ซิฟิลิส (Syphilis)
ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยอาการในช่วงแรกที่อาจปรากฏ คือ อาการแผลริมแข็ง (Chancre) ที่เกิดขึ้นในบริเวณที่เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย มักเกิดขึ้นหลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อไปแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ จากนั้นแผลริมแข็งจะหายไป แล้วอาจเริ่มมีอาการผื่นที่สามารถลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ได้ จากนั้นจะเข้าสู่ระยะซิฟิลิสแฝงที่มักจะไม่เกิดอาการใด ๆ นานหลายปี และหลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ระยะสุดท้ายที่ซิฟิลิสลุกลามไปทั่วร่างกายและทำลายอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ระบบประสาท สมอง หัวใจ ดวงตา หลอดเลือด กระดูก
การรักษาโรคซิฟิลิสอาจทำได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาเพนนิซิลิน (Penicillin) เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย หากอยู่ในช่วงระยะแรกอาจใช้ยาปฏิชีวนะเพียงแค่ครั้งเดียว แต่หากติดเชื้อนานกว่า 1 ปีขึ้นไป ก็อาจต้องได้รับยาเพิ่มอีกครั้ง
โรคแผลริมอ่อน (Chancroid)
โรคแผลริมอ่อนเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลุสดูเครย์ (Haemophilus Ducreyi) จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ทำให้เกิดตุ่มแดงขึ้นในบริเวณอวัยวะเพศที่จะกลายเป็นแผลเปิดเมื่อมีการเสียดสี ร่วมกับอาการปวดอย่างรุนแรง
คุณหมอจะทำการรักษาโรคแผลริมอ่อนโดยใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย โดยปกติมักจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ในระหว่างการรักษาควรดูแลรักษาความสะอาดในบริเวณอวัยวะเพศ หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่น และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้น
แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ (Granuloma Inguinale)
แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเคล็บซีเอลลา แกรนูโลเมทิส (Klebsiella Granulomatis) ที่ทำให้เกิดตุ่มหรือก้อนใต้ผิวหนัง จากนั้นก็จะกลายเป็นแผลเปิด พบได้บ่อยในบริเวณองคชาตและทวารหนัก
การรักษาอาจทำได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) 1 กรัม/สัปดาห์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ขึ้นไป จนกว่าแผลจะหายดี
ฝีมะม่วง (Lymphogranuloma Venereum)
ฝีมะม่วงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) ทำให้เกิดฝีตุ่มนูนเป็นก้อนที่อาจลุกลามกลายเป็นแผลในบริเวณอวัยวะเพศ ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณขาหนีบบวม ท้องผูก ขับถ่ายลำบาก และอาจมีอุจจาระปนเลือดหรือหนอง สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เพื่อช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย