backup og meta

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง คือ โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่ไม่ใช่โรคติดต่อ พบได้ในคนทุกวัยแต่พบได้บ่อยเด็ก มักเกิดจากกรรมพันธุ์ ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดง ผิวแห้งเป็นขุย อาจทำให้รู้สึกคันและระคายเคือง และผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ไอ จาม น้ำมูกไหล ร่วมด้วย เมื่อแกะหรือเกาผิวหนังส่วนที่มีปัญหา อาจทำให้เกิดแผลหรือติดเชื้อได้ง่าย อาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนังมักเป็น ๆ หาย ๆและกำเริบเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ขนสัตว์ ฝุ่นละออง อาหารที่แพ้ โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันอาการกำเริบได้ เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้

[embed-health-tool-bmi]

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง คืออะไร

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง หรือที่เรียกว่า โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic dermatitis) เป็นภาวะผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ใช่โรคติดต่อที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย สาเหตุของการเกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนังยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากการมีลักษณะทางกรรมพันธุ์ผิดปกติ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ไวเกินไป จนส่งผลให้เกิดอาการผิวแห้ง คัน ระคายเคือง อักเสบ หรือสะเก็ดแผล หากแกะหรือเกาผิวหนังอาจทำให้เป็นแผล ติดเชื้อ และเกิดเป็นตุ่มแดงที่มีหนองไหลออกมา เมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้อาจทำให้อาการแพ้ที่ผิวหนังกำเริบอยู่ช่วงหนึ่งแล้วอาจหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา หากมีปัจจัยมากระตุ้นผิวหนังให้เกิดอาการแพ้ เช่น ฝุ่นละออง สารเคมี อาหาร มลพิษ ก็อาจทำให้อาการกำเริบหรือเป็น ๆ หาย ๆ ได้

ปัจจัยที่กระตุ้นอาการของ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

ปัจจัยกระตุ้นอาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาจมีดังนี้

  • สบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า ผงซักฟอก
  • เสื้อผ้า เช่น ผ้าขนสัตว์ ผ้าเนื้อหยาบหนา
  • เครื่องสำอาง เช่น น้ำหอม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว โฟมล้างหน้า
  • ละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง เชื้อรา
  • ขนสัตว์ เช่น ขนสุนัข ขนแมว
  • ควันบุหรี่
  • ความเครียดและอารมณ์โกรธ
  • อากาศแห้ง และความชื้นในอากาศต่ำ
  • การอาบน้ำนานเกินไป
  • สภาพผิวที่แห้งกว่าปกติ
  • การมีเหงื่อออก
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์
  • อาหารบางชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่ว ไข่

สัญญาณและอาการของ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

อาการของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง สามารถเกิดขึ้นได้กับผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย และอาจมีอาการที่แตกต่างไปในแต่ละคน ดังนี้

  • ผิวแห้งแตกลอก ผิวเป็นขุย
  • คันผิวหนัง
  • มีตุ่มนูนที่มีของเหลวอยู่ภายใน
  • มีผื่นแดง เป็นสะเก็ด บริเวณใบหน้า แก้ม คอ แขน ขา ข้อศอก ข้อพับ และหลังเข่า
  • ผิวบวมแดงจากการเกาผิวหนัง
  • ในกรณีที่อยู่ในระยะเรื้อรัง ผิวหนังอาจหนาตัวและเป็นรอยสีแดงอ่อน ๆ หรือสีน้ำตาล

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ของโรคภูมิแพ้ด้วย เช่น น้ำตาไหล คันตา ไอ จาม น้ำมูกไหล แน่นหน้าอก

การรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง

การรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาจทำได้ดังนี้

  • การใช้ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) เพื่อบรรเทาอาการคันและระคายเคืองผิวหนัง ที่มักรุนแรงในเวลากลางคืน
  • การใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบและคัน
  • การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ ในกรณีที่แพ้รุนแรงจนเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาทาในกลุ่มแคลซินูลิน อินฮิบิเตอร์ (Calcineurin inhibitor) อย่างยาทาโครลิมัส (Tacrolimus) ยาพิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) เพื่อลดอาการแพ้ทางผิวหนัง
  • การบำบัดด้วยแสง (Light therapy) เป็นการฉายรังสียูวีเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต และบรรเทาอาการอักเสบของผิวหนัง
  • การทำแผลชนิดเปียก (Wet dressing) เป็นการทำแผลเพื่อชำระคราบหนอง สะเก็ด บริเวณแผลออกและให้ความชุ่มชื้นบริเวณผิวหนัง เหมาะกับแผลเปิดหรือแผลติดเชื้อ เริ่มจากล้างมือให้สะอาด เช็ดมือให้แห้ง แล้วใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบบริเวณแผล จากนั้นใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือประคบแผลเป็นเวลา 10-15 นาที แล้วจึงพันผ้าเพื่อปิดแผล ควรทำอย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาจทำได้ดังนี้

  • เพิ่มความชื้นในอากาศภายในห้องพักด้วยเครื่องทำความชื้น อาจช่วยไม่ให้ผิวหนังแห้งและคัน
  • ทามอยส์เจอร์ไรซ์เจอร์เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง อาจช่วยลดอาการผิวแห้ง คันและระคายเคืองได้
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำนานจนเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวแห้งได้ ควรอาบน้ำไม่เกิน 10-15 นาที/ครั้ง ใช้น้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้องแทนการอาบด้วยน้ำร้อน
  • หลังอาบน้ำควรซับตัวให้แห้งด้วยผ้าเช็ดตัวสะอาดที่ซักทุก ๆ 2-3 วัน และไม่ควรเช็ดผิวแรง ๆ เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองและแห้งลอกได้
  • หลีกเลี่ยงการแกะ เกา บริเวณผิวหนังที่อักเสบและระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ขนสัตว์ ฝุ่นละออง น้ำหอม
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แพ้ เช่น ถั่ว อาหารทะเล กุ้ง ไข่ นมบางชนิด
  • ตัดเล็บมือให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคสะสมอยู่ใต้เล็บ ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง
  • สวมถุงมือเมื่อต้องสัมผัสกับสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้
  • สวมเสื้อผ้าที่หลวมสบาย ระบายอากาศได้ดี และไม่รัดแน่นจนทำให้ผิวระคายเคืองหรือถูกเสียดสีมากเกินไป

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Atopic Dermatitis. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/eczema/eczema-basics. Accessed August 26, 2022

Atopic dermatitis. https://dermnetnz.org/topics/atopic-dermatitis. Accessed August 26, 2022

Eczema (atopic dermatitis). https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/eczema-atopic-dermatitis. Accessed August 26, 2022

ECZEMA TYPES: ATOPIC DERMATITIS OVERVIEW. https://www.aad.org/public/diseases/eczema/types/atopic-dermatitis. Accessed August 26, 2022

Atopic dermatitis (eczema). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/atopic-dermatitis-eczema/symptoms-causes/syc-20353273. Accessed August 26, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/04/2024

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา สาเหตุ อาการ และการรักษา

ผิวหนังอักเสบ (Eczema หรือ Dermatitis) สาเหตุ อาการ วิธีรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/04/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา