backup og meta

ภาวะสมองเสื่อมหรือ Dementia คืออะไร และป้องกันได้อย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 13/05/2022

    ภาวะสมองเสื่อมหรือ Dementia คืออะไร และป้องกันได้อย่างไร

    ภาวะสมองเสื่อม หรือ Dementia คือ กลุ่มอาการที่ส่งผลต่อความสามารถด้านความคิดความเข้าใจ เช่น การรับรู้ การคิด การจดจำ ผู้ที่มีภาวะนี้อาจมีอาการ เช่น นึกคำพูดไม่ออก สูญเสียความทรงจำ วิตกกังวล ขาดความสามารถในการตัดสินใจ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างมาก องค์การอนามัยโลกชี้ว่า ในปัจจุบันมีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมมากกว่า 55 ล้านคนทั่วโลก และจำนวนผู้ป่วยอาจเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ซึ่งอย่างไรก็ตาม การศึกษาวิธีป้องกันภาวะสมองเสื่อมอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้ 

    Dementia คือ อะไร

    Dementia คือ ภาวะสมองเสื่อม เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของเปลือกสมองซึ่งเป็นส่วนนอกสุดของสมอง หรือเกิดจากประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อย ๆ เสื่อมลง จนส่งผลต่อความสามารถด้านความคิดความเข้าใจ (Cognitive functioning) เช่น การรับรู้ การคิด การจดจำ การใช้เหตุผล จนบางครั้งอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมบางคนอาจควบคุมอารมณ์ไม่ได้ และบุคลิกภาพอาจเปลี่ยนไป ภาวะนี้มีตั้งแต่ระยะไม่รุนแรงจนถึงระยะรุนแรงที่อาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากและจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น 

    อาการของ Dementia หรือภาวะสมองเสื่อม

    อาการของ dementia อาจจำแนกประเภทได้ดังนี้ 

    การเปลี่ยนแปลงทางสติปัญญา 

    • สับสน 
    • ลืมง่าย แม้สถานการณ์เพิ่งผ่านไปไม่นาน 
    • มีปัญหาด้านการสื่อสาร 
    • มีปัญหาด้านการแก้ไขปัญหา การใช้เหตุผล 
    • มีปัญหาในการเคลื่อนไหวประสานงานกันของร่างกาย 
    • มีปัญหาในการจัดการหรือวางแผนที่จะทำสิ่งต่าง ๆ 

    การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ 

    • วิตกกังวล หวาดระแวง
    • ซึมเศร้า 
    • เห็นภาพหลอน
    • มีบุคลิกภาพเปลี่ยนไป เช่น ไม่กระตือรือร้น เดินท่าแปลกไป 
    • มีพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย 

    สาเหตุของ Dementia หรือภาวะสมองเสื่อม

    ภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ 

    • การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสมอง เนื่องจากระบบการทำงานของสมองค่อย ๆ เสื่อม 
    • การขาดวิตามิน เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 หากได้รับวิตามินบี 1 ไม่เพียงพออาจส่งผลทำให้เซลล์สมองทำงานไม่ได้ตามปกติและเซลล์เนื้อสมองตายได้ 
    • หลอดเลือดสมองตีบจนอาจส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอและทำให้เนื้อสมองตาย 
    • การแปรปรวนของระบบเมตาบอลิกในร่างกาย เช่น ต่อมไร้ท่อบางชนิดทำงานผิดปกติ ตับและไตทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้สมองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ 
    • การติดเชื้อในสมอง เช่น โรคไข้สมองอักเสบ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการอักเสบในสมอง และสมองทำงานผิดปกติ
    • เนื้องอกในสมองอาจส่งผลให้สมองเสื่อมได้
    • การกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะเป็นประจำ หรือการเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อศีรษะ

    ปัจจัยเสี่ยงของ Dementia หรือภาวะสมองเสื่อม

    ภาวะสมองเสื่อมอาจมีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ 

    • อายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป เมื่ออายุเพิ่มขึ้นการทำงานของระบบสมองก็จะเริ่มเสื่อมลง
    • พันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัวเป็นภาวะสมองเสื่อมอาจส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 
    • สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อมและโรคหลอดเลือด
    • ปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด 

    วิธีป้องกัน Dementia หรือภาวะสมองเสื่อม

    ภาวะสมองเสื่อมอาจไม่มีวิธีป้องกันได้ 100 % แต่วิธีต่อไปนี้อาจช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ 

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ รวมถึงอาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 อาจช่วยลดความเสี่ยงสมองเสื่อมได้
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน อย่างน้อย 30-45 นาที/วัน หรือ 3-5 วัน/สัปดาห์ 
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง 
    • เลิกสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารนิโคตินและสารอื่น ๆ ที่อาจทำให้หลอดเลือดแดงตีบตัน รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้
    • ฝึกฝนสมอง พยายามทำให้สมองได้คิดอยู่เป็นประจำ เช่น เล่นเกมทายคำศัพท์ ทายปริศนา อ่านหนังสือ 
    • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจหาความเสี่ยงและความเสื่อมของร่างกายในเบื้องต้น 
    • ระมัดระวังอุบัติเหตุต่าง ๆ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น การหกล้ม การเล่นกีฬา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 13/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา