ติ่งเนื้อที่คอ คือ ก้อนติ่งหรือเนื้องอกขนาดเล็กที่พบบนผิวหนังบริเวณลำคอ ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายและไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ เป็นภาวะผิวหนังอย่างหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งชายและหญิง พบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 30-50 ปี ผู้ป่วยเบาหวาน หรือสมาชิกในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นติ่งเนื้อมาก่อน
โดยทั่วไป ติ่งเนื้อที่คอไม่จำเป็นต้องรักษา เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ แต่อาจทำให้รู้สึกระคายเคืองเมื่อสัมผัสหรือเสียดสีกับเสื้อผ้า หากต้องการกำจัดติ่งเนื้อที่คอเพราะทำให้ขาดความมั่นใจหรือรู้สึกกังวลต่อรูปลักษณ์ ควรปรึกษาคุณหมอผิวหนังเกี่ยวกับวิธีกำจัดติ่งเนื้ออย่างปลอดภัย
[embed-health-tool-bmi]
ติ่งเนื้อที่คอ มีลักษณะอย่างไร
ลักษณะของติ่งเนื้อที่คอ อาจมีดังนี้
- เป็นเนื้องอกหรือก้อนนูนขนาดเล็ก เป็นติ่งห้อยออกมาจากผิวหนังบริเวณลำคอและรอบไหปลาร้า
- มีขนาดเล็ก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 มิลลิเมตร แต่อาจขยายใหญ่ได้
- มีสีเดียวกับผิวหนัง หรือเข้มกว่า อาจเป็นสีน้ำตาลอ่อน บางครั้งอาจดูเหมือนไฝ
- สัมผัสแล้วไม่เจ็บ ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจส่งผลให้ขาดความมั่นใจ
- ไม่แพร่กระจายลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่น
- สามารถพบติ่งเนื้อได้ที่ผิวหนังในบริเวณอื่นด้วย เช่น เปลือกตา ใต้วงแขน ต้นขาด้านใน
- ติ่งเนื้อมักเกิดบริเวณที่ผิวหนังพับย่นหรือตามซอกพับที่มีการเสียดสีกันบ่อย ๆ
ติ่งเนื้อที่คอ เกิดจากอะไร
ติ่งเนื้อที่คออาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นติ่งเนื้อมาก่อน มีโอกาสเกิดติ่งเนื้อที่คอได้มากกว่าคนทั่วไป
- เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน ติ่งเนื้อมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีผิวหนังย่นทับกัน มีรอยพับของผิวหนังหลายชั้น เมื่อผิวหนังเสียดสีกันบ่อยเข้า อาจทำให้เกิดติ่งเนื้อที่คอได้
- อายุที่มากขึ้น ร่างกายจะผลิตอีลาสตินที่ช่วยให้ผิวหนังยืดหยุ่นได้น้อยลง จนอาจส่งผลให้เกิดติ่งเนื้อที่คอได้ โดยติ่งเนื้อที่คออาจพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปี แต่จะเกิดขึ้นบ่อยในคนอายุ 30-50 ปี และมักจะไม่มีติ่งเนื้อเกิดขึ้นเพิ่มหลังอายุ 70 ปีขึ้นไป
- การตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อผิวหนังที่ผิดปกติ และเกิดติ่งเนื้อที่คอได้
- โรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) เชื้อไวรัสเอชพีวีอาจทำให้ผิวหนังผิดปกติ กระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังหนาขึ้น จนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดติ่งเนื้อที่คอ
- ปัจจัยภายนอก ผิวหนังอาจเสียดสีกันเอง รวมไปถึงเสียดสีกับเสื้อผ้า หรือเครื่องประดับที่สวมใส่อยู่บ่อยครั้ง จนทำให้เกิดติ่งเนื้อที่คอได้
ติ่งเนื้อที่คอ มีวิธีรักษาอย่างไร
ติ่งเนื้อที่คอไม่เป็นอันตรายหรือทำให้เกิดโรคผิวหนังอื่น ๆ ตามมา แต่หากติ่งเนื้อเสียดสีกับผิวหนังส่วนอื่น ๆ เสื้อผ้า หรือเครื่องประดับจนทำให้รู้สึกเจ็บและมีเลือดออก หรือต้องการกำจัดออกด้วยเหตุผลด้านความสวยงาม คุณหมออาจรักษาติ่งเนื้อที่คอ ด้วยวิธีต่อไปนี้
- การผ่าตัดติ่งเนื้อที่คอด้วยมีดผ่าตัดหรือกรรไกร วิธีนี้นิยมใช้กำจัดติ่งเนื้อที่คอซึ่งมีขนาดใหญ่ สามารถนำติ่งเนื้อออกได้ทั้งหมด แต่อาจทำให้มีเลือดออกบริเวณแผล หรืออาจเสี่ยงติดเชื้อหลังตัดติ่งเนื้อได้
- การจี้เย็นโดยใช้ไนโตรเจนเหลว ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของติ่งเนื้อลดลงอย่างรวดเร็วและกลายเป็นน้ำแข็ง จนติ่งเนื้อที่คอหลุดออกมาได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม อาจต้องเข้ารับการรักษาซ้ำหลายครั้ง
- การกำจัดติ่งเนื้อด้วยเลเซอร์ เช่น เลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) วิธีนี้อาจทำให้มีสะเก็ดแผล แต่มักไม่ทำให้มีเลือดออก
หลังกำจัดติ่งเนื้อที่คอ อาจเกิดรอยแผลตื้นหรือสะเก็ดแผลเล็กน้อย คุณหมออาจแนะนำให้ดูแลบริเวณแผลให้แห้งอยู่เสมอ พยายามอย่าให้แผลสัมผัสน้ำ อย่างน้อย 1-3 วัน และให้ทายาฆ่าเชื้อ หากดูแลถูกวิธี รอยจากการกำจัดติ่งเนื้ออาจดูจางลงและเนียนไปกับผิว
ติ่งเนื้อที่คอ และวิธีป้องกัน
การป้องกันการเกิดติ่งเนื้อที่คอ อาจทำได้ดังนี้
- สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมโปร่ง ไม่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อลดการเสียดสีระหว่างผิวหนังและเสื้อผ้า
- เลือกใส่เครื่องประดับที่ไม่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ดีต่อสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพผิว เช่น ติ่งเนื้อ รวมถึงปัญหาสุขภาพโดยรวมด้วย