backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

รักษาสิวอักเสบ และวิธีดูแลผิว ป้องกันสิวขึ้นซ้ำ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 11/10/2022

รักษาสิวอักเสบ และวิธีดูแลผิว ป้องกันสิวขึ้นซ้ำ

สิวอักเสบ เป็นภาวะผิวหนังที่เกิดจากน้ำมันส่วนเกิน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว และแบคทีเรียอุดตันรูขุมขน ส่งผลให้รูขุมขนอักเสบ ผิวนูนแดง มีหนอง รู้สึกเจ็บปวด และหากหนองจากสิวอักเสบไปสัมผัสผิวหนังบริเวณอื่น อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปยังบริเวณนั้น ๆ ได้ หากสังเกตว่ามีสิวอักเสบ ควรเข้ารับการ รักษาสิวอักเสบ กับคุณหมอผิวหนังทันที ไม่ควรแกะหรือบีบสิวเอง เพราะอาจส่งผลให้สิวแย่ลงหรือเชื้อยิ่งแพร่กระจายได้

สิวอักเสบ คืออะไร

สิวอักเสบ คือ กลุ่มสิวที่เกิดจากรูขมขนอักเสบ ส่งผลให้เกิดตุ่มนูนขนาดใหญ่ใต้ผิวหนังที่ทำให้เจ็บปวดเมื่อสัมผัส หรือถูกเสียดสี โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดสิวอักเสบอาจมาจากหลายปัจจัย ดังนี้

  • เซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วอุดตันในรูขุมขน
  • ระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น ทำให้ต่อมไขมันขยาย และผลิตน้ำมันที่ผิวหรือซีบัมมากเกินไป จนเกิดน้ำมันส่วนเกินบนใบหน้า
  • ความเครียด เพราะอาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันส่วนเกิน นำไปสู่การอุดตันรูขุมขนจนก่อให้เกิดสิว และอาจทำให้อาการสิวที่เป็นอยู่แย่ลง
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ขนมปังขาว ของทอด อาจกระตุ้นให้เกิดสิว หรือทำให้สิวที่เป็นแย่ลง
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาที่มีคอร์ติโคสเตียรอยด์ เทสโทสเตอโรน (Testosterone) หรือลิเทียม (Lithium) เพราะอาจมีสารประกอบ เช่น โบรไมด์ ไอโอไดด์ ที่ทำให้เกิดสิว หรือตุ่มคล้ายสิว 
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ ช่วงก่อนเป็นประจำเดือน และช่วงเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน
  • การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน 
  • การเช็ดเครื่องสำอางไม่สะอาด เข้านอนทั้งที่แต่งหน้า หรือไม่ล้างหน้าหลังจากทำกิจกรรมที่ส่งผลให้เหงื่อออกมาก

ประเภทของสิวอักเสบ

สิวอักเสบ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • สิวหัวหนอง (Pustules) เกิดจากน้ำมันส่วนเกินและเซลล์ผิวที่ตายแล้วทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียในรูขุมขน ทำให้รูขุมขนอักเสบและมีตุ่มนูนที่มีหนองสีขาวหรือสีออกเหลืองอยู่ตรงกลาง
  • สิวตุ่มแดง (Papules) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็กสีแดงหรือชมพู ที่อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวด
  • สิวตุ่มใหญ่ (Nodule) มีลักษณะเป็นก้อนแข็งสีแดงขนาดใหญ่ใต้ผิวหนัง อาจมีสิวหลายหัวอยู่ติด ๆ กัน และทำให้เจ็บปวดได้เมื่อสัมผัส
  • สิวซีสต์ (Cystic Acne) สิวอักเสบชนิดรุนแรงที่เกิดจากการอักเสบในผิวหนังชั้นลึก ก่อให้เกิดตุ่มนูนขนาดใหญ่ ภายในมีหนอง ลักษณะคล้ายฝี และเจ็บปวดมาก หากเป็นสิวประเภทนี้ควรได้รับการรักษาทันที เพื่อป้องกันรอยแผลเป็น

รักษาสิวอักเสบ อย่างไร ไม่ให้เกิดแผลเป็น

การรักษาสิวอักเสบ อาจทำได้ดังนี้

  • การใช้ยาทาเฉพาะที่ ในรูปแบบเจล ครีม โลชั่น ขี้ผึ้ง ทาสิวบริเวณที่ได้รับผลกระทบ เช่น
    • กลุ่มยาเรตินอยด์ คือยากลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ เหมาะสำหรับรักษาสิวระดับปานกลาง ช่วยป้องกันขุมขนอุดตัน ยาที่คุณหมอแนะนำ เช่น ทาซาโรทีน (Tazarotene) เตรทติโนอิน (Tretinoin) อะดาพาลีน (Adapalene) ในช่วงแรกควรใช้ยากลุ่มนี้เพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จนกว่าผิวจะชินกับยา และควรทาก่อนนอน เพราะเรตินอยด์อาจทำให้ผิวไวต่อแสงแดด แสบลอก และระคายเคืองได้
    • ยาปฏิชีวนะ มีส่วนช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง ลดรอยแดง และการอักเสบของสิว เพื่อให้การรักษาสิวอักเสบมีประสิทธิภาพมากขึ้นและป้องกันการดื้อยา ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะรักษาเพียงอย่างเดียว แต่ควรใช้ร่วมกับยาในกลุ่มเรตินอยด์ เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) โดยควรทายาปฏิชีวนะในช่วงเช้า และทายากลุ่มเรตินอยด์ในช่วงเย็น 
    • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) มีส่วนช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันการอุดตันในรูขุมขน การทายาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิกอาจทาแล้วล้างออกหรือทาทิ้งไว้ข้ามคืน ยานี้อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ผิวแดง ระคายเคืองผิว 
  • การรับประทาน
    • ยาคุมกำเนิด ยาที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินและเอสโตรเจน อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิวอักเสบอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ น้ำหนักขึ้น เจ็บหน้าอก และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทาน
    • ยาปฏิชีวนะ อาจช่วยชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรง สำหรับบุคคลทั่วไปคุณหมออาจให้รับประทานยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) หรือแมคโครไลด์ (Macrolide) สำหรับสตรีตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี อาจรับประทานได้เพียงยาแมคโครไลด์ เนื่องจากเตตราไซคลีนอาจส่งผลให้ฟันเปลี่ยนสีถาวรและเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
    • ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน ช่วยชะลอการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจนที่ทำให้ต่อมไขมันขยาย อย่างไรก็ตาม คุณหมออาจแนะนำให้รักษาสิวอักเสบด้วยวิธีนี้เมื่อร่างกายไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ 
    • ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) ยากลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวระดับปานกลางถึงรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษารูปแบบอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคลำไส้อักเสบ ภาวะซึมเศร้า ดังนั้น ระหว่างใช้ยานี้ควรเข้าตรวจสุขภาพตามกำหนดของคุณหมอเพื่อติดตามอาการข้างเคียง
  • การรักษาด้วยเทคนิคทางการแพทย์
    • การบำบัดด้วยแสง อาจมีหลายรูปแบบ โดยคุณหมอพิจารณาแสงที่เหมาะสมจากอาการของสิว ซึ่งอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้หลายครั้ง
    • การกดสิว คุณหมออาจกดสิวด้วยอุปกรณ์เฉพาะเพื่อกำจัดหนองหรือไขมันที่อุดตันในรูขุมขนและอาจแนะนำให้รักษาควบคู่กับยาทาเฉพาะที่ 
    • การใช้กรดซาลิไซลิก (Salicylicเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวไม่รุนแรง กรดชนิดนี้อาจช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่า และรักษารอยสิว แต่อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาหลายครั้ง
    • การฉีดสเตียรอยด์ การฉีดสเตียรอยด์เข้าสู่สิวโดยตรงอาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากสิวได้ และช่วยให้สิวยุบลงเร็ว แต่วิธีนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวหนังเปลี่ยนสี ผิวหนังบางลง
  • วิธีป้องกันสิวขึ้นซ้ำ

    วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันสิวอักเสบขึ้นซ้ำ หรือขึ้นใหม่ได้

    • ทำความสะอาดใบหน้าด้วยน้ำอุ่นและผลิตภัณฑ์ล้างหน้าสูตรอ่อนโยนที่เหมาะกับสภาพผิวและปราศจากน้ำหอมอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อขจัดเซลล์ผิวเก่าและน้ำมันส่วนเกิน
    • หลีกเลี่ยงการขัดผิวรุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองจนเสี่ยงเกิดสิวได้
    • เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว และอาจเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า  Non-comedogenic เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดสิวได้
    • พยายามไม่แต่งหน้า หรือหากแต่งหน้า ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำมัน และเช็ดเครื่องสำอางออกให้หมดจากนั้นจึงล้างหน้าให้สะอาด ไม่นอนทั้งที่แต่งหน้า เพื่อป้องกันการอุดตันในรูขุมขน และหากใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม ก็ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำมันเช่นกัน
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า เพราะมืออาจมีสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคที่ทำให้ผิวระคายเคือง เกิดการอักเสบ และเป็นสิวอักเสบ
    • ปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยการสวมหมวกและทาครีมกันแดดก่อนออกแดดอย่างน้อย 15 นาที ควรทากันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง หากเป็นไปได้ควรงดออกจากบ้านในช่วงที่แดดจัด เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดสิว และลดอาการผิวไวต่อแสงระหว่างที่ใช้ยารักษาสิว
    • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืช และลดปริมาณอาหารที่มันไขมัน คาร์โบไฮเดรต น้ำตาลสูงที่อาจก่อให้เกิดสิวได้
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้เกิดความสมดุลย์ทางด้านฮอร์โมนและลดการเกิดสิวใหม่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 11/10/2022

    ad iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    ad iconโฆษณา
    ad iconโฆษณา