backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

สิวซีสต์ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 20/02/2024

สิวซีสต์ สาเหตุ อาการ และการรักษา

สิวซีสต์ จัดอยู่ในกลุ่มสิวอักเสบที่รุนแรง และมีการสะสมของหนองใต้ผิวหนัง ที่เกิดจากเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้ว น้ำมันส่วนเกิน และแบคทีเรียอุดตันในรูขุมขน หากสังเกตว่ามีสิวซีสต์ปรากฏขึ้น ควรเข้ารับการวินิจฉัยโดยคุณหมอ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

คำจำกัดความ

สิวซีสต์ คืออะไร

สิวซีสต์ คือ สิวอักเสบชนิดรุนแรงในผิวหนังชั้นกลางหรือชั้นผิวหนังแท้ ที่มีลักษณะเป็นก้อนนูนแข็งและอาจมีหนอง โดยสิวซีสต์อาจมีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ และสามารถเกิดได้บนผิวหนังทั่วทั้งร่างกาย เช่น ใบหน้า คอ หลัง หน้าอก สิวซีสต์พบได้บ่อยในผู้ที่มีสภาพผิวมัน วัยรุ่น และผู้สูงอายุที่มีฮอร์โมนไม่สมดุล

อาการ

อาการของสิวซีสต์

อาการของสิวซีสต์ มีดังนี้

  • มีก้อนนูนใต้ผิวหนัง อาจมีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่วไปจนถึงขนาดใหญ่เท่าเหรียญ
  • มีหนองสะสมในสิว ซึ่งอาจแตกออกและกลายเป็นแผลเปิด
  • มีลักษณะแข็ง
  • บริเวณสิวอาจมีอาการบวมแดงและอักเสบ
  • รู้สึกเจ็บปวดเมื่อสัมผัส
  • มีอาการคัน

สาเหตุ

สาเหตุของสิวซีสต์

สาเหตุของสิวซีสต์ อาจมีดังนี้

  • ฮอร์โมนแอนโดรเจนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่น สตรีวัยหมดประจำเดือน สตรีตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ เพราะอาจกระตุ้นการผลิตน้ำมันส่วนเกินทำให้รูขุมขนอุดตันและเกิดสิวอักเสบ และอาจกลายเป็นสิวซีสต์ได้
  • ความเครียด อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เพิ่มขึ้น ที่ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป จนทำให้รูขุมขนอุดตันและกลายเป็นสิวซีสต์
  • ยาบางชนิด เช่น ลิเทียม (Lithium) ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ที่มีส่วนประกอบของโบรไมด์ (Bromide) ไดแลนติน (Dilantin) วิตามินบี 12 และไอโอไดด์ (Iodide) ที่อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากขึ้นจนอุดตันในรูขุมขนและทำให้เกิดสิวซีสต์

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของสิวซีสต์

ปัจจัยเสี่ยงของสิวซีสต์ มีดังนี้

  • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเป็นหรือเคยเป็นสิวซีสต์หรือสิวอักเสบเรื้อรัง ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดสิวซีสต์ได้เช่นเดียวกัน
  • การไม่ทำความสะอาดผิว โดยเฉพาะผู้ที่แต่งหน้าบ่อยและทำกิจกรรมใช้แรงและเหงื่อออกมาก เช่น การออกกำลังกาย การยกของหนัก เพราะความมันและสิ่งสกปรกบนผิวอาจสะสมในรูขุมขน และเสี่ยงต่อการเกิดสิวซีสต์ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและน้ำตาลสูง เช่น ช็อกโกแลต มันฝรั่งทอด ผลิตภัณฑ์จากนม ขนมหวาน ไอศกรีม สามารถกระตุ้นให้เกิดสิวซีสต์หรืออาจทำให้สิวซีสต์อักเสบและมีอาการแย่ลง
  • การสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป เพราะอาจทำให้ระบายเหงื่อและความอับชื้นได้ไม่ดี และเสี่ยงต่อการเกิดสิว
  • การใช้เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน

การรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การรักษาสิวซีสต์

การรักษาสิวซีสต์ มีดังนี้

  • เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) มีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง ลดการอักเสบของสิว และช่วยลดรอยแดง ควรใช้ร่วมกับยาในกลุ่มเรตินอยด์ (Retinoids) เพื่อให้การรักษาสิวซีสต์มีประสิทธิภาพมากขึ้นและป้องกันการดื้อยา โดยไม่ควรทายาเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์พร้อมกับยาเรตินอยด์
  • ยาเรตินอยด์ คือยากลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ เช่น เตรทติโนอิน (Tretinoin) อะดาพาลีน (Adapalene) ทาซาโรทีน (Tazarotene) ที่มีในรูปแบบครีมและเจลทาเฉพาะที่ ใช้เพื่อช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน โดยในช่วงแรกควรทายาเพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จนกว่าผิวจะคุ้นชินกับยา แล้วจึงปรับเป็นทาทุกวันสม่ำเสมอ และควรทาก่อนนอน เนื่องจากยานี้อาจทำให้ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) มีส่วนช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันการอุดตันในรูขุมขน โดยควรทาบริเวณที่เป็นสิวซีสต์วันละ 1-2 ครั้ง แล้วล้างออก หรือทาทิ้งไว้ข้ามคืนตามคำแนะนำของคุณหมอ ยานี้อาจมีผลข้างเคียง เช่น ผิวแดง ระคายเคือง และสีผิวเปลี่ยนแปลง
  • ยาคุมกำเนิด ที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินและเอสโตรเจน ใช้เพื่อช่วยปรับความสมดุลของฮอร์โมน ผลข้างเคียงของการรับประทานยาคุมกำเนิด ได้แก่ น้ำหนักขึ้น คลื่นไส้ เจ็บหน้าอก อีกทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และปัญหาหัวใจและหลอดเลือดได้ ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งก่อนใช้ยา
  • ยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทานอื่น ๆ เช่น เตตราไซคลีน (Tetracycline) แมคโครไลด์ (Macrolide) ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) ใช้เพื่อช่วยชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย อย่างไรก็ตาม สตรีตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเตตราไซคลีนเนื่องจากอาจส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวซีสต์ และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาอื่น ๆ ใช้เพื่อช่วยลดความมันส่วนเกินบนผิวหนังที่อาจส่งผลให้สิวขึ้น ยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ตับอักเสบ ลำไส้อักเสบ เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและทารกในครรภ์พิการ ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้
  • ฉีดยาสเตียรอยด์ เป็นการฉีดยาเข้าสู่สิวซีสต์โดยตรง เพื่อลดความเจ็บปวดและขนาดของสิวซีสต์ แต่อาจมีผลข้างเคียงคือทำให้ผิวหนังบางและสีผิวเปลี่ยนแปลงในบริเวณที่ฉีดได้
  • การระบายหนอง คุณหมออาจจำเป็นต้องกรีดสิวซีสต์เพื่อระบายหนองที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังออก เพื่อลดขนาดของสิวซีสต์และกำจัดสิ่งสกปรกภายในสิว อย่างไรก็ตาม อาจจำเป็นต้องรักษาควบคู่กับยาที่คุณหมอแนะนำ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสิวซีสต์

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสิวซีสต์ มีดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตสูง และน้ำตาลสูง เช่น อาหารทอด ขนมหวาน ข้าวขาว ขนมปังขาว เพราะอาจส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันบนใบหน้าเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดสิว ควรเลือกรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ และธัญพืชเป็นหลัก
  • ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยผลิตภัณฑ์ล้างหน้าสูตรอ่อนโยนที่เหมาะกับสภาพผิวและปราศจากน้ำหอม เพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่า สิ่งสกปรกและน้ำมันส่วนเกิน
  • เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า “Non-comedogenic” เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดสิวซีสต์
  • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า หรือเลือกเครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำมัน และควรเช็ดเครื่องสำอางออกให้หมดทุกครั้งก่อนนอน ไม่ควรนอนทั้งที่แต่งหน้า เพื่อป้องกันการอุดตันในรูขุมขน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า และการขัดผิวอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง ผิวหนังอักเสบ สิ่งสกปรกอุดตันในรูขุมขน ที่เสี่ยงต่อการเกิดสิวซีสต์ได้
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง เล่นเกม ออกกำลังกาย เพื่อช่วยลดปริมาณของฮอร์โมนคอร์ติซอล และป้องกันไม่ให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป
  • ปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยการทาครีมกันแดดที่มี SPF 30 ขึ้นไป และควรหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10.00-16.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีแดดแรงที่สุด หรืออาจสวมหมวกปีกกว้าง และสวมเสื้อผ้าปกคลุมร่างกาย เพื่อช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด ช่วยลดรอยดำที่เกิดหลังการเป็นสิวซีสต์ และลดอาการผิวไวต่อแสงระหว่างที่ใช้ยารักษาสิว
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิว แกะสิว หรือบีบสิวซีสต์ เพราะอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผิวหนังบริเวณอื่น ๆ และอาจทำให้อาการสิวซีสต์แย่ลง อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดรอยแผลเป็นได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 20/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา