backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

หลังคลอดมีเพศสัมพันธ์ได้ตอนไหน เพราะอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/02/2023

หลังคลอดมีเพศสัมพันธ์ได้ตอนไหน เพราะอะไร

หลังคลอดมีเพศสัมพันธ์ได้ตอนไหน? จริง ๆ แล้ว ไม่มีข้อกำหนดชัดเจนขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้หญิงแต่ละคน โดยส่วนใหญ่คุณหมออาจแนะนำให้มีเพศสัมพันธ์หลังฝ่ายหญิงคลอดลูกไปแล้ว 4-6 สัปดาห์ เนื่องจากร่างกายมักฟื้นฟูจากการบาดเจ็บหลังคลอดเรียบร้อยแล้ว และโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อยลง

หลังคลอดมีเพศสัมพันธ์ได้ตอนไหน

โดยปกติ ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าหลังคลอดมีเพศสัมพันธ์ได้ตอนไหน อย่างไรก็ตาม คุณหมอมักแนะนำให้ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  • เพื่อให้อุ้งเชิงกรานได้พักฟื้น และมีเวลาปรับสภาพให้กลับไปอยู่ในลักษณะเดียวกับตอนก่อนการตั้งครรภ์
  • เพื่อให้ไหมที่ใช้เย็บบริเวณช่องคลอดละลาย และเนื้อเยื่อมีเวลาฟื้นฟูตัวเองจนสมบูรณ์และพร้อมสำหรับเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์เร็วเกินไปโดยเฉพาะในช่วงก่อน 6 สัปดาห์ ปากมดลูกอาจจะยังปิดไม่สนิท อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูกได้ง่าย
  • เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ เพราะในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังคลอด มักมีน้ำคาวปลาไหลออกมา ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าปกติ ไม่ว่าจะคลอดแบบธรรมชาติหรือผ่าคลอด
  • เพื่อให้มดลูกกลับสู่ขนาดใกล้เคียงกับช่วงก่อนตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนหากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้

เพศสัมพันธ์ หลังคลอด ทำไมเจ็บกว่าปกติ

เมื่อมีเพศสัมพันธ์หลังคลอด ผู้หญิงอาจรู้สึกเจ็บบริเวณช่องคลอดมากกว่าปกติ เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ช่องคลอดแห้ง หลังคลอดลูก โดยเฉพาะช่วงกำลังให้นม ฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) มักลดลงต่ำกว่าระดับปกติ และเนื่องจากระดับเอสโตรเจนสัมพันธ์กับปริมาณน้ำหล่อลื่น เมื่อเอสโตรเจนลดลง น้ำหล่อลื่นจึงน้อยลงตามไปด้วย จนเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงรู้สึกเจ็บช่องคลอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และอาจทำให้รู้สึกแย่ต่อการมีเพศสัมพันธ์
  • เนื้อเยื่อของช่องคลอดบางลง นอกจากทำให้ช่องคลอดแห้งแล้ว ระดับเอสโตรเจนที่ลดลง ยังส่งผลให้เนื้อเยื่อภายในช่องคลอดบางลงด้วย
  • ช่องคลอดบางส่วนยืดหยุ่นน้อยลง หลังคลอดลูก เนื้อเยื่อบางส่วนของช่องคลอดมักฉีกขาดและกลายเป็นแผลเป็นในภายหลัง ทำให้สูญเสียความยืดหยุ่นระหว่างมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป เนื้อเยื่อที่เป็นแผลเป็นจะค่อย ๆ นุ่มและยืดหยุ่นมากขึ้น
  • แผลจากการตัดฝีเย็บยังไม่หายดี ในการคลอดบุตรตามธรรมชาติ คุณหมออาจตัดฝีเย็บและกรีดเปิดส่วนล่างของช่องคลอดเล็กน้อยเพื่อให้การคลอดบุตรง่ายขึ้นและเป็นไปอย่างปลอดภัย แล้วจึงเย็บปิดแผลบริเวณช่องคลอด ทั้งนี้ หากแผลยังไม่หายดีแต่มีเพศสัมพันธ์ อาจทำให้ผู้หญิงเจ็บและไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ในระยะยาว
  • แผลภายนอกและแผลภายในยังไม่หายดี สำหรับผู้ที่ผ่าคลอด ควรให้คุณหมอตรวจดูทั้งแผลภายนอกแผลภายในก่อนมีเพศสัมพันธ์ หากแผลแห้งสนิทดีแล้ว คุณหมอจึงอาจแนะนำให้มีเพศสัมพันธ์ได้

หลังคลอด ทำไมความต้องการทางเพศลดลง

หลังคลอด ผู้หญิงบางคนอาจไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์เนื่องจากความต้องการทางเพศลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ระดับเอสโตรเจนที่ลดลง ทำให้ช่องคลอดแห้งและทำให้เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ได้
  • ความเหนื่อยล้า การอดนอนจากการดูแลลูก
  • ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
  • การบาดเจ็บจากการคลอด
  • ความเครียดหรือความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูก
  • ความรู้สึกห่วงหรือสนใจลูกมากกว่าสามี
  • คำแนะนำสำหรับการมีเพศสัมพันธ์หลังคลอด

    การมีเพศสัมพันธ์ หลังคลอด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • มีเพศสัมพันธ์อย่างอ่อนโยน เพื่อป้องกันช่องคลอดบาดเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายหญิงอาจลองสัมผัสกับช่องคลอดตัวเองก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าช่องคลอดจะไม่รู้สึกเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์
    • ลดความเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดก่อนมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เจลหล่อลื่นเพื่อบรรเทาอาการช่องคลอดแห้ง
    • บอกคู่นอนตามตรงว่าเจ็บ หากรู้สึกเจ็บช่องคลอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เพราะหากยอมมีเพศสัมพันธ์ทั้ง ๆ ที่รู้สึกเจ็บช่องคลอด อาจส่งผลให้มีทัศนคติแง่ลบต่อการมีเพศสัมพันธ์ในภายหลัง
    • เลือกสร้างความสุขให้คู่นอนด้วยวิธีอื่น เช่น การทำออรัลเซ็กส์ การช่วยอีกฝ่ายช่วยตัวเอง การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่สอดใส่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/02/2023

    ad iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    ad iconโฆษณา
    ad iconโฆษณา