backup og meta

มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด เกิดจากสาเหตุใด

มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด เกิดจากสาเหตุใด

ตามปกติแล้ว ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์จะมีประจำเดือนหรือเมนส์มาเป็นประจำทุกเดือน เนื่องจากเยื่อบุผนังมดลูกหลุดลอกออกตามธรรมชาติ ประจำเดือนของแต่ละคนจะมีลักษณะและปริมาณแตกต่างกันไป ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของร่างกาย แต่หากพบว่า มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด ในช่วงที่ไม่ได้เป็นประจำเดือน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ปวดท้องน้อย ตกขาวเปลี่ยนสี แสบช่องคลอด

[embed-health-tool-bmi]

มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด เกิดจากสาเหตุใด

อาการมีมูกเลือดออกทางช่องคลอด ที่เกิดขึ้นขณะไม่ได้เป็นประจำเดือน อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

ระดับฮอร์โมนผิดปกติ

หากระดับฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ อาจทำให้การรับส่งสัญญาณผิดพลาดและทำให้มีมูกเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน อาจพบได้ในผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก โดยทั่วไปสามารถรักษาได้ด้วยการลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม นอกจากนี้ระดับฮอร์โมนที่แปรปรวนยังอาจทำให้วัยรุ่นที่เพิ่งเข้าสู่ช่วงเป็นประจำเดือนและผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองมีมูกเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่คาดคิดได้

การตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ในระยะแรกอาจทำให้มีมูกเลือดไหลจากช่องคลอด อาจเกิดจากตัวอ่อนฝังตัวเข้ากับโพรงมดลูก หรือที่เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก และขณะตั้งครรภ์ปากมดลูกอาจมีเลือดออกได้ง่ายเพราะมีหลอดเลือดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การใช้เครื่องมือทางการแพทย์ถ่างช่องคลอดเพื่อตรวจภายในก็อาจทำให้มีมูกเลือดออกทางช่องคลอดได้เช่นกัน ทั้งนี้ หากมีมูกเลือดออกในปริมาณมากขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น การแท้ง การตั้งครรภ์นอกมดลูก การคลอดก่อนกำหนด ปัญหาเกี่ยวกับมดลูก ปัญหาเกี่ยวกับรก ควรไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

การคุมกำเนิด

การคุมกำเนิดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด (intrauterine device หรือ IUD) อาจกระทบต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ จนทำให้ มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด ในช่วงเวลาที่แตกต่างไปจากปกติได้

ปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์

แม้อาการมีมูกเลือดออกทางช่องคลอดในกรณีนี้จะพบได้ไม่บ่อย แต่ก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์อย่างรังไข่ ปากมดลูก มดลูก เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ภาวะถุงน้ำรังไข่แตก โรคมะเร็งมดลูก โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งรังไข่ หากผู้ที่เข้าสู่วัยทองและประจำเดือนไม่มาเป็นเวลานานแล้วมีมูกเลือดออกทางช่องคลอด ควรไปพบคุณหมอทันที

การติดเชื้อ

หากร่างกายติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ที่อาจมาจากโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อาจทำให้มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด ร่วมกับอาการอื่น ๆ ได้ โดยโรคที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้

  • ภาวะช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis) เกิดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อพยาธิหรือโปรโตซัว อาจทำให้มีอาการคัน ระคายเคือง มีตกขาวปนเลือดหรือมูกเลือดขณะไม่มีประจำเดือน เจ็บขณะถ่ายปัสสาวะ ซึ่งคุณหมอจะรักษาด้วยการใช้ครีมหรือยาเหน็บช่องคลอด เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ไทโอโคนาโซล (Tioconazole) คลินดามัยซิน (Clindamycin)
  • โรคหนองในเทียม (Chlamydia) เกิดจากการติดเชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia Trachomatis) ทำให้มีเลือดออกระหว่างรอบเดือนและหลังมีเพศสัมพันธ์ ร่วมกับอาการปวดท้องน้อย เจ็บขณะถ่ายปัสสาวะ โดยทั่วไปสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease หรือ PID) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียภายในระบบสืบพันธุ์ อาจทำให้มีอาการเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือนและหลังมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยทั่วไปคุณหมอจะรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ

มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด ควรดูแลตัวเองอย่างไร

หากพบว่ามีมูกเลือดออกทางช่องคลอด ร่วมกับอาการอื่น ๆ อาจดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ดูแลสุขภาพของตัวเอง เช่น นอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วน ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์
  • ประคบบริเวณช่องคลอดด้วยผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาดหรือผ้าห่อน้ำแข็ง เพื่อลดอาการไม่สบายหรือปวดบริเวณเชิงอุ้งกราน
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือให้คู่นอนสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์หลังเริ่มการรักษาอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอดหรือการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด เพื่อลดการระคายเคืองของช่องคลอด
  • ไปพบคุณหมอหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากมีอาการต่อไปนี้ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุอย่างเหมาะสม

  • มีเลือดออกในปริมาณมาก หรือมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น ตะคริว อาการปวดบริเวณช่องคลอด
  • หน้ามืด วิงเวียน และมีเลือดออกมาก
  • ตกขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ตกขาวข้นเป็นครีม
  • ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็นรุนแรง
  • มีอาการบวมแดง แสบร้อน คันที่ผิวหนังรอบบริเวณช่องคลอดและท่อปัสสาวะ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Causes of Bloody Vaginal Discharge. https://www.webmd.com/women/bloody-vaginal-discharge-causes#:~:text=Infections%2C%20including%20sexually%20transmitted%20infections,%2C%20bacterial%20vaginosis%2C%20and%20trichomoniasis. Accessed February 16, 2023

Vaginal bleeding – irregular. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/vaginal-bleeding-irregular. Accessed February 16, 2023

Vaginal discharge. https://www.mayoclinic.org/symptoms/vaginal-discharge/basics/when-to-see-doctor/sym-20050825. Accessed February 16, 2023

Vaginal bleeding in early pregnancy. https://medlineplus.gov/ency/patientinstructions/000614.htm. Accessed February 16, 2023

Vaginal discharge. https://www.mayoclinic.org/symptoms/vaginal-discharge/basics/definition/sym-20050825. Accessed February 16, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/05/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เลือดออกทางช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ กับสัญญาณที่ควรรู้

มีเลือดออกตอนท้อง1เดือน เกิดจากสาเหตุใด ผิดปกติหรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา