backup og meta

Phimosis คืออะไร อาการและการรักษาเป็นอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

    Phimosis คืออะไร อาการและการรักษาเป็นอย่างไร

    Phimosis (ภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ) คือ ภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตไม่เปิด ซึ่งอาจไม่ส่งผลอันตรายและอาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่หากส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน มีอาการปัสสาวะลำบาก และรู้สึกเจ็บปวดควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว

    Phimosis คืออะไร

    Phimosis คือ ปัญหาสุขภาพทางเพศที่ผิวหนังปลายองคชาตหดตัวจนไม่สามารถดึงให้เปิดได้ มักเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดแล้วค่อย ๆ เปิดออกเมื่อเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น แต่ก็สามารถเกิดขึ้นในช่วงวัยผู้ใหญ่ได้เช่นกัน

    นอกจากนี้ ภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

    • การมีเพศสัมพันธ์ ในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ อาจทำให้หนังปลายองคชาตรูดขึ้นมาปิดกั้นบริเวณองคชาต หากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลให้มีอาการบวมได้
    • การบาดเจ็บบริเวณองคชาต จากการถูกกระแทก การผ่าตัด และอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดแผลเป็น อาจกระทบต่อการหดตัวของหนังหุ้มปลายองคชาต จึงส่งผลให้เกิดภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบได้
    • การดูแลสุขอนามัยไม่ดี การทำความสะอาดไม่ทั่วถึงอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลให้องคชาตระคายเคืองและเจ็บปวด และอาจส่งผลให้เกิดภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ
    • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเริม โรคซิฟิลิส โรคหนองในเทียม โรคหนองในแท้ อาจทำให้องคชาตบวม และส่งผลต่อการหดตัวของหนังหุ้มปลายองคชาต
    • โรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคสะเก็ดเงิน กลาก ที่อาจส่งผลให้ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง นำไปสู่ภาวะปลายอวัยวะเพศชายอักเสบ (Balanitis) ที่อาจเสี่ยงต่อภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ

    อาการของ Phimosis คืออะไร

    อาการของภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ อาจมีดังต่อไปนี้

    • เจ็บแสบองคชาตขณะปัสสาวะหรือระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์
    • เจ็บปวดองคชาตเมื่อแข็งตัว
    • รู้สึกระคายเคืองบริเวณองคชาต
    • ผิวหนังรอบองคชาตแดงหรือเปลี่ยนสี
    • ปัสสาวะไหลน้อย ปัสสาวะลำบาก
    • มีเลือดออกหรือมีสารคัดหลั่งใต้หนังหุ้มปลายองคชาต
    • ปัสสาวะเป็นเลือด

    ควรเข้ารับการรักษาทันทีหากสังเกตว่ามีอาการดังกล่าว เพราะหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งองคชาต องคชาตอักเสบ และเสี่ยงทำให้เนื้อบริเวณองคชาตเน่าตายได้

    วิธีการรักษา Phimosis คืออะไร

    วิธีการรักษาภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ มีดังต่อไปนี้

    • ยาสเตียรอยด์ทาเฉพาะที่ เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ที่มีในรูปแบบเจลครีม เพื่อช่วยให้หนังหุ้มปลายองคชาตอ่อนนุ่มขึ้น ทำให้สามารถดึงกลับได้ง่าย และอาจช่วยลดอาการบวมและอาการอักเสบ ควรทาอย่างน้อย 4 ครั้ง/วัน หรือตามคำแนะนำของคุณหมอ ควรค่อย ๆ ดึงหนังกลับอย่างเบามือหลังจากใช้ยาประมาณ 2 สัปดาห์
    • ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) ยาฟลูคลอกซาซิลลิน (Flucloxacillin) ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) อีริโทรไมซิน (Erythromycin) เซฟาเลกซิน (Cephalexin) เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
    • การผ่าตัดหรือการขลิบ เหมาะสำหรับการรักษาภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบในเด็ก โดยคุณหมออาจผ่าตัดหนังหุ้มปลายเพื่อช่วยให้สามารถดึงหนังหุ้มปลายองชาตกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจส่งผลให้เกิดแผลเป็นบริเวณหนังหุ้มปลายที่เสี่ยงต่อการกลับมาเป็นภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบได้ ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการรักษาแผลเป็นและวิธีดูแลแผลผ่าตัดเพื่อลดโอกาสการเกิดแผลเป็น

    นอกจากนี้ ควรดูแลสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศและหนังหุ้มปลายให้สะอาด โดยการล้างทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นและสบู่สูตรอ่อนโยน หลีกเลี่ยงการใช้แป้งฝุ่นและสบู่ที่มีน้ำหอม หลังจากล้างทำความสะอาดควรซับให้แห้งสนิทเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อีกทั้งควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา