วิธีรักษาอาการปากดำคล้ำขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยทั่วไป การดูแลริมฝีปากด้วยวิธีต่อไปนี้อาจช่วยบรรเทาอาการปากดำคล้ำได้
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำและของเหลวอย่างเพียงพอ จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ริมฝีปาก ช่วยให้ริมฝีปากดูอวบอิ่ม ไม่แห้งลอก หรือระคายเคืองง่าย โดยทั่วไปควรดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่เหมาะสมอาจแตกต่างกันไปตามสภาวะสุขภาพ อายุ หรือการทำกิจกรรมประจำวัน
นวดริมฝีปากด้วยน้ำมันธรรมชาติ
เช่น น้ำมันอัลมอนด์ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก อาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณริมฝีปาก ส่งผลให้ปากดูมีสีสัน และดูดำคล้ำน้อยลงได้
สครับริมฝีปาก
การใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เช่น น้ำผึ้งผสมน้ำตาล น้ำตาลผสมเนย ขัดวนบริเวณริมฝีปากเบา ๆ ประมาณ 3-4 นาที แล้วล้างออก สัปดาห์ละ 3 ครั้ง อาจช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวใหม่ และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Molecular Sciences เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับการนำน้ำตาลมาผลิตเป็นสารต้านการสร้างเม็ดสี พบว่า น้ำตาลมีคุณสมบัติลดความหมองคล้ำของผิวและลดการสร้างเม็ดสีผิวมากผิดปกติ จึงอาจนำมาผลิตเป็นสารที่ใช้รักษาความผิดปกติของเม็ดสีได้
การสครับริมฝีปากด้วยผงขมิ้นผสมน้ำนม แล้วทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที ก็อาจช่วยลดการผลิตเมลานินที่ผิวหนังบริเวณริมฝีปากได้เช่นกัน หลังสครับริมฝีปาก ควรล้างออกด้วยน้ำอุ่น ซับริมฝีปากเบา ๆ ให้แห้ง แล้วทาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ริมฝีปากชุ่มชื้น โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotherapy Research เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติยับยั้งการสร้างเม็ดสีในเซลล์ผิวหนังของมนุษย์ของเคอร์คูมิน พบว่า ขมิ้นมีสารเคอร์คูมิน (Curcumin) ซึ่งช่วยยับยั้งการผลิตเม็ดสีเมลานิน จึงอาจช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและกระตุ้นกระบวนการสร้างเซลล์ผิวใหม่ตามธรรมชาติ
พอกว่านหางจระเข้
สารอะโลซิน (Aloesin) ในว่านหางจระเข้อาจช่วยยับยั้งการผลิตเมลานินได้ วิธีใช้ว่านหางจระเข้พอกริมฝีปากเพื่อลดปากดำคล้ำ คือ ปอกเปลือกใบว่านหางจระเข้ออก นำเนื้อหรือวุ้นว่านหางจระเข้ที่ได้ไปล้างให้สะอาด แล้วฝานเป็นแผ่นบาง ๆ จากนั้นนำมาพอกริมฝีปาก ทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง เมื่อแห้งแล้วให้ล้างออกด้วยน้ำอุ่น
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย