แผลริมแข็งรักษาได้อย่างไร
เมื่อพบแผลริมแข็งควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาโรคซิฟิลิสทันที โดยคุณหมอจะฉีดยาเพนิซิลลิน จี เบนซาทีน (Penicillin G Benzathine) ให้ โดยยานี้จะช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัมในร่างกาย และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงคือ มีไข้ คลื่นไส้ ปวดหัว หรือปวดตามร่างกาย ในวันแรกที่ได้รับยา
ในกรณีของผู้ที่แพ้ยาเพนิซิลลิน คุณหมอจะรักษาด้วยการให้ยาในปริมาณจำกัด เพื่อป้องกันอาการแพ้กำเริบ หรือเลือกฉีดยาต้านแบคทีเรียตัวอื่นให้ เช่น ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone)
อย่างไรก็ตาม แผลริมแข็งมักหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยบางรายคิดว่าตนเองหายแล้ว และไม่เข้ารับการรักษา ทั้งที่ระยะเวลาดังกล่าวอาจหมายถึงกำลังเข้าสู่โรคซิฟิลิสระยะที่ 2
ทั้งนี้ เมื่อเป็นโรคซิฟิลิสระยะที่ 2 จะมีผื่นขึ้นตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ไข้ขึ้น ผมร่วง เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน
หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา โรคจะเข้าสู่ระยะแฝงซึ่งผู้ป่วยจะไม่มีอาการใด ๆ แล้วเข้าสู่ระยะสุดท้ายที่เชื้อโรคกระจายไปทั่วร่างกาย และทำให้เกิดอาการผิดปกติในระดับรุนแรง เช่น หัวใจล้มเหลว แขน-ขาอักเสบ ม่านตาอักเสบ สมองเสื่อม และทำให้เสียชีวิตได้
แผลริมแข็ง ป้องกันได้อย่างไร
แผลริมแข็งหรือโรคซิฟิลิสอาจป้องกันได้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือเลือกมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ปลอดโรคเพียงคนเดียว
- มีเพศสัมพันธ์โดยสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง รวมถึงขณะทำออรัลเซ็กส์
- งดการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีแผลริมแข็ง เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ
- ตรวจโรคติดต่อเพศสัมพันธ์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และชวนคู่นอนไปตรวจด้วยหากเป็นไปได้
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย