backup og meta

โรคเมลิออยโดสิส ภาวะจากแบคทีเรีย ที่มาพร้อมกับความชุ่มชื้นในหน้าฝน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/09/2020

    โรคเมลิออยโดสิส ภาวะจากแบคทีเรีย ที่มาพร้อมกับความชุ่มชื้นในหน้าฝน

    เนื่องจากสภาพอากาศปัจจุบันจากหน้าฝนที่เรากำลังกระสบอยู่นี้ ทำให้หลาย ๆ คนคงดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างลำบากมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปทำงาน หรือไปโรงเรียน อีกทั้งยังอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดการเจ็บป่วยจาก โรคเมลิออยโดสิส ได้อีกด้วย แต่โรคนี้จะมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้างนั้น โปรดติดตามได้ในบทความของ Hello คุณหมอ วันนี้ ที่นำมาฝากกันค่ะ

    โรคเมลิออยโดสิส คืออะไร

    โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) คือ ภาวะการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Burkholderia pseudomallei ซึ่งมักก่อให้เกิดอาการติดเชื้อได้ตั้งแต่ผิวหนังภายนอก ไปยังการติดเชื้อในปอดภายใน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเท่าทัน หรือปล่อยเป็นระยะเวลานานอาจนำพามาสู่การสูญเสียถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว

    แบคทีเรียดังกล่าวสามารถแพร่กระจายออกไปสู่คน และสัตว์ได้อย่างง่ายดายโดยผ่านทางน้ำ หรือพื้นดิน ที่คุณสัมผัส อีกทั้งยังมักชอบอาศัยอยู่ตามภูมิอากาศในเขตร้อนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย และรวมถึงประเทศไทยของเราด้วยเช่นกัน

    ที่สำคัญหากผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือมีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน โรคตับ โรคมะเร็ง และภาวะปอดติดเชื้อ อยู่แต่เดิมแล้ว ก็อาจสามารถทำให้พวกเขามีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นโรคเมลิออยโดสิสได้ง่ายขึ้นกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไปอีกด้วย

    อาการติดเชื้อของ โรคเมลิออยโดสิส มีอะไรบ้าง

    อาการของโรคเมลิออยโดสิส อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริเวณที่เชื้อแบคทีเรียนี้ลงไปทำลายอวัยวะส่วนนั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะพบภายในปอด กระแสเลือด และผิวหนังทั่วทั้งร่างกาย โดยมีอาการที่อาจเผยให้คุณสังเกตได้ง่าย ๆ ดังนี้

    การติดเชื้อในปอด

    ถือว่าเป็นการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดของโรคเมลิออยโดสิส ที่อาจก่อให้เกิดอาการไอแบบมีเสมหะ เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ พร้อมกับปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และมีไข้ขึ้นสูงร่วม หากไม่เร่งเข้าขอรับคำปรึกษาจากแพทย์โดยไว การติดเชื้อดังกล่าวอาจมีการพัฒนาให้คุณนำไปสู่โรคปอดบวม และเข้าสู่ภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงได้ด้วยเช่นกัน

    • การติดเชื้อในกระแสเลือด

    หากคุณไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ที่ยังอยู่ในระยะการติดเชื้อในปอด ก็อาจทำให้เกิดการสะสมจนลุกลามมาถึงการติดเชื้อในกระแสเลือดที่อาจทำให้คุณมีอาการเผยออกมาเพิ่มความทุกข์ทรมานให้แก่ตนเองมากกว่าเดิมได้

    โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ป่วยเป็นโรคเมลิออยโดสิสจากแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดมักมีอาการ ปวดหัว เจ็บคอ หายใจถี่ ท้องร่วง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเกิดแผลหนองบริเวณผิวหนังภายนอก จนถึงอวัยวะส่วนในอย่างตับ ม้าม ต่อมลูกหมาก ซึ่งจัดได้ว่าเป็นอาการที่ค่อนข้างให้ความรุนแรงอย่างมากจนสามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดการเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

    • การติดเชื้อบริเวณผิวหนัง

    เมื่อคุณเกิดการสัมผัสกับน้ำ หรือพื้นดินต่าง ๆ มา โดยไม่ผ่านการทำความสะอาดตนเอง ก็อาจส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียจากโรคเมลิออยโดสิสนั้นแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด จนทำให้บางครั้งเกิดเป็นแผล และฝีขึ้นทั่วทั้งผิวหนังที่มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อสีขาวอักเสบ หรือเรียกอีกอย่างได้ว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะของแบคทีเรียกินเนื้ออยู่ก็ย่อมได้

    เราสามารถรักษาโรคเมลิออยโดสิส ได้อย่างไร

    ในการรักษาอาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคเมลิออยโดสิส และอาการของผู้ป่วยเบื้องต้นที่ประสบ แต่ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อแพทย์ทำการวินิจฉัยเก็บตัวอย่างของเชื้อแบคทีเรียในเลือดของคุณ ไปวิเคราะห์เสร็จสิ้น คุณอาจเริ่มได้รับการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ขั้นตอนที่หนึ่ง แพทย์อาจใช้เทคนิคการให้ยา เซฟตาซิดิม (Ceftazidime) และเมอโรพีเนม (Meropenem) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดดำ ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พร้อมทั้งติดตามอาการของคุณร่วมด้วย
    • ขั้นตอนที่สอง แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะมาให้คุณรับประทาน เพื่อช่วยในการต้านแบคทีเรียภายใน โดยอาจเลือกยาที่เหมาะสมกับสุขภาพ และอาการของคุณเช่น ซัลฟาเมทอกซาโซล (sulfamethoxazole) และ ด็อกซีไซคลีน (Doxycycline) เป็นต้น

    ที่สำคัญหากคุณไม่อยากเสี่ยงอาการเจ็บป่วยกับโรคนี้ ควรหลีกเลียงการสัมผัสกับดิน น้ำ เป็นเวลานาน หรืออาจสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างถุงมือ รองเท้าบูท หน้ากากอนามัย พร้อมทั้งการชำระร่างกาย และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ก็อาจสามารถช่วยให้คุณพ้นจากแบคทีเรียจากโรคเมลิออยโดสิสได้แล้วค่ะ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา