backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ผิวหน้าหยาบกร้าน แห้งเป็นขุย สาเหตุ และวิธีรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 06/10/2022

ผิวหน้าหยาบกร้าน แห้งเป็นขุย สาเหตุ และวิธีรักษา

ผิวหน้าหยาบกร้าน แห้งเป็นขุย เป็นปัญหาผิวหน้าที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกสภาพผิว ทั้งผิวธรรมดา ผิวมัน ผิวแห้ง หรือผิวผสม โดยผิวหน้ามักมีลักษณะแห้ง รูขุมขนกว้าง ผิวแห้ง หยาบ เมื่อสัมผัสอาจรู้สึกถึงความสากผิว รู้หรือไม่ว่า มีวิธีดูแลผิวเพื่อแก้ปัญหาและป้องกันผิวหน้าหยาบกร้านที่ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเองไม่จำเป็นต้องพึ่งหมอผิวหนัง

ผิวหน้าหยาบกร้าน เกิดจากอะไร

ผิวจะผลิตน้ำมันตามธรรมชาติที่เรียกว่า ซีบัม (Sebum) ซึ่งจัดเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษาความชุ่มชื้นและปกป้องเซลล์ผิวจากการติดเชื้อ หากผิวหน้าผลิตซีบัมมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดสิว ในทางกลับกัน หากผิวสร้างซีบัมน้อยเกินไป ก็มักทำให้ ผิวหน้าหยาบกร้าน แห้งเป็นขุยได้

สำหรับอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เมื่อผิวหน้าหยาบกร้าน แห้งเป็นขุย ได้แก่ อาการคัน ผิวเป็นหลุมเป็นบ่อ มีรอยแดง ใบหน้าดูหมองคล้ำ หากผิวขาดน้ำก็จะยิ่งทำให้อาการเหล่านี้รุนแรงขึ้นไปอีก

โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ผิวหน้าหยาบกร้าน แห้งเป็นขุย อาจมีดังนี้

  • สภาพอากาศหนาวเย็น
  • อากาศแห้ง
  • การสัมผัสกับสารเคมีที่รุนแรงซึ่งเป็นส่วนประกอบในสบู่หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอื่น ๆ
  • การล้างหน้าบ่อยเกินไป
  • ค่า pH ของผิวไม่สมดุล
  • โรคที่ส่งผลต่อผิวหนัง เช่น ภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคเบาหวาน ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism)
  • การสูบบุหรี่
  • การเผชิญหน้ากับแสงแดดโดยตรงมากเกินไป

วิธีรักษาผิวหน้าหยาบกร้าน แห้งเป็นขุย

วิธีรักษาผิวหน้าหยาบกร้าน แห้งเป็นขุย มีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการที่พบ รวมถึงสภาพผิวของแต่ละคนด้วย โดยวิธีบรรเทาอาการผิวหน้าหยาบกร้าน แห้งเป็นขุย อาจทำได้มีดังนี้

  • ปรับพฤติกรรมการอาบน้ำ

ควรงดอาบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น เพราะอุณหภูมิน้ำที่สูงจะชะล้างซีบัมบนผิวออกไปมากเกินจำเป็น จนส่งผลให้ผิวหน้ามีรูขุมขนกว้าง หยาบกร้าน หรือแห้งเป็นขุยได้ นอกจากนี้ การลดเวลาอาบน้ำให้เหลือแค่ครั้งละ 5-10 นาที ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยได้ และไม่ควรอาบน้ำเกินวันละ 2 ครั้ง เว้นแต่ว่าจะทำกิจกรรมที่เหงื่อออกมาก เช่น ออกกำลังกาย เพราะการอาบน้ำบ่อยเกินไป ก็อาจทำให้ผิวหน้าหยาบกร้าน หรือแห้งเป็นขุยได้เช่นกัน

  • ล้างหน้าเบา ๆ

เวลาเลือกผลิตภัณฑ์ล้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นสบู่ หรือโฟมล้างหน้า ควรเลือกชนิดที่ไม่มีส่วนผสมที่รุนแรง เช่น น้ำหอม แอลกอฮอล์ เรตินอยด์ กรดอัลฟาไฮดรอกซี เพราะอาจทำให้ผิวแห้ง จนระคายเคือง หรืออักเสบได้ แนะนำให้เลือกสบู่ที่ไม่มีน้ำหอม และมีส่วนผสมที่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นให้ผิวหน้า ซึ่งอาจมีดังนี้

  • โพลีเอทิลีนไกลคอล (Polyethylene Glycol)
  • อะคิล-โพลิไกลโคไซด์ (Akyl-polyglycoside)
  • สารลดแรงตึงผิวซิลิโคน (Silicone Surfactants)
  • ลาโนลิน (Lanolin)
  • พาราฟิน (Paraffin)

หากผิวบอบบางควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมประเภทซินเดท (Syndets) หรือสารทำความสะอาดสังเคราะห์ เช่น ซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ กรดซัลฟิวริก เอทิลีนออกไซด์ ซึ่งอ่อนโยนต่อผิวมากกว่า เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่เหมาะสมกับผิวแล้ว อย่าลืมล้างหน้าอย่างอ่อนโยน โดยใช้เพียงปลายนิ้วนวดใบหน้าเบา ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ฟองน้ำหรือผ้าขนหนู เพราะอาจทำให้ผิวหน้าระคายเคืองได้

นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาผิวหน้าหยาบกร้าน แห้งเป็นขุย ไม่ควรล้างหน้าวันละหลายครั้ง ให้ล้างหน้าในตอนกลางคืนเท่านั้น และไม่ควรสครับหรือขัดเซลล์ผิวเป็นประจำทุกวัน แต่ให้ทำเพียงสัปดาห์ละครั้งก็เพียงพอแล้ว

  • ทาครีมบำรุงผิว

พยายามมองหาครีมบำรุงผิวที่เหมาะกับสภาพผิว ควรเลือกครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมันและมีส่วนผสมที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น สารหล่อลื่นที่ละลายในน้ำมัน (Petrolatum-based) ซึ่งเหมาะสำหรับผิวแห้งหรือแตก เพราะสามารถซึมเข้าสู่ผิวหน้าได้ดีกว่า และช่วยป้องกันน้ำระเหยออกจากผิวหน้านอกจากนี้ ควรเลือกใช้ครีมที่ปราศจากน้ำหอมและแอลกอฮอล์ เพราะส่วนผสมเหล่านี้อาจทำให้ผิวระคายเคืองได้ และอย่าลืมทาครีมเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ เพื่อช่วยคงความชุ่มชื้นให้ผิว

ที่สำคัญคือ คววรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไปทุก ๆ 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะเวลาออกแดด หรือทำกิจกรรมทางน้ำ เพราะแสงแดดอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผิวหน้าหยาบกร้าน แห้งเป็นขุย

หากประสบปัญหาผิวหน้าหยาบกร้าน แห้งเป็นขุย ในช่วงอากาศหนาว อาจปรับวิธีดูแลผิวให้เหมาะสม เช่น เปลี่ยนมาใช้ครีมบำรุงผิวที่เน้นให้ความชุ่มชื้นมากขึ้น งดล้างหน้าด้วยน้ำอุ่น เพื่อช่วยให้ผิวหน้าจะได้กักเก็บความชุ่มชื้นได้ยาวนานขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 06/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา