การรักษาสิว อาจเป็นการปรับกระบวนการผลิตน้ำมันบนผิวให้สมดุล กระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวเพื่อไม่ให้รู้ขุมขนอุดตัน รวมถึงการจำกัดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักของการเกิดสิว โดยการรักษาสิวอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิวที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ทำให้เกิดสิว รวมถึงการพิจารณาของคุณหมอ
การจัดระดับความรุนแรงของสิว
สิวเป็นหนึ่งในปัญหาทางด้านผิวหนัง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยอาจเกิดจากการอุดตันของระบบต่อมไขมันในรูขุมขน ซึ่งได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศชาย หากร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชายจากต่อมหมวกไตมากเกินไป อาจทำให้ร่างกายหลั่งไขมันมากผิดปกติ และไปกระตุ้นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังจนก่อให้เกิดสิว อย่างไรก็ตาม สิวก็สามารถเกิดได้ในวัยผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยร้อยละ 85 ของผู้เป็นสิวจะเป็นชนิดไม่รุนแรง มีเพียงร้อยละ 15 ที่เป็นสิวอักเสบรุนแรง
การจัดระดับความรุนแรงของสิว ก็เพื่อให้เป็นแนวทางในการดูแลรักษาสิวของคุณหมอซึ่งทำหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาสิวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและมีประสิทธิภาพ โดยความรุนแรงของสิวอาจจัดระดับได้ดังนี้
- สิวเล็กน้อย (Mild Acne) คือการมีหัวสิวไม่อักเสบ (Comedone) เป็นส่วนใหญ่ หรือมีสิวอักเสบ (Papule) และสิวหัวหนอง (Pustule) ไม่เกิน 10 จุด (ระดับ GEA 0,1,2)
- สิวปานกลาง (Moderate Acne) คือ การมีสิวตุ่มนูน (Papule) และสิวหัวหนอง (Pustule) ขนาดเล็กจำนวนมากกว่า 10 จุด หรือ มีสิวไตแข็ง (Nodule) น้อยกว่า 5 จุด (ระดับ GEA 3)
- สิวรุนแรง (Severe) คือ การมีสิวประเภทต่าง ๆ เช่น ตุ่มนูน (Papule) สิวหัวหนอง (Pustule) มากมาย สิวอักเสบแดงเป็นก้อน (Nodule) สิวซีสต์ (Cyst) เป็นจำนวนมาก หรือมีสิวอักเสบอยู่นานและกลับมาเป็นซ้ำ หรือมีหนองไหล (ระดับ GEA 4,5)
ตารางการแบ่งระดับความรุนแรงของสิวตามหลัก GEA Scale
GEA Scale | คำอธิบาย |
0 | ไม่มีสิว แต่อาจเห็นรอยดำหรือรอยแดงได้บ้าง |
1 | แทบไม่มีสิว มีเพียงสิวหัวปิด สิวหัวเปิด จำนวนเล็กน้อย สิวอักเสบจำนวนน้อยมาก |
2 | เห็นได้ว่ามีสิว กินพื้นที่น้อยกว่าครึ่งใบหน้า |
3 | พบสิวกินพื้นที่มากกว่าครึ่งของใบหน้า มีสิวหัวปิด สิวหัวเปิด ตุ่มสิว และตุ่มหนองจำนวนหนึ่ง อาจมีสิวไตแข็งร่วมด้วย 1 ตุ่ม |
4 | สิวกินพื้นที่ทั่วใบหน้า มีตุ่มอักเสบ ตุ่มหนอง สิวหัวเปิด สิวหัวปิดจำนวนมาก |
5 | สิวอักเสบและสิวไตแข็งจำนวนมากทั่วทั้งใบหน้า |
ข้อมูลจาก Journal of the European Academy of Dermatology and Venereology
การรักษาสิว ตามความรุนแรงของสิว
สำหรับการรักษาสิว คือ การป้องกันการเกิดสิวใหม่และลดการอักเสบของรอยโรคเดิมลง อาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา โดยการรักษาสิวนั้นมีทั้งยาทาเฉพาะที่และยารับประทาน ซึ่งวิธีการรักษาสิวนั้นอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิวในขณะนั้น
สิวเล็กน้อย (Mild Acne)
ลักษณะสิวที่พบมักเป็นสิวหัวขาว สิวหัวดำ และสิวผด บริเวณใบหน้า จมูกและหน้าผาก ไม่รุนแรง อาจใช้ยาทาหรือครีมรักษาสิวที่มีส่วนประกอบของตัวยาสำคัญ ได้แก่
- เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) 2.5%-5%
- ยาทากลุ่มกรดวิตามินเอ หรือเรตินอยด์ (Topical Retinoids) 0.01%-0.1%
- คลินดามัยซิน (Clindamycin) 1% รูปแบบน้ำ
- อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) 2%-4% รูปแบบน้ำหรือเจล
- ซาลิไซลิก แอซิด (Salicylic Acid)
- กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid)
- ซัลเฟอร์ (Sulfur)
- สารในกลุ่มรีอนุพันธุ์รีซอซินอล (Resorcinol)
นอกจากการใช้ยาดังกล่าวแล้ว การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องสำอาง หรือสารทำความสะอาดในขณะที่เป็นสิว และการศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญ การรู้จักเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมอาจช่วยบรรเทาความรุนแรงของสิว และปกป้องผิวจากการเกิดสิวเพิ่มอีกด้วย
โดยปกติแล้ว อาจเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า ไม่ทำให้เกิดสิวอุดตันหรือสิวอักเสบ (Noncomedogenic และ Non-Acnegenic) ซึ่งไม่ทำให้เกิดสิวหัวเปิดหรือสิวหัวปิด อาจมีส่วนประกอบของสารสำคัญที่ช่วยลดความมันบนใบหน้า เช่น แอร์ลิเซียม (Airlicium) คาร์โนซีน (Carnosine) ซิงก์ (Zinc) หรือสารที่มีคุณสมบัติช่วยลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย เช่น พิร็อกโทน โอลาไมน์ (Piroctone Olamine)
นอกจากนี้ ไม่ควรใช้คลินดามัยซินหรืออิริโทรมัยซินทาอย่างเดียว เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา ควรใช้ร่วมกับบนโซอิลเพอร์ออกไซด์
สิวปานกลาง (Moderate Acne)
เป็นระยะที่เริ่มมีสิวอักเสบเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในระยะนี้คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาทาที่ใช้กับระดับสิวเล็กน้อย ร่วมกับยารับประทาน คือ ยาในกลุ่มเตตราไซคลีน (Tetracycline) แต่ถ้าแพ้ยาในกลุ่มเตตราไซคลีนอาจใช้อิริโทรมัยซินแทน
สิวรุนแรง (Severe Acne)
ในระยะนี้จะเกิดสิวหลายชนิดรวมกันทั้งสิวอุดตัน สิวอักเสบและสิวประเภทอื่น ๆ รวมทั้งยังอาจขยายบริเวณจากใบหน้า ลามไปถึงแผ่นหลัง แผ่นอก หรือสะโพกอีกด้วย ดังนั้น ควรปรึกษาคุณหมอในกรณีที่การรักษาที่ไม่ตอบสนองด้วยวิธีรักษาสิวแบบมาตรฐานใน 2-3 เดือน
การดูแลผิวหลัง การรักษาสิว
เมื่อสิวหายไปแล้วก็อาจมีปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น รอยแดง รอยดำ หลุมแผลเป็น แผลเป็นนูน ซึ่งอาจเกิดจากสิวอักเสบและสิวหัวดำ โดยการดูแลรักษารอยสิวก็อาจมีหลายวิธี เช่น
- การใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเรตินอยด์ (Retinoids) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยผลัดเซลล์ผิวและลดจุดด่างดำจากรอยแผลสิว
- การใช้ครีมลดรอยสิวที่มีส่วนประกอบของโปรซีหลาด (Procerad) วิตามินอี วิตามินซี อาร์บูติน กลูต้าไธโอน โคจิก ทรานซามิค ซึ่งอาจช่วยลดรอยดำ รอยแดงที่เกิดจากสิว
- การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยผลัดเซลล์ผิว เช่น กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids หรือ AHA)
การรักษาสิวและรักษารอยสิวนั้นเป็นการรักษาที่ต้องใช้เวลา และผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลรักษาตัวเองทั้งในระหว่างที่เป็นสิวและหลังจากการรักษา นอกจากนี้ ควรศึกษาครีมรักษาสิวหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ร่วมในการรักษาสิวด้วย เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งลดการเกิดสิวเพิ่มในอนาคต