backup og meta

ยาคุมลดสิว ไม่อ้วน เลือกอย่างไร สังเกตจากอะไร

ยาคุมลดสิว ไม่อ้วน เลือกอย่างไร สังเกตจากอะไร

การเลือกซื้อ ยาคุมลดสิว ไม่อ้วน นั้น ให้สังเกตจากรายละเอียดเกี่ยวกับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ระบุอยู่บนบรรจุภัณฑ์ โดยยาคุมลดสิวที่ไม่ทำให้อ้วน ควรมีปริมาณเอสโตรเจนในระดับต่ำ เพราะเอสโตรเจนมีคุณสมบัติกระตุ้นความอยากอาหาร หากในยาคุมมีปริมาณเอสโตรเจนในระดับสูงอาจส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหลังบริโภคยาคุม

[embed-health-tool-bmi]

สิวเกิดจากอะไร

ปกติแล้ว สิวเกิดจากรูขุมขนอุดตันเนื่องจากเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว รวมถึงน้ำมันจากต่อมใต้ผิวหนังที่ผลิตออกมามากเกินไป

ยาคุมลดสิว ได้อย่างไร

ยาคุมกำเนิด หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่ายาคุม เป็นยาที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) สังเคราะห์ เมื่อบริโภคเข้าร่างกายแล้ว ฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดจะออกฤทธิ์ระงับการตกไข่ ทำให้ไม่สามารถสืบพันธุ์หรือตั้งครรภ์ได้

ทั้งนี้ นอกจากยาคุมจะมีคุณสมบัติในการช่วยคุมกำเนิดแล้ว โปรเจสเตอโรนในยาคุม ยังมีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) จึงช่วยลดการผลิตน้ำมันของต่อมใต้ผิวหนัง และลดความเสี่ยงรูขุมขนอุดตันและเป็นสิวได้

กินยาคุมลดสิว ทำไมถึงอ้วนขึ้น

การบริโภคยาคุมลดสิวอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้อยากอาหารมากขึ้น รวมทั้งฮอร์โมนโปรเจนเตอโรน ซึ่งออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายบวมน้ำหรือกักเก็บน้ำได้มากกว่าเดิม จนส่งผลต่อน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคยาคุมและภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Open ปี พ.ศ. 2563 นักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลของผู้หญิงจำนวน 11, 018 ราย อายุระหว่าง 18-49 ปี ในประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งสำรวจในปี พ.ศ. 2559 และพบข้อสรุปว่า การใช้ยาคุมสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนอย่างมีนัยสำคัญ

ยาคุมลดสิว ไม่อ้วน เลือกอย่างไร

หากต้องการลดสิวโดยไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ควรเลือกซื้อยาคุมลดสิว ไม่อ้วน ที่มีคุณสมบัติดังนี้

  • มีเอสโตรเจนต่ำ โดยสังเกตระดับของเอสโตรเจนได้จากตัวเลขที่อยู่ถัดจากอักษรย่อ ee บนบรรจุภัณฑ์ยาคุม ซึ่งย่อมาจากเอทินิล เอสตราไดออล (Ethinyl Estradiol) หรือตัวยาที่เป็นเอสโตรเจนสังเคราะห์
  • มีดรอสไพรีโนน (Drospirenone) เป็นส่วนผสม ดรอสไพรีโนนเป็นตัวยากลุ่มโปรเจสเตอโรนสังเคราะห์ ซึ่งนอกจากช่วยลดสิวแล้ว ยังออกฤทธิ์เสมือนยาขับปัสสาวะ จึงอาจช่วยป้องกันภาวะบวมน้ำได้ ทั้งนี้ อาจตรวจสอบว่ายาคุมตัวใดมีดรอสไพรีโนนเป็นส่วนผสมได้จากการสังเกตตัวอักษร D ที่อยู่ถัดจากตัวอักษร ee บนบรรจุภัณฑ์ของยาคุมและเลขที่บอกปริมาณ เช่น ee20D ee35D

อย่างไรก็ตามการกินยาคุมเพื่อลดสิวนั้น จะเห็นผลเมื่อกินไปแล้ว 2-3 เดือนขึ้นไป แต่จะออกฤทธิ์เต็มที่หลังกินนาน 6 เดือนไปแล้ว

ผลข้างเคียงของ ยาคุมลดสิว

การรับประทานยาคุมลดสิว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงดังต่อไปนี้

  • อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า
  • ปวดศีรษะ เป็นไมเกรน
  • ประจำเดือนผิดปกติ

นอกจากนี้ บางรายยังอาจพบผลข้างเคียงในระดับรุนแรงที่หากเกิดขึ้นควรไปพบคุณหมอทันที ได้แก่

  • หายใจลำบาก
  • เจ็บหน้าอก
  • ปวดศีรษะเฉียบพลัน และปวดรุนแรง
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป
  • ปวดท้อง
  • ปวดขา ขาบวม
  • ความดันโลหิตสูง
  • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง หัวใจวาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

The association between combined oral contraceptive use and overweight/obesity: a secondary data analysis of the 2016 Ethiopia Demographic and Health Survey. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7768964/. Accessed December 8, 2022

STUBBORN ACNE? HORMONAL THERAPY MAY HELP. https://www.aad.org/public/diseases/acne/derm-treat/hormonal-therapy. Accessed December 8, 2022

Birth Control for Acne. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/birth-control-for-acne-treatment#1. Accessed December 8, 2022

Acne. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/12233-acne. Accessed December 8, 2022

Combined pill. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/combined-contraceptive-pill/. Accessed December 8, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/03/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาคุมปรับฮอร์โมน ช่วยเรื่องอะไรบ้าง ต่างกับยาคุมกำเนิดไหม

ลืมกินยาคุม3วัน ควรทำอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา