backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

คันอวัยวะเพศหญิง ภายนอก เกิดจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

คันอวัยวะเพศหญิง ภายนอก เกิดจากอะไร

อาการคันอวัยวะเพศหญิง ภายนอก เกิดจากหลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงการใส่เสื้อผ้าอับชื้นเป็นเวลานาน นอกเหนือจากอาการคัน อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น แสบขัดขณะปัสสาวะ ลักษณะตกขาวผิดปกติ ทั้งนี้ หากมีอาการคันนานเกิน 2-3 วันขึ้นไป และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและดำเนินการรักษาอย่างถูกวิธี 

คันอวัยวะเพศหญิง ภายนอก เกิดจากอะไร 

อาการคันอวัยวะเพศหญิง ภายนอก อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้ 

การติดเชื้อ 

  • การติดเชื้อราแคนดิดา (Candida Albicans) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ส่งผลให้เกิดอาการคัน แสบร้อน และอาจมีตกขาวผิดปกติ 
  • ช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดอาการตกขาวขุ่น มีฟอง มีกลิ่นคาว รวมถึงคันอวัยวะเพศ 
  • พยาธิเข็มหมุด สามารถติดเชื้อได้จากการรับประทานอาหารและการหายใจ เมื่อพยาธิเข้าสู่ร่างกายมักอาศัยอยู่ในช่องคลอดหรือทวารหนัก ส่งผลให้เกิดอาการคันอวัยวะเพศหญิงอย่างรุนแรงจนอาจปลุกให้ตื่นจากการนอนหลับที่สนิทได้ รวมถึงอาจมีอาการปวดท้อง เบื่ออาหาร
  • หูดหงอนไก่ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human papillomavirus (HPV) ทำให้เกิดตุ่มหรือติ่งเนื้อลักษณะขรุขระในบริเวณอวัยวะเพศ อาการตกขาวผิดปกติ คัน และแสบร้อนที่อวัยวะเพศ

การระคายเคืองหรืออาการแพ้

สารเคมีในผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ น้ำยาซักผ้า ยาสวนล้าง ถุงยางอนามัย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น อาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองอวัยวะเพศ และทำให้เกิดอาการคันบริเวณจุดซ่อนเร้นได้ 

การตั้งครรภ์

ร่างกายคนท้องอาจมีระดับฮอร์โมนฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงกว่าปกติ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงของค่า pH (ค่าความเป็นกรด-ด่าง) ภายในช่องคลอด รวมถึงอาการตกขาวที่หลั่งออกมามากกว่าปกติอาจทำให้เกิดอาการคันอวัยวะเพศหญิง ภายนอกได้ 

วัยหมดประจำเดือน

อาจทำให้ร่างกายผลิตเอสโตรเจนลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้ผนังช่องคลอดบางและแห้ง  และทำให้เกิดอาการคันและระคายเคืองได้

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม เริมที่อวัยวะเพศ อาจส่งผลให้เกิดอาการคันได้เช่นกัน 

โรคผิวหนัง

โรคผิวหนัง เช่น โรคกลาก โรคสะเก็ดเงิน Lichen sclerosus ซึ่งเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง และภาวะเดอร์มาโทกราเฟีย (Dermatographia) ซึ่งเป็นโรคผื่นแพ้ผิวหนังชนิดหนึ่ง อาจทำให้เกิดอาการคันที่อวัยวะเพศหญิง ภายนอกได้

โรคระบบปลายประสาทอักเสบ

เป็นภาวะที่เส้นประสาทซึ่งทำหน้าที่รับส่งคำสั่งจากสมองและไขสันหลังไปยังอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความเสียหาย ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการบาดเจ็บ การผ่าตัด การกดทับเส้นประสาทอวัยวะเพศภายในกระดูกเชิงกรานหรือกระดูกสันหลัง จนส่งผลให้เกิดอาการคันได้

อาการคันอวัยวะเพศหญิง ภายนอก ที่ควรไปพบคุณหมอ 

หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอ 

  • อาการเจ็บ ปวด รวมถึงคันที่อวัยวะเพศนานเกิน 2-3 วัน 
  • ปวดหรือแสบเวลาปัสสาวะ 
  • ตกขาวผิดปกติ หรือมีกลิ่น 
  • รู้สึกเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
  • มีติ่งเนื้อที่มีลักษณะขรุขระบริเวณอวัยวะเพศ

การรักษาอาการคันอวัยวะเพศหญิง ภายนอก

อาการคันอวัยวะเพศหญิง ภายนอกอาจรักษาตามสาเหตุ เช่น 

  • วัยหมดประจำเดือน อาจรักษาด้วยการให้ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน 
  • ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย อาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ควรใช้ยาให้ครบตามที่กำหนดเพื่อป้องกันการดื้อยา 
  • ติดเชื้อรา คุณหมออาจใช้ยาเหน็บช่องคลอด เช่น ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole)
  • หูดหงอนไก่ หากขนาดไม่ใหญ่มาก จะใช้ยาทาเพื่อให้หูดหงอนไก่หลุดออกไป แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
  • เนื้องอกและมะเร็ง อาจรักษาด้วยการผ่าตัด การทำเคมีบำบัด หรือการฉายรังสีบำบัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง

นอกจากนี้ หากอาการคันไม่รุนแรงอาจใช้ครีมคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ทาบริเวณอวัยวะเพศอาจช่วยบรรเทาอาการได้ชั่วคราว 

การป้องกันและดูแลตัวเองจากอาการคันอวัยวะเพศหญิง ภายนอก

การปรับไลฟ์สไตล์ รวมถึงพฤติกรรมบางอย่าง อาจช่วยป้องกันการเกิดอาการคันอวัยวะเพศหญิง ภายนอกได้ เช่น 

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสมดุล อาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด เนื่องจากร่างกายก็ต้องการสารอาหารที่เหมาะสม เพื่อที่ระบบต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันจะได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ 
  • หลังจากปัสสาวะหรืออุจจาระ ควรล้างทำความสะอาด และเช็ดให้แห้งจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียจากทวารหนักเข้าสู่ช่องคลอด 
  • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจทำให้ช่องคลอดแห้งและอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลจุดซ่อนเร้นที่มีส่วนผสมของน้ำหอม รวมถึงไม่ควรทาแป้ง หรือโลชั่นในบริเวณอวัยวะเพศ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ชุดชั้นใน เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว 
  • ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีหลังจากออกกำลังกาย หรือว่ายน้ำ รวมถึงควรเปลี่ยนชุดชั้นในทุกวัน 
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้ารัดรูป หรือระบายอากาศได้ไม่ดี 
  • หลีกเลี่ยงการเกาบริเวณจุดซ่อนเร้น เพราะอาจยิ่งทำให้เกิดการระคายเคืองรุนแรงขึ้น
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการคันจะหายเป็นปกติ 
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

    ad iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    ad iconโฆษณา
    ad iconโฆษณา