รังแคในหน้าหนาว อาจเกิดจากความแห้งของอากาศ อาจสังเกตได้ง่ายในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ โดยจะเป็นเกล็ดสีขาว ซึ่งเป็นผิวหนังที่ตายแล้วอยู่บนศีรษะ บางครั้งอาจหล่นลงมาที่บนหัวไหล่ ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดอาการคันบริเวณหนังศีรษะ โดยปกติแล้ว การเกิดรังแค ไม่จำเป็นต้องเข้าพบคุณหมอ แต่หากสระผมด้วยแชมพูที่ใช้ปกติแล้วรังแคไม่ลดลง หรือหนังศีรษะมีอาการบวม แดง ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อขอคำปรึกษาและรับการรักษาที่เหมาะสม
รังแค คืออะไร
รังแค (Dandruff) เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปซึ่งเกิดขึ้นจากเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และลอกออกมาเป็นเกล็ด ๆ รังแคอาจไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงแต่ทำให้อาจเสียบุคลิกภาพ ดูไม่ดี และทำให้เสียความมั่นใจ โดยรังแคที่เกิดขึ้นอาจจัดการได้ โดยการสระผมเป็นประจำ เพื่อช่วยให้รังแคที่มีเพียงเล็กน้อยลดลงได้ แต่หากมีรังแคเป็นจำนวนมากควรใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของยาที่มีคุณสมบัติในการกำจัดรังแคโดยเฉพาะ
อาการของรังแค
รังแคอาจสังเกตได้ง่ายในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ โดยจะเป็นเกล็ดสีขาว ซึ่งเป็นผิวหนังที่ตายแล้วอยู่บนศีรษะ บางครั้งอาจหล่นลงมาที่บนหัวไหล่ นอกจากนี้ อาจทำให้มีอาการคันได้ อาการเหล่านี้จะมีมากขึ้นในฤดูหนาวเพราะความแห้ง และอาการจะดีขึ้นในฤดูร้อน นอกจากนี้ ยังมีรังแคชนิดหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในเด็กทารก เรียกว่า ไขบนหนังศีรษะ (Cradle Cap) เป็นรังแคชนิดที่อาจหายไปเองได้ ไม่มีอันตราย โดยปกติแล้ว การเกิดรังแคไม่จำเป็นต้องพบคุณหมอ หากแชมพูที่ใช้ปกติไม่ช่วยให้รังแคลดลง หรือหนังศีรษะมีอาการบวม แดง ควรปรึกษาคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านผิวหนัง
สาเหตุของ รังแคในหน้าหนาว
สาเหตุที่ทำให้เกิดรังแคในหน้าหนาวอาจมีดังต่อไปนี้
- ต่อมไขมันอักเสบ ผิวหนังมีการระคายเคืองและมัน ผิวหนังแบบนี้อาจพบได้บ่อยในการเกิดรังแค รังแคที่เกิดจากต่อมไขมันอักเสบมักเป็นเกล็ดสีขาวหรือเหลือง และอาจมีสีแดงปนอยู่ด้วย ซึ่งจะพบได้มากในบริเวณที่มีต่อมไขมันเยอะ เช่น คิ้ว ปีกจมูก หลังหู
- ไม่ค่อยได้สระผม หากไม่ค่อยได้สระผม จะทำให้ผมสะสมความมันซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดรังแค
- เชื้อรา ที่ชื่อ มาลาสซีเซีย (Malassezia) ซึ่งอาศัยอยู่บนหนังศีรษะซึ่งมักพบในผู้ใหญ่ ทำให้เกิดการระคายเคืองบนหนังศีรษะ ทำให้เซลล์บนหนังศีรษะมีจำนวนมากขึ้น ทำให้เซลล์เก่า ๆ ตายและกลายเป็นรังแค
- ผิวหนังแห้ง โดยปกติแล้วเกล็ดของรังแคจะมีขนาดเล็กและไม่มีความมัน
- แพ้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับหนังศีรษะ อาจเกิดจากการแพ้สารบางตัวในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับหนังศีรษะและเส้นผมก็จะทำให้เกิดอาการคัน แพ้ และเป็นรังแค
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดรังแค
ปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ มีผลทำให้เกิดอาการคันศีรษะ และเกิดรังแค
- อายุ รังแคมักเกิดขึ้นในวัยรุ่นเป็นต้นไป และจะมีไปจนถึงวัยกลางคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีในผู้สูงอายุ บางคนก็อาจเป็นรังแคได้ตลอดชีวิตเลย
- เพศชาย งานวิจัยบางชิ้นบ่งชี้ว่าฮอร์โมนเพศชายสามารถทำให้เกิดรังแคได้มากว่าในเพศหญิง
- ผมและหนังศีรษะมีความมัน ซึ่งเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) จะกินน้ำมันบนหนังศีรษะของเรา ดังนั้นการมีผิวและผมที่มัน จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโอกาสเกิดรังแคมากขึ้น
- อาการป่วยบางชนิด อาจจะยังไม่มีงานวิจัยยืนยัน แต่ผู้ใหญ่มีโรคทางเส้นประสาท เช่น พาร์กินสันมีโอกาสที่จะเกิดรังแคได้มากกว่า รวมทั้งคนที่ติดเชื้อเอชไอวีก็อาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นรังแคมากกว่าปกติ
วิธีป้องกันการเกิดรังแคในหน้าหนาว
การรักษารังแคอาจทำได้โดยการรู้สาเหตุของการเกิดรังแค เพื่อจะได้หาแชมพูที่เหมาะกับหนังศีรษะแบะอาจช่วยให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
- อาจใช้ครีมบำรุงเส้นผม เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นกับหนังศีรษะ และไม่ควรปล่อยให้หนังศีรษะแห้งจนเกิดอาการคัน
- อาจใช้ที ทรี ออยล์ ในการช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับหนังศีรษะ นอกจากนี้ อาจช่วยป้องกันการเกิดรังแคได้ด้วย โดยควรใช้สัปดาห์ละ 2 ครั้งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
- ควรได้รับวิตามินบี และสังกะสี อย่างเพียงพอ เพื่อที่จะทำให้หนังศีรษะมีสุขภาพที่ดีรวมไปถึง โอเมก้า 3 และกรดไขมันบางตัวด้วย ซึ่งสารเหล่านี้พบได้ใน วอลนัท ไข่ ผักใบเขียว
- งดใช้ผลิตภัณฑ์ตกแต่งทรงผม ในหน้าหนาวมากเกินไป เพราะผิวหนังในหน้าหนาวขาดความชุ่มชื้นและมีความแห้งอยู่แล้ว จึงอาจทำให้ผิวหนังได้รับผลกระทบจากสารเคมีได้ง่ายขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสระผมบ่อย ๆ และการใช้น้ำที่ร้อนมากเกินไป เพราะการสระผมบ่อย ๆ และการใช้น้ำที่ร้อนอาจยิ่งทำให้หนังศีรษะแห้งและจะเกิดรังแคได้ง่าย
- ใช้น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าวในการนวดเส้นผม หมักไว้นาน 1 ชั่วโมงก่อนจะสระด้วยแชมพู และนวดครีมบำรุงผมเพื่อกำจัดรังแค
- รังแคอาจจะเกิดความเครียด ดังนั้น ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ และกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
- ล้างแชมพูอย่างสะอาดและหมดจด เพื่อไม่ให้เกิดสารตกค้างที่จะก่อให้เกิดรังแคได้