเอชไอวีสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอด และให้นมบุตร
การติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นช่องทางที่พบได้บ่อยและสำคัญที่สุดของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่ง นายแพทย์วิฉกร จิตประพันธ์ แพทย์ประจำคลินิก Pulse สีลม เผยว่า วิธีป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ในปัจจุบันนั้นมีอยู่หลายวิธี ได้แก่
การใช้ถุงยางอนามัย
หากใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง เช่น เลือกขนาดให้เหมาะสม สวมถุงยางอนามัยก่อนสัมผัสอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ใช้สารหล่อลื่นที่มีส่วนประกอบพื้นฐานเป็นน้ำไม่ใช่น้ำมัน จะสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้เกือบ 90%
และถึงแม้ในปัจจุบันจะมีวิธีป้องกันตัวเองจากเชื้อเอชไอวีในรูปแบบอื่น ๆ แล้ว แต่ก็ควรใช้ถุงยางอนามัยเสมอเมื่อจะมีเพศสัมพันธ์หรือประกอบกิจกรรมทางเพศ เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้แล้ว ถุงยางอนามัยยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ และป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีด้วย
การใช้ยาป้องกันเชื้อเอชไอวี
การใช้ยาป้องกันเชื้อเอชไอวี ที่เรียกว่า “ยาเพร็พ” (Pre-Exposure Prophylaxis; PrEP) ซึ่งเป็นยาที่ต้องกินก่อนมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ได้มากถึง 92% แต่หากมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี เช่น ถุงยางอนามัยฉีกขาด มีเพศสัมพันธ์ขณะเมาไม่ได้สติและไม่แน่ใจว่าได้ป้องกันด้วยถุงยางอนามัยหรือไม่ แพทย์จะแนะนำให้ใช้ “ยาเป๊ป” (Post-Exposure Prophylaxis; PEP) ซึ่งเป็นการกินยาต้านเชื้อเอชไอวีร่วมกันหลายตัวภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อยับยั้งการติดเชื้อเอชไอวี
การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
หากป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่แล้ว เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคเริม โรคซิฟิลิส จะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุบริเวณช่องทางที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งผลงานวิจัยยืนยันแล้วว่า สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้ถึง 10 เท่า
การไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
การใช้เข็มฉีดยา โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีดในเชิงนันทนาการ อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันได้ ฉะนั้น สิ่งสำคัญก็คือ จะต้องเปลี่ยนเข็มทุกครั้ง และไม่ใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น
การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย
งานวิจัยจากต่างประเทศพบว่า การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายช่วยลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีจากผู้หญิงสู่ผู้ชายได้ถึง 60%
นอกจากวิธีป้องกันตัวเองจากเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่นายแพทย์วิฉกร จิตประพันธ์ แนะนำข้างต้นแล้ว ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ดังนี้
- หญิงที่เตรียมตั้งครรภ์ หรือคุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี เพราะหากพบว่าติดเชื้อจะได้เข้ารับการตรวจรักษาที่เหมาะสม ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อสู่ทารกในครรภ์ได้
- งดมีเพศสัมพันธ์หากใช้สารเสพติด หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะในขณะนั้นอาจไม่ได้สติ และไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย หรือแผ่นยางอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ จนทำให้เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีได้มากขึ้น
[embed-health-tool-ovulation]