backup og meta

สิวอุดตัน สาเหตุ ประเภท การรักษา และการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 30/04/2022

    สิวอุดตัน สาเหตุ ประเภท การรักษา และการป้องกัน

    สิวอุดตัน คือ สิวที่เกิดขึ้นจากการอุดตันของเซลล์ผิวที่ตายแล้ว น้ำมัน และสิ่งสกปรกในรูขุมขน ทำให้เกิดเป็นตุ่มสิวที่มีทั้งสิวหัวเปิดและสิวหัวปิด อาจเกิดขึ้นจากตัวกระตุ้นต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การมีผิวมัน การอยู่ในสภาพอากาศชื้น สิวอุดตันสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการทางแพทย์ และการดูแลตัวเองเพื่อช่วยลดการเกิดสิว

    สิวอุดตัน คืออะไร

    สิวอุดตัน เป็นสิวที่สามารถพบได้บ่อย เกิดจากการอุดตันของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วในรูขุมขน น้ำมัน และสิ่งสกปรกต่าง ๆ จนเกิดเป็นตุ่มสิวเล็ก ๆ บนผิวหนัง หรือจุดสีขาวหรือดำบนใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากและคาง ไม่มีการอักเสบ และไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ 

    ประเภทของสิวอุดตัน

    สิวอุดตันสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ดังนี้

    • สิวหัวดำ เป็นสิวหัวเปิดที่มีลักษณะเป็นจุดสีดำเล็ก ๆ บนใบหน้า ไม่มีผิวหนังปกคลุม ทำให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและสิ่งสกปรกที่อุดตันในรูขุมขนสัมผัสกับอากาศและเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) และเปลี่ยนเป็นสีดำ
    • สิวหัวขาว เป็นสิวหัวปิดที่มีผิวหนังขึ้นมาปกคลุมสิวจนมิด ทำให้มองเห็นเป็นตุ่มสีขาว ๆ ที่มีเนื้อสิวภายใน 
    • ไมโครโคมีโดน (Microcomedones) เป็นสิวอุดตันขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
    • มาโครโคมีโดน (Macrocomedones) เป็นสิวอุดตันหัวปิดที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าประมาณ 2-3 มิลลิเมตร
    • ไจแอนท์โคมีโดน (Giant Comedones) มีลักษณะเป็นก้อนสิวหัวดำขนาดใหญ่  
    • โซลาร์โคมีโดน (Solar Comedones) เป็นสิวไม่อักเสบที่เกิดขึ้นเนื่องจากรังสียูวี (UV) ส่งผลให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพ ทำให้ผิวหนังหนาขึ้น และเกิดรอยย่นที่ดูคล้ายกับสิว มักเกิดขึ้นในบริเวณที่โดนแสงแดดเป็นเวลานาน เช่น แก้ม พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

    สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของสิวอุดตัน

    สิวอุดตัน เกิดขึ้นเมื่อท่อไขมันและรูขุมขนอุดตันเนื่องจากสิ่งสกปรกและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ทำให้ซีบัม (Sebum) หรือไขมันที่ต่อมไขมันบนผิวผลิตขึ้นอุดตันอยู่ในรูขุมขน และเกิดเป็นสิว

    ปัจจัยที่อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดสิวอุดตัน อาจมีดังนี้

    • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หากร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอร์โรน (Testosterone) มากเกินไป ก็อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น และทำให้เกิดการอุดตันที่รูขุมขนได้
    • การระคายเคืองของผิว สารเคมีบางอย่างที่พบในเครื่องสำอาง เช่น โพรไพลีน ไกลคอล (Propylene Glycol) ซึ่งเป็นสารให้ความชุ่มชื้นที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง อาจทำให้ผิวระคายเคืองได้
    • การฉีกขาดของรูขุมขน เนื่องจากการสัมผัสกับผิวหนังอย่างรุนแรง เช่น การล้างหน้าอย่างรุนแรง การขัดผิว การบีบสิว การใช้สารเคมีลอกผิว
    • การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มักมีโอกาสเกิดสิวมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่อาจส่งผลให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพ ทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควร และอาจเพิ่มโอกาสการเกิดสิวอุดตันได้
    • การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม อาหารที่มีน้ำตาลสูง อาจเพิ่มโอกาสการเกิดสิวอุดตันได้ในผู้ป่วยบางราย

    การรักษาสิวด้วยวิธีทางการแพทย์

    สิวอุดตันสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้

    • เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide) เป็นยารักษาสิวในรูปแบบของยาเจลหรือครีมล้างหน้าที่มีส่วนผสมของเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ 5% ใช้เพื่อช่วยลดปริมาณของแบคทีเรียบนผิวที่อาจทำให้เกิดสิว ยานี้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองเล็กน้อยเมื่อใช้ในช่วงแรก จากนั้นอาการระคายเคืองอาจลดลงเมื่อใช้ไปเรื่อย ๆ
    • ยารูปแบบเจล เริ่มจากการล้างหน้าให้สะอาด ซับให้แห้ง และทายาบาง ๆ บริเวณที่มีสิว วันละ 1-2 ครั้ง สำหรับคนที่มีผิวแพ้ง่ายอาจใช้แค่วันละ 1 ครั้งก่อนนอน
    • ยารูปแบบครีมล้างหน้า เริ่มจากล้างหน้าด้วยน้ำสะอาด จากนั้นจึงล้างหน้าด้วยยาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์รูปแบบครีมล้างหน้า นานประมาณ 1-2 นาที ล้างออกด้วยน้ำสะอาด และซับหน้าให้แห้ง วันละ 1-2 ครั้ง
    • กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ใช้สำหรับรักษาสิวระดับเบาถึงปานกลาง เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วออกไป ช่วยลดอาการอักเสบของสิว และช่วยเร่งให้สิวหายไวขึ้น โดยทายาบาง ๆ บริเวณสิว วันละ 1-2 ครั้ง ยานี้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง แสบ ผิวลอก และรอยแดงเล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วงเริ่มใช้ยา หากผลข้างเคียงเหล่านี้ไม่หายไปหรือมีอาการรุนแรงขึ้น ควรปรึกษาคุณหมอ
    • กรดอะเซลาอิก (Azelaic acid) ใช้เพื่อช่วยลดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในรูขุมขน ช่วยลดอาการอักเสบ และช่วยฟื้นฟูเซลล์ผิวในบริเวณรูขุมขนให้เป็นปกติ วิธีใช้คือทายาบาง ๆ บนสิว วันละ 1-2 ครั้ง ในช่วงแรกอาจมีอาการระคายเคืองเล็กน้อย แต่มักจะหายไปเมื่อใช้ยาไปเรื่อย ๆ
    • เรตินอยด์ (Retinoids) ใช้สำหรับรักษาสิวในระดับปานกลางถึงรุนแรง ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น เรตินอยด์สามารถช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน และช่วยลดการเกิดสิวได้ โดยทายาบาง ๆ บริเวณสิว วันละครั้ง เรตินอยด์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น รอยแดง ผิวลอก หากมีอาการรุนแรงอาจเลี่ยงไปใช้ยาเรตินอยด์วันเว้นวัน หรือผสมยากับมอยเจอร์ไรเซอร์ก่อนทา
    • การกดสิว โดยการใช้เข็มเจาะผิวแล้วบีบหรือใช้อุปกรณ์สำหรับกดสิว กดเพื่อให้หนองภายในสิวออกมา ควรทำโดยแพทย์เท่านั้น
    • การบำบัดด้วยแสง เหมาะสำหรับสิวที่ไม่ตอบสนองกับการรักษาด้วยการใช้ยา โดยการฉายแสงเพื่อช่วยลดการทำงานของต่อมไขมัน และช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน
    • การลอกผิว โดยใช้สารเคมี เช่น กรดไกลโคลิก (Glycolic acid) ทาบนผิว เพื่อเร่งให้ผิวชั้นนอกลอกออก ผลัดเซลล์ผิวใหม่ ช่วยลดริ้วรอย จุดด่างดำ และช่วยทำให้ผิวเนียนขึ้น
    • การบำบัดด้วยฮอร์โมน เพื่อช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายให้เป็นปกติ

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสิวอุดตัน

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดสิวอุดตัน สามารถทำได้ ดังนี้

    • รักษาความสะอาดบนใบหน้า ด้วยการล้างหน้าเป็นประจำ เพื่อช่วยขจัดน้ำมันและสิ่งสกปรกบนใบหน้า ควรระวังไม่ขัดถูใบหน้าแรงเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดรอยถลอก และเพิ่มโอกาสการเกิดสิวได้
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยรักษาความสมดุลของระดับฮอร์โมนในร่างกาย และช่วยให้ร่างกายได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่
    • สระผมเป็นประจำ เนื่องจากสิ่งสกปรกและน้ำมันอาจตกค้างอยู่บนเส้นผมและหนังศีรษะ และทำให้เกิดสิวได้
    • เลิกสูบบุหรี่
    • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 30/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา