backup og meta

ค่า BMI คืออะไร สำคัญต่อสุขภาพอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 07/07/2022

    ค่า BMI คืออะไร สำคัญต่อสุขภาพอย่างไร

    ค่า BMI หรือ ค่าดัชนีมวลกาย เป็นเครื่องมือชี้วัดว่าน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ใด โดยการคำนวณความสมดุลระหว่างน้ำหนักและส่วนสูงค่าดัชนีมวลกายอาจสามารถช่วยระบุความเสี่ยงในการเกิดโรคบางชนิด เช่น โรคขาดสารอาหาร โรคอ้วน

    ค่า BMI คืออะไร

    ค่า BMI คือ ตัวชี้วัดว่าร่างกายมีความสมดุลของน้ำหนักตัวต่อส่วนสูงหรือไม่ โดยการคำนวณจากส่วนสูงและน้ำหนัก ทำให้ทราบว่าน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์อยู่หรือไม่ ซึ่งอาจช่วยประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคขาดสารอาหาร อ่อนเพลียง่าย โรคอ้วน

    อย่างไรก็ตามการหาค่า BMI อาจไม่สามารถประเมินความสมดุลของร่างกายได้ในบางบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่เป็นนักกีฬาที่มีมวลกล้ามเนื้อมาก เพราะอาจแสดงผลลัพธ์ว่าเป็นโรคอ้วนทั้งที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ความเสี่ยง และผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีมวลกล้ามเนื้อต่ำ เพราะอาจแสดงผลลัพธ์ว่าผอมหรือขาดสารอาหาร

    ค่า BMI สำคัญต่อสุขภาพอย่างไร

    ค่า BMI อาจช่วยให้ทราบว่าน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ ต่ำกว่าเกณฑ์ หรือมากเกินกว่าเกณฑ์ เพื่อจะได้ทำการควบคุมน้ำหนัก ลดน้ำหนัก หรือเพิ่มน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ตามความเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงน้ำหนักไม่สมดุลที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ดังนี้

    ความเสี่ยงจากน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์

    • ร่างกายขาดสารอาหาร
    • โรคกระดูกพรุน ข้อเข่าเสื่อม ข้ออักเสบ
    • โรคโลหิตจาง
    • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
    • ประจำเดือนมาผิดปกติ และอาจเกิดภาวะมีบุตรยาก

    ความเสี่ยงจากน้ำหนักเกินเกณฑ์

  • ระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคอ้วน
  • โรคเบาหวาน
  • โรคตับ
  • ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
  • โรคข้ออักเสบ
  • โรคถุงน้ำดี
  • ความเจ็บป่วยทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล
  • โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งลำไส้ มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งเต้านม
  • วิธีคำนวณค่า BMI

    วิธีคำนวณค่า BMI สามารถทำได้ดังนี้

    วิธีคำนวณ BMI ในผู้ใหญ่

    ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถคำนวณหาค่า BMI ได้โดยการนำน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูงยกกำลังสอง (เมตร)2 ปกติแล้วสำหรับประเทศไทยมักใช้หน่วยวัดความสูงเป็นเซนติเมตร จึงอาจเปลี่ยนค่าส่วนสูงให้เป็นเมตรโดยการนำ ส่วนสูง (เซนติเมตร) ÷ 100

  • ยกตัวอย่าง น้ำหนัก 68 กิโลกรัม ความสูง 1.62 เมตร (162 เซนติเมตร)
  • วิธีคำนวณ 68 ÷ (1.62)2 =  25.91
  • การอ่านค่า BMI ของผู้ใหญ่

  • ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยหรือผอม
  • ค่า BMI 18.5-22.90 อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ค่า BMI 23-24.90 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน
  • ค่า BMI 25-29.90 โรคอ้วนระดับที่ 1
  • ค่า BMI 30 ขึ้นไป โรคอ้วนระดับที่ 2
  • วิธีคำนวณ BMI ในเด็ก

    เด็กและวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 2-19 ปี สามารถคำนวณหาค่า BMI โดยใช้สูตรการคำนวณเดียวกับผู้ใหญ่ได้ แต่การอ่านค่าผลลัพธ์อาจแตกต่างกัน สำหรับเด็กหน่วยจะเป็นเปอร์เซ็นไทล์ (Percentile) และจำเป็นต้องเทียบแผนภูมิของเด็กและวัยรุ่นควบคู่กัน

    การอ่านค่า BMI ของเด็กและวัยรุ่น

    • เด็กและวัยรุ่นที่มีค่าเปอร์เซ็นไทล์น้อยกว่า 5 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยหรือผอม
    • เด็กและวัยรุ่นที่อยู่ระหว่างเปอร์เซ็นไทล์ที่ 5 แต่น้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 85 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยที่เหมาะสม
    • เด็กและวัยรุ่นที่อยู่ระหว่างเปอร์เซ็นไทล์ที่ 85 แต่น้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 95 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน
    • เด็กและวัยรุ่นที่มีเปอร์เซ็นไทล์ที่ 95 หรือมากกว่า อยู่ในเกณฑ์ โรคอ้วน

    การควบคุมค่า BMI ให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี

    การควบคุมค่า BMI ให้อยู่ในเกณฑ์ อาจทำได้ดังนี้

    • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี
    • คำนวณค่า BMI เป็นประจำ
    • ควรเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเน้นการรับประทานธัญพืช ผัก ผลไม้ และไขมันดี เช่น ไข่ ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล อะโวคาโด แตงโม กล้วย ส้ม ผักกาดขาว แครอท กะหล่ำ มะเขือเทศ
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและน้ำตาลสูง เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว มันฝรั่ง ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารแปรรูป น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ประมาณวันละ 6-8 แก้ว
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 150-300 นาที/สัปดาห์ เช่น การวิ่ง เต้นแอโรบิก เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ รวมถึงการทำงานบ้านต่าง ๆ โดยควรเลือกกิจกรรมให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ หรืออาจขอคำปรึกษาจากคุณหมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 07/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา