backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

สิวผดเกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 22/06/2022

สิวผดเกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

สิวผดเกิดจากอะไร เป็นคำถามที่หลายคนอาจสงสัย สิวผด คือ ปัญหาผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นเมื่อท่อเหงื่ออุดตันเนื่องจากสิ่งสกปรก เซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้ว และเหงื่อ โดยมีแสงแดดและความร้อนเป็นตัวกระตุ้น จนทำให้เกิดตุ่มพองเม็ดเล็ก ๆ ที่อาจหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษา อย่างไรก็ตาม หากมีอาการคันอย่างรุนแรง มีไข้ หนาวสั่น มีหนอง ควรพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาให้เร็วที่สุด

สิวผดเกิดจากอะไร

สิวผดเกิดจากการอุดตันของท่อ ทำให้เหงื่อไม่สามารถระบายออกได้ตามปกติ และสะสมอยู่ภายใต้ผิวหนัง จนทำให้เกิดการอักเสบขึ้น หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อยีสต์ โดยอาจมีปัจจัยบางอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิวผด ดังนี้

  • อายุ สิวผดอาจพบได้บ่อยในเด็กแรกเกิด โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด เนื่องจากท่อเหงื่อของเด็กอาจยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้ระบายเหงื่อได้ไม่ดี
  • สภาพอากาศร้อนชื้น
  • การออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรม ที่มีการเคลื่อนไหวและใช้แรงมาก
  • การสวมเสื้อผ้าหลายชั้น รัดรูป หรือระบายอากาศได้ไม่ดี
  • การนอนติดเตียงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เจ็บป่วย มีไข้สูง

อาการของสิวผด

สิวผดพบได้มากในบริเวณรักแร้ ใต้หน้าอก หน้าอก ขาหนีบ ข้อศอก เข่า เอว และหลัง โดยอาจมีลักษณะดังนี้

  • ตุ่มสีแดง หรือตุ่มใสเล็ก ๆ คล้ายผื่น
  • ในกรณีที่มีอาการผิวหนังอักเสบ อาจมีตุ่มหนองเล็ก ๆ ร่วมด้วย
  • อาการคันระคายเคือง

อาการของสิวผดที่ควรพบคุณหมอ มีดังนี้

  • มีไข้ หนาวสั่น
  • ผิวบวมแดง และมีอาการปวด
  • มีหนองไหลออกจากตุ่มสิว
  • มีอาการต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ

วิธีรักษาสิวผด

วิธีรักษาสิวผด อาจทำได้ดังนี้

  • คาลาไมน์โลชั่น ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันของสิวผด
  • ยาสเตียรอยด์ทาเฉพาะที่ สำหรับทาในบริเวณที่ได้รับผลกระทบเพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบ ใช้ในกรณีที่สิวผดมีอาการรุนแรง

นอกจากนี้ หากเป็นสิวผดที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อยีสต์ อาจมีวิธีการรักษา ดังนี้

  • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) มีในรูปแบบครีม โลชั่น แชมพูและแบบรับประทาน ใช้เพื่อช่วยรักษาโรคผิวหนังจากการติดเชื้อรา โดยช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและยีสต์ ควรใช้วันละ 1-2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด
  • ครีมโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและยีสต์ ควรทาบริเวณที่ได้รับผลกระทบวันละ 2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด
  • ครีมไมโคนาโซล (Miconazole) ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและยีสต์ ควรทาบริเวณที่ได้รับผลกระทบ 2 ครั้ง/วัน หรือตามที่คุณหมอกำหนด
  • ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) เป็นยาในรูปแบบรับประทานแบบเม็ดและแบบน้ำ ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อราและยีสต์ ควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด

การป้องกันสิวผด

การป้องกันสิวผด อาจทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้ารัดรูป หรือการสวมเสื้อผ้าหลายชั้น อีกทั้งควรเลือกสวมเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย เพราะมีน้ำหนักเบา และระบายอากาศได้ดี
  • หากอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน ควรเปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อช่วยถ่ายเทอากาศ ทำให้บริเวณนั้นอุณหภูมิเย็นขึ้น
  • เลือกอาบน้ำเย็นแทนน้ำอุ่น จำกัดเวลาการอาบน้ำ และเลือกใช้สบู่ที่เพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิว เพื่อป้องกันผิวแห้ง ที่อาจทำให้ผิวหนังเกิดความระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพื่อลดการอุดตันของท่อเหงื่อและรูขุมขน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 22/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา