backup og meta

โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา สาเหตุ อาการ และการรักษา

โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา สาเหตุ อาการ และการรักษา

โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อราชนิดต่าง ๆ ที่ผิวหนัง สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากการดูแลสุขอนามัยที่ไม่ถูกต้อง หรือการสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อรา จนส่งผลให้ผิวหนังอักเสบ คัน ระคายเคือง บางคนอาจมีอาการรุนแรงจนทำให้เกิดแผลได้ ดังนั้น จึงควรเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาโดยคุณหมอ พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรา

[embed-health-tool-bmi]

คำจำกัดความ

โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา คืออะไร

โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา คือ ปัญหาทางผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราหลากหลายสายพันธุ์ ที่ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในดิน น้ำ ต้นไม้ หญ้า รวมถึงพื้นบ้าน สัตว์เลี้ยง และสิ่งของต่าง ๆ หากสัมผัสกับผิวหนังอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองผิว นำไปสู่อาการผิวหนังอักเสบได้

อาการ

อาการของโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา

อาการของโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา อาจสังเกตได้ดังนี้

สาเหตุ

สาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา

สาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อราเกิดขึ้นจากการติดเชื้อราชนิดต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • กลาก เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราไตรโครไฟตอน ไมโครสปอร์รัม (Trichophyton Microsporum) และเอพิเดอร์โมไฟตอน (Epidermophyton) ที่อาศัยอยู่ในเซลล์ชั้นนอกของผิวหนัง สามารถติดต่อผ่านทางคนสู่คน สัตว์สู่คน รวมถึงการสัมผัสกับสิ่งรอบตัวที่ปนเปื้อนเชื้อรา เช่น ดิน ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน แปรงหวีผม สามารถสังเกตกลากได้จากรอยวงสีแดง น้ำตาล หรือม่วง บนผิวหนัง มีขุยสีขาวหรือตกสะเก็ดเล็กน้อยบริเวณขอบผื่น บริเวณแขน ขา ลำตัว และก้น ร่วมกับอาการคัน บางคนอาจมีรอยกลากกระจายทั่วร่างกาย
  • น้ำกัดเท้า หรือฮ่องกงฟุต เกิดจากการติดเชื้อราชนิดเดียวกับกลาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับเท้าข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ทำให้เกิดอาการเจ็บแสบ มีสะเก็ด ผิวลอก แผลพุพอง ผิวเท้าแตก อาการคัน สีผิวเปลี่ยนเป็นสีแดง ม่วง
  • เกลื้อน เกิดจากการเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ทำให้เกิดจุดเล็ก ๆ รอบรูขุมขนหรืออาจรวมตัวกันเป็นปื้นขนาดใหญ่ บางคนอาจมีสีซีดหรือสีเข้มกว่าสีผิวปกติ พบได้บ่อยในบริเวณผิวหนังที่มีการผลิตน้ำมันปริมาณมาก เช่น ใบหน้า คอ หน้าอก และหลัง
  • การติดเชื้อราแคนดิดา (Candida) พบได้มากในช่องปาก ลำคอ ลำไส้ และช่องคลอด ทำให้เกิดจุดสีขาวบริเวณกระพุ้งแก้ม ลิ้น เพดานปาก ลำคอ อาการแสบภายในช่องปากขณะรับประทานอาหาร รับรสชาติไม่ได้ มีรอยแตกที่มุมปาก หากเป็นบริเวณช่องคลอดอาจมีอาการระคายเคือง ตกขาวเป็นน้ำใสหรือข้น และแสบร้อนช่องคลอดขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์
  • เชื้อราที่เล็บ คือการติดเชื้อรากลุ่ม Dermatophyte ที่พบได้บ่อยตามสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีความชื้น เช่น สระน้ำ ห้องอาบน้ำ สามารถเกิดได้ทั้งกับเล็บมือและเล็บเท้า ทำให้เล็บหนาหรือเล็บเปราะบาง แตกหักง่าย เล็บผิดรูป มีกลิ่นเหม็น มีขุยหนาใต้เล็บ และเล็บอาจเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เหลือง ขาว 

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา มีดังนี้

  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ พบได้มากในผู้ป่วยที่รักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ รวมถึงผู้ที่ใช้ยารักษาโรคเอดส์ โรคมะเร็ง ปัญหาเกี่ยวกับตับอ่อน
  • การใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว
  • การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ที่ต้องสัมผัสกับผู้อื่น
  • การสวมเสื้อผ้ารัดแน่น ทำให้ระบายอากาศได้ไม่ดี
  • สภาพอากาศที่อับชื้น
  • การเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคอ้วน
  • การไม่สวมรองเท้าเมื่อสัมผัสกับพื้นผิวที่เปียกน้ำ เช่น รอบสระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำรวม แอ่งน้ำขัง

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา

คุณหมออาจวินิจฉัยโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อราด้วยการนำตัวอย่างเศษผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อหาดูว่าเป็นเชื้อชนิดใด

การรักษาโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา

การรักษาโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา อาจรักษาได้ด้วยการทายาต้านเชื้อในรูปแบบครีม โลชั่น หรือขี้ผึ้ง บริเวณที่มีอาการเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ โดยยาต้านเชื้อราที่คุณหมอแนะนำ มีดังนี้

  • โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) คือยาที่ใช้รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา
  • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)  เป็นยาต้านเชื้อรามีในรูปแบบครีมและแชมพู ใช้สำหรับต้านเชื้อราที่ผิวหนังและหนังศีรษะ ช่วยป้องกันการเกิดเชื้อราซ้ำ สำหรับการใช้ทาบนผิวหนัง ควรทายาก่อนลงโลชั่นหรือครีมอื่น ๆ เป็นเวลา 30 นาที วันละ 1 ครั้ง ทาต่อเนื่อง 2-4 สัปดาห์ สำหรับยาแบบแชมพู ควรใช้สระผมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 2-4 สัปดาห์ และควรใช้จนกว่าอาการจะดีขึ้น หรือจนกว่าคุณหมอจะอนุญาตให้หยุดใช้
  • ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) เป็นยาที่ช่วยรักษาการติดเชื้อราที่รุนแรง ใช้เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา มีในรูปแบบสารละลาย และแคปซูล ควรรับประทานวันละ 1-2 ครั้ง สำหรับผู้ที่มีกรดในกระเพาะอาหารมาก ควรรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังจากยาลดกรด 1-2 ชั่วโมง
  • ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) คือยายับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิด เป็นยาในรูปแบบรับประทานวันละ 1 ครั้ง
  • ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium sulfide) เป็นยาในรูปแบบโลชั่นและแชมพู เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคกลาก เกลื้อน และการติดเชื้อราอื่น ๆ โดยใช้ทาบนผิวหนังวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อราบนหนังศีรษะ ควรใช้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นลดลงเหลือสัปดาห์ละ 1 ครั้งใน สัปดาห์ถัดไป

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา

การปรับไลฟ์สไตล์เพื่อป้องกันโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา อาจทำได้ดังนี้

  • ไม่ควรใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า หวี
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง เพราะเชื้อราอาจอยู่บนผิวหนังของสัตว์และแพร่มาสู่คนได้
  • ควรล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสกับสิ่งรอบตัว เช่น ประตู ราวจับบันได ดิน ทราย สัตว์เลี้ยง
  • สวมเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย และไม่ควรใส่เสื้อผ้าหลายชั้นในสภาพอากาศร้อน เพราะอาจทำให้เหงื่อออกมาก จนอับชื้น และมีสิ่งสกปรกสะสมใต้ร่มผ้า
  • เช็ดตัวหลังอาบน้ำให้แห้งสนิท เพื่อลดความอับชื้นที่อาจเป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา
  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า ควรสวมร้องเท้าเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีน้ำขัง เช่น ขอบสระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำรวม และควรล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดเท้าให้แห้ง
  • ตัดเล็บเท้าและเล็บมือให้สั้นเพื่อลดการสะสมของเชื้อราในเล็บ และไม่ควรใช้กรรไกรตัดเล็บร่วมกับผู้อื่น
  • สวมรองเท้าที่พอดีกับขนาดเท้า เพื่อป้องกันการขับเหงื่อที่มากเกินไปขณะใส่ และควรทิ้งหรือทำความสะอาดรองเท้าเก่าเพราะอาจมีการสะสมของเชื้อรา
  • ควรใช้ยาทาเชื้อราตามที่คุณหมอแนะนำอย่างสม่ำเสมอจนกว่าจะหาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tinea versicolor. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tinea-versicolor/symptoms-causes/syc-20378385. Accessed March 22, 2022 

Ringworm. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/ringworm-body/symptoms-causes/syc-20353780. Accessed March 22, 2022 

tinea cruris. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/jock-itch/symptoms-causes/syc-20353807. Accessed March 22, 2022 

Candida infection of the skin. https://medlineplus.gov/ency/article/000880.htm. Accessed March 22, 2022 

Yeast Skin Infection. https://www.uofmhealth.org/health-library/abr7621. Accessed March 22, 2022 

Athlete’s foot. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/athletes-foot/symptoms-causes/syc-20353841. Accessed March 22, 2022 

FUNGUS INFECTIONS: PREVENTING RECURRENCE. HTTPS://WWW.AOCD.ORG/PAGE/FUNGUSINFECTIONSP. Accessed March 22, 2022 

Fungal Infections of the Skin. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/fungal-infections-skin. Accessed March 22, 2022 

Clotrimazole Solution, Non- – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-4316/clotrimazole-topical/details. Accessed March 22, 2022 

Ketoconazole Cream – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-75147-1052/ketoconazole-topical/ketoconazole-cream-topical/details. Accessed March 22, 2022 

Fluconazole – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-3780-5052/fluconazole-oral/fluconazole-oral/details. Accessed March 22, 2022 

Itraconazole – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-128-2179/itraconazole-oral/itraconazole-oral/details. Accessed March 22, 2022 

Selenium Sulfide. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682258.html. Accessed March 22, 2022  

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/07/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้น ที่ควรระวัง มีกี่โรค อะไรบ้าง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง และการป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 20/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา