backup og meta

โรคที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศหญิง และวิธีการดูแล

โรคที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศหญิง และวิธีการดูแล

อวัยวะเพศหญิง คือ อวัยวะสืบพันธุ์ที่ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ และรักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะเป็นจุดซ่อนเร้นที่อาจมีการสะสมของแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา นำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพในช่องคลอด เช่น การติดเชื้อ ช่องคลอดอักเสบ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งยังส่งผลต่อความมั่นใจในตัวเอง และอาจทำให้เกิดปัญหาทางความสัมพันธ์อีกด้วย

ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับ อวัยวะเพศหญิง มีอะไรบ้าง

ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับ อวัยวะเพศหญิง มีดังนี้

1. ช่องคลอดอักเสบ อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis) ซึ่งแบคทีเรียที่ไม่ดีนั้นมีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเสียสมดุลของกรด-ด่างในช่องคลอด และมีจำนวนมากกว่าแบคทีเรียที่ดี ส่งผลทำให้แบคทีเรียในช่องคลอดขาดความสมดุลจนช่องคลอดเกิดการอักเสบ นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อราแคนดิดา (Candida Albican) เชื้อปรสิต การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงหลังจากเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน การสวนล้างช่องคลอด ใช้สบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอดที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม ซึ่งก่อให้เกิดการระคายเคืองต่ออวัยวะเพศภายนอก และภายในช่องคลอดได้ โดยอาจสังเกตได้จากอาการคัน สีของตกขาวผิดปกติ กลิ่นไม่พึงประสงค์ และเจ็บปวดขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์

วิธีรักษาช่องคลอดอักเสบ

วิธีรักษาช่องคลอดอักเสบ อาจแบ่งตามสาเหตุที่เป็น ดังนี้

  • ช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คุณหมออาจรักษาด้วยยาเม็ดรูปแบบรับประทาน เจล ครีม ยาเหน็บ เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) คลินดามัยซิน (Clindamycin) ทินิดาโซล (Tinidazole) เพื่อช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย
  • ช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อรา อาจรักษาได้ด้วยยาที่คุณหมอแนะนำ โดยมีทั้งรูปแบบครีมทาและยาเหน็บในช่องคลอด เช่น โคลไตรมาโซล (Clotrimazole)  หรือในรูปแบบยารับประทาน เช่น ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา
  • ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อปรสิตไตรโคโมแนส (Trichomoniasis) คุณหมออาจรักษาด้วยการสั่งจ่ายยา เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ทินิดาโซล (Tinidazole) ร่วมกับการรักษาคู่นอนเพื่อลดการกลับมาเป็นซ้ำ
  • ช่องคลอดอักเสบในช่วงวัยหมดประจำเดือน สำหรับผู้ที่เป็นช่องคลอดอักเสบจากสาเหตุนี้ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาด้วยยาที่มีส่วนประกอบของเอสโตรเจน ในรูปแบบยาเม็ด ครีม
  • ช่องคลอดอักเสบจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ควรแจ้งให้คุณหมอทราบถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดอวัยวะเพศ เพื่อให้คุณหมอพิจารณาการรักษาและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง

2. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไวรัส และปรสิตที่สามารถติดต่อกันได้จากคนสู่คนผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อทางปาก ทวารหนัก ช่องคลอด โดยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีมากกว่า 20 ชนิด เช่น

  • โรคเริม
  • หนองในแท้
  • หนองในเทียม
  • โรคซิฟิลิส
  • โรคเอดส์

นอกจากนี้สตรีตั้งครรภ์ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจทำให้ทารกได้รับเชื้อระหว่างการคลอดผ่านทางช่องคลอด โดยส่วนใหญ่อาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจสังเกตได้จาก

  • มีไข้
  • ปวดท้อง
  • สีของตกขาวมีความผิดปกติ และตกขาวมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เช่น สีเขียว สีเหลือง มีลักษณะเป็นฟอง หรือมีเลือดปน
  • มีแผล หรือตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ
  • คันบริเวณอวัยวะเพศหญิง
  • รู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะ รวมถึงระหว่างมีเพศสัมพันธ์

วิธีรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจมีวิธีรักษาที่แตกต่างกันออกไปตามสาเหตุ ส่วนใหญ่อาจใช้ยารักษา ดังต่อไปนี้

  • ยาปฏิชีวนะ เช่น ออฟลอกซาซิน (Ofloxacin) ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) เพนิซิลลิน (Penicillin) ใช้รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากการติดเชื้อแบคทีเรีย ปรสิต เช่น โรคหนองใน ซิฟิลิส ที่สำคัญในระหว่างการรักษาควรงดการมีเพศสัมพันธ์ 7 วัน และเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อเช็กว่ามีแนวโน้มของการติดเชื้ออยู่หรือไม่ หรือมีการติดเชื้ออื่นๆในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ร่วมด้วยหรือไม่
  • ยาต้านไวรัส สำหรับผู้ที่เป็นเชื้อเริม อาจได้รับยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) เพื่อบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ

3. อุ้งเชิงกรานอักเสบ คือ การติดเชื้อทางอวัยวะสืบพันธุ์ ส่วนใหญ่เกิดจากโรคหนองในแท้และโรคหนองในเทียม อาจทำให้มีอาการปวดหน่วงในอุ้งเชิงกราน เจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ อาจมีตกขาวปริมาณมากขึ้น และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ และเพิ่มโอกาสการมีภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรังในอนาคต

วิธีรักษาอุ้งเชิงกรานอักเสบ

คุณหมอจะให้ยาปฏิชีวนะแบบฉีดเข้ากล้ามที่ช่วยรักษาอาการติดเชื้อร่วมกับรับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดโดยตรง นอกจากนี้ควรงดมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการรักษา จนกว่าอาการอุ้งเชิงกรานอักเสบจะหาย

4. มะเร็งช่องคลอด เป็นมะเร็งที่พบได้ยาก ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคมีทั้งที่เชื่อว่าสัมพันธ์และไม่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส HPV โดยปกติแล้ว มักเกิดจากเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดเป็นเนื้องอก และก่อตัวเป็นก้อนแข็ง ในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากปล่อยไว้นานอาจทำให้เกิดอาการเหล่านี้

  • ตกขาวเป็นน้ำ สีและลักษณะตกขาวเปลี่ยนไป หรือมีเลือดปน
  • เลือดออกทางช่องคลอด รู้สึกเจ็บปวดอวัยวะเพศหญิงขณะปัสสาวะ และระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • ปวดกระดูกเชิงกราน
  • มีก้อนเนื้อในช่องคลอด

วิธีรักษามะเร็งช่องคลอด

วิธีรักษามะเร็งช่องคลอด มีดังนี้

  • การผ่าตัด เป็นการกำจัดเนื้องอกในช่องคลอด ในรายที่สามารถผ่าตัดได้ โดยอาจถูกตัดออกเพียงบริเวณที่ได้รับผลกระทบ หรืออาจจำเป็นผ่าตัดระบบสืบพันธุ์ออกทั้งหมด เช่น มดลูก รังไข่ ตามแต่ดุลพินิจของคุณหมอและขนาดของเซลล์มะเร็ง
  • การฉายรังสี เป็นการรักษาด้วยการใช้รังสีพลังงานสูง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็อาจทำลายเซลล์ หรือเนื้อเยื่อรอบ ๆ ที่มีสุขภาพดีได้
  • เคมีบำบัด อาจใช้ในกรณีที่มีเซลล์มะเร็งหลงเหลือจากการผ่าตัด ซึ่งอาจรักษาควบคู่กับการฉายรังสี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและฆ่าเซลล์มะเร็ง

5. ถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน (Bartholin’s Cyst) เกิดจากการที่ต่อมบาร์โธลินที่อยู่บริเวณด้านในช่องคลอด ซึ่งมีหน้าที่ช่วยผลิตสารหล่อลื่นป้องกันช่องคลอดแห้ง เกิดการอุดตัน หรือติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E.coli) อาจส่งผลทำให้เกิดซีสต์หรือฝีขนาดเล็ก ตรงอวัยวะเพศด้านนอก มีอาการเจ็บปวดอวัยวะเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ รู้สึกไม่สบายตัวขณะนั่งหรือเคลื่อนไหว

วิธีรักษาถุงน้ำบาโธลิน

การรักษาถุงน้ำบาโธลิน มีดังนี้

  • ผ่าตัดระบายของเหลวที่ติดเชื้อในถุงน้ำต่อมบาร์โธลินออก โดยกรีดบริเวณก้อนหนองหรือถุงน้ำ และเย็บผิวหนังบริเวณขอบของถุงน้ำเพื่อทำการระบายของเหลวออกจนกว่าจะหมด เพื่อลดการกลับมาเป็นซ้ำ

วิธีดูแลอวัยวะเพศหญิง

วิธีดูแลอวัยวะเพศหญิง มีดังนี้

  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศหลังจากปัสสาวะ ด้วยผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยน และเช็ดอวัยวะเพศจากด้านหน้าไปด้านหลังให้แห้ง เพื่อป้องกันการอับชื้น และการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด รวมถึงหลีกเลี่ยงการทาแป้งฝุ่นบริเวณอวัยวะเพศ เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะผู้ที่มีแนวโน้มเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • เลือกกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย สวมใส่สบาย ไม่รัดแน่น เพื่อดูดซับความชื้น และระบายอากาศได้ดี
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่นำไปสู่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน เริม หูด เอชไอวี
  • ออกกำลังกายเพื่อกระชับกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน และป้องกันกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) และไวรัสอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ตรวจสุขภาพภายใน เพื่อคัดกรองโรคมะเร็งบริเวณช่องคลอด มะเร็งปากมดลูก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vagina: What’s normal, what’s not. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/womens-health/in-depth/vagina/art-20046562 . Accessed January 24, 2022

Things You Should (and Shouldn’t) Do After Sex. https://www.webmd.com/sex-relationships/ss/slideshow-sexual-hygiene . Accessed January 24, 2022

Keeping your vagina clean and healthy. https://www.nhs.uk/live-well/sexual-health/keeping-your-vagina-clean-and-healthy/ . Accessed January 24, 2022

You don’t need fancy products for good feminine hygiene. https://www.mayoclinichealthsystem.org/hometown-health/speaking-of-health/you-dont-need-fancy-products-for-good-feminine-hygiene . Accessed January 24, 2022

The care and keeping of your vagina. https://www.ohsu.edu/womens-health/care-and-keeping-your-vagina . Accessed January 24, 2022

Vaginitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/vaginitis/symptoms-causes/syc-20354707 . Accessed January 24, 2022

Sexually transmitted diseases (STDs) https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sexually-transmitted-diseases-stds/symptoms-causes/syc-20351240 . Accessed January 24, 2022

Sexually Transmitted Diseases. https://medlineplus.gov/sexuallytransmitteddiseases.html . Accessed January 24, 2022

What Is Pelvic Inflammatory Disease?. https://www.webmd.com/women/guide/what-is-pelvic-inflammatory-disease . Accessed January 24, 2022

Pelvic inflammatory disease (PID). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pelvic-inflammatory-disease/symptoms-causes/syc-20352594 . Accessed January 24, 2022

Vaginal cancer. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/vaginal-cancer/symptoms-causes/syc-20352447 . Accessed January 24, 2022

Bartholin’s Cyst. https://www.webmd.com/women/guide/bartholins-gland-cyst . Accessed January 24, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/02/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

อวัยวะเพศชายเป็นแผล เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

คันอวัยวะเพศหญิง ภายนอก ใช้ยาอะไร เพื่อบรรเทาอาการ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 23/02/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา