สาเหตุ
สาเหตุของกลาก
กลากเกิดขึ้นจากการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ซึ่งเชื้อราที่อาจทำให้เกิดโรคกลาก มีดังนี้
- เชื้อราไตรโคไฟตัน (Trichophyton)
- เชื้อราไมโครสปอรัม (Microsporum)
- เชื้อราเอพิเดอร์โมไฟตัน (Epidermophyton)
เชื้อราเหล่านี้แพร่กระจายได้หลายช่องทาง ทั้งจากคนสู่คน จากสัตว์สู่คน จากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อรา จากดินและสิ่งสกปรกโดยรอบ เชื้อราเหล่านี้จะอาศัยอยู่บนเซลล์หนังกำพร้า ซึ่งเป็นชั้นนอกสุดของผิวหนัง เมื่อหมักหมมนานเข้า โดยเฉพาะหากเป็นผิวหนังบริเวณซอกพับ หรือบริเวณที่อับชื้นง่าย ก็อาจทำให้เชื้อราเจริญเติบโตและเกิดเป็นโรคกลากได้ในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของกลาก
หากมีภาวะดังต่อไปนี้ อาจทำให้เสี่ยงเป็นกลากได้ง่ายขึ้น
- รักษาความสะอาดร่างกายได้ไม่ดีนัก เช่น ไม่ค่อยอาบน้ำ
- ไม่ค่อยขัดขี้ไคล ทำให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วสะสมอยู่บนผิวมากเกินไป จนอาจหมักหมม ติดเชื้อรา และเป็นกลากได้
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่สะอาด อับชื้น หรือแบ่งปันเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าขนหนู ผ้าห่ม ร่วมกับผู้อื่น
- อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตร้อน และเขตร้อนชื้น
- ทำงานที่ต้องสัมผัสกับดินเป็นประจำ เช่น ชาวสวน ชาวไร่
- สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง
- มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคกลาก
คุณหมอสามารถวินิจฉัยโรคกลากได้โดยง่าย เพียงแค่การตรวจดูอาการที่ผิวหนังก็อาจทราบแล้วว่าเป็นโรคกลากหรือไม่ เนื่องจากกลากจะมีลักษณะอาการเฉพาะ คือ อาการผื่นแดงเป็นวงกลมที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม บางครั้งคุณหมออาจต้องใช้การตรวจวินิจฉัยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น
- การนำตัวอย่างผิวหนังที่มีอาการไปตรวจด้วยการเพาะเชื้อ เพื่อดูว่ามีเชื้อราหรือไม่
- การนำตัวอย่างผิวหนังไปส่องกล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูความผิดปกติของผิวหนัง และตรวจหาเชื้อรา
การรักษากลาก
การรักษากลาก สามารถทำได้ด้วยวิธีดังตัวอย่างต่อไปนี้
- การใช้ยา โดยปกติ การใช้ยาฆ่าเชื้อราสำหรับรักษากลากที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาเป็นประจำตามคำแนะนำของเภสัชกรหรือเอกสารกำกับยา ก็สามารถรักษากลากได้ แต่หากเป็นกลากบนหนังศีรษะหรือเล็บ อาจจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อราแบบรับประทาน ที่ออกฤทธิ์ค่อนข้างแรงกว่ายาทาฆ่าเชื้อราทั่วไป
- การปรับเปลี่ยนนิสัย นอกเหนือจากการใช้ยาฆ่าเชื้อรา คุณหมออาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อช่วยรักษาโรคกลาก เช่น รักษาความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ ทำความสะอาดเครื่องนอน เสื้อผ้า และผ้าเช็ดตัว เป็นประจำ
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยบรรเทาและป้องกันกลากได้ อาจมีดังนี้
- รักษาความสะอาดของผิวหนัง อาบน้ำเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดมากเกินไป เพื่อไม่ให้เหงื่อออกมากจนหมักหมมและอับชื้น
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด แห้ง ไม่อับชื้น
- ทำความสะอาดเครื่องนอน และผ้าเช็ดตัว เป็นประจำ โดยปกติคือ ซักอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- หลังจากสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงหรือดินทราย ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย