3. โรคผื่นกุหลาบ
เป็นโรคผิวหนังที่มักเกิดในช่วงอายุ 10-35 ปี โดยมีสาเหตุไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณหน้าอก หลัง และหน้าท้อง มีผื่นเป็นวงแดงในลักษณะวงรีหรือวงกลมขนาดใหญ่ ประมาณ 4 นิ้ว หรืออาจมีตุ่มแดงเล็ก ๆ กระจายทั่วลำตัว บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ เจ็บคอ และเหนื่อยล้าง่ายร่วมด้วย
โรคนี้อาจหายได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการแย่ลง หรือมีผื่นขึ้นเรื้อรัง ควรพบคุณหมอทันที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการคันอย่างรุนแรง ผิวที่ได้รับผลกระทบเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีน้ำตาลคล้ำ
การรักษาผื่นกุหลาบ
วิธีการรักษาผื่นกุหลาบ มีดังนี้
- ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) มีในรูปแบบเม็ดและยาน้ำ ใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสบางชนิด โดยคุณหมออาจให้รับประทานยา ซึ่งควรแจ้งให้คุณหมอทราบหากกำลังใช้ยารักษาอื่น ๆ สมุนไพร หรือวิตามิน รวมถึงควรแจ้งคุณหมอหากมีสภาวะที่ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เอชไอวี โรคไต ผลข้างเคียงของยา อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ ท้องร่วง ปวดศีรษะ ปวดท้อง นอกจากนี้ หากมีอาการแย่ลง เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นผิดปกติ ผื่นคัน หรือผิวบวม ควรพบคุณหมอทันที
- ยาแก้แพ้ อาจใช้รักษาผู้ป่วยที่มีผื่นและอาการคัน
- ยาทาเฉพาะที่ เช่น คาลาไมน์ ซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน ระคายเคืองผิว และช่วยลดอาการบวม
- การบำบัดด้วยแสง คุณหมออาจบำบัดด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต เพื่อช่วยให้อาการของผื่นดีขึ้น แต่อาจส่งผลข้างเคียงให้เกิดรอยด่างดำ
4. โรคฟิฟธ์ (Fifth Disease)
โรคฟิฟธ์ เกิดจากการติดเชื้อพาร์โวไวรัส บี19 (Parvovirus B19) พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียนและในช่วงฤดูหนาว สามารถแพร่กระจายผ่านทางเลือด สารคัดหลั่ง และละอองฝอยจากการไอหรือจามที่มีเชื้อไวรัสปะปน
อาการโรคฟิฟธ์อาจสังเกตได้จาก
- มีผื่นแดงขึ้นบนใบหน้า โดยเฉพาะในบริเวณแก้ม หลังจาก 2-3 วันอาจพบผื่นในบริเวณอื่น เช่น หน้าอก หลัง แขน ขา ก้น
- เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- เหนื่อยล้าง่าย
- ปวดกล้ามเนื้อและข้อ พบได้ในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
การรักษาโรคฟิฟธ์
ไม่มียาที่ใช้รักษาโรคฟิฟธ์โดยเฉพาะ แต่ปกติแล้วโรคฟิฟธ์อาจหายเองได้ภายใน 4-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน ตามสุขภาพของแต่ละคน นอกจากนี้ คุณหมออาจให้ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการคันของผื่นที่ขึ้นตามร่างกาย และอาจให้ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เพื่อลดไข้ และบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
5. โรคภูมิแพ้ผิวหนัง
โรคภูมิแพ้ผิวหนัง มีสาเหตุมาจากการแพ้สารระคายเคืองต่าง ๆ เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ ละอองเกสรดอกไม้ มลพิษ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำหอม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว สบู่ หรืออาจเกิดจากการแพ้อาหารบางชนิด นอกจากนี้ ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหอบหืด ภูมิแพ้ ไข้ละอองฟาง ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังได้เช่นกัน อาการที่พบบ่อยของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง คือ อาการคัน ผิวแห้ง ผื่นเป็นวงแหวน หรือเป็นปื้นแดงขนาดใหญ่ บางคนอาจมีตุ่มนูนใส ๆ ที่มีน้ำอยู่ด้านใน หากสังเกตว่ามีอาการผื่นเป็นสะเก็ด มีหนอง เป็นแผล ควรเข้าพบคุณหมอทันทีเพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนการติดเชื้อรุนแรง
การรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
วิธีการรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง มีดังนี้
- ยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจแนะนำให้ทายาปฏิชีวนะในรูปแบบครีม หรืออาจให้รับประทานยาในรูปแบบยาเม็ด เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- เพรดนิโซโลน (Prednisolone) อาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง แต่อาจให้รับประทานระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- สารยับยั้งแคลซินิวริน เช่น พิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) ทาโครลิมัส (Tacrolimus) ที่อาจช่วยกดภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดปฏิกิริยาแพ้เมื่อสัมผัสกับสารระคายเคือง ระหว่างที่ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดเพราะทำให้ผิวไวต่อแสง
- การทำแผลแบบเปียก (Wet dressings) สำหรับผู้ที่มีแผลจากผิวหนังอักเสบ เช่น แผลหนอง ตุ่มใส โดยทำความสะอาดแผลให้สะอาดด้วยน้ำเกลือ จากนั้นจะทายาฆ่าเชื้อ หรือใช้ผ้าก๊อซชุบยาฆ่าเชื้อเข้าไปอุดในแผล และพันผ้าพันแผลปิดทับ
- การบำบัดด้วยแสง คุณหมออาจฉายรังสียูวีเอและยูวีบีในบริเวณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ การฉายรังสีอาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง และผิวเสื่อมก่อนวัยอันควร อีกทั้งยังไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก เนื่องจากผิวของเด็กค่อนข้างบอบบาง
- ปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว จำกัดเวลาอาบน้ำเพื่อป้องกันผิวแห้ง และเช็ดตัวให้แห้งสนิท จากนั้นควรบำรุงผิวด้วยมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้น และควรทายาตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อบรรเทาอาการ และป้องกันการเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังซ้ำ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย