นอกจากนี้ คุณหมออาจตรวจช่องท้องเพิ่มเติม ด้วยการส่องกล้องตรวจภายในร่างกายหรือทำซีที สแกน (CT Scan) เพื่อสรุปให้แน่ชัดว่าผู้ป่วยเป็นโรคลำไส้แปรปรวน
การรักษา
- การปรับพฤติกรรม ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจทำให้โรคลำไส้แปรปรวนกำเริบได้ เช่น ของมัน ของทอด อาหารขยะ
- การรับประทานยา เช่น อีลักเซโดลีน (Eluxadoline) มีคุณสมบัติช่วยลดการหดตัวของกล้ามเนื้อภายในลำไส้ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้ และไลนาโคลไทด์ (Linaclotide) มีคุณสมบัติที่อาจช่วยให้ขับถ่ายคล่องขึ้น โดยยานี้มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกจากโรคลำไส้แปรปรวน
-
โรคตับอ่อนอักเสบ
โรคตับอ่อนอักเสบ เกิดจากการที่เอนไซม์ย่อยอาหาร เริ่มทำงานขณะอยู่ในตับอ่อน ทั้งที่ปกติเอนไซม์ชนิดนี้จะทำงานขณะที่อยู่ในลำไส้ จึงส่งผลให้เซลล์ตับอ่อนถูกทำลายและตับอ่อนมีอาการอักเสบตามมา
โดยทั่วไป โรคตับอ่อนอักเสบมักเป็นผลจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคพิษสุราเรื้อรัง ท่อน้ำดีอุดตัน มะเร็งตับอ่อน และการมีไตรกลีเซอไรด์สูงในกระแสเลือด
ทั้งนี้ อาการหลัก ๆ ของโรคตับอ่อนอักเสบ คือ ปวดท้องตรงกลางอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน โดยอาการอาจเกิดขึ้นเพียง 10 นาทีแล้วหายไปหรืออาจปวดท้องนาน 1 ชั่วโมงก็ได้ นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ เช่น เป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง
การวินิจฉัย
เนื่องจากโรคตับอ่อนอักเสบมักเกิดจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี ในการวินิจฉัยโรค คุณหมอมักเลือกตรวจด้วยวิธีซีที สแกนหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อหาข้อสรุปว่าผู้ป่วยเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่
นอกจากนี้ อาจมีการตรวจโรคแบบอื่น ๆ เช่น การส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์ (Endoscopic Ultrasound) เพื่อหาการอุดตันบริเวณตับอ่อนหรือท่อน้ำดี
การรักษา
- การรับประทานยาแก้ปวด
- การรับของเหลวทางหลอดเลือด เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เนื่องจากร่างกายใช้พลังงานและของเหลวที่สะสมไว้เพื่อฟื้นฟูสุขภาพของตับอ่อน
- การรักษาอาการป่วยที่เป็นสาเหตุของโรคตับอ่อนอักเสบ เช่น การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี การบำบัดโรคพิษสุราเรื้อรัง การผ่าตัดขยายท่อน้ำดีที่ตีบหรืออุดตัน
-
โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ
โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ เป็นอาการป่วยที่พบได้ในทุกวัย เกิดจากเชื้อโรคอย่างโนโรไวรัส (Norovirus) หรือโรต้าไวรัส (Rotavirus) ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและเครื่องดื่ม หรือตามช้อนส้อมและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ
โดยทั่วไป เมื่อเป็นโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และมีไข้อ่อน ๆ
การวินิจฉัย
ในการวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ คุณหมอจะพิจารณาจากอาการ และอาจตรวจตัวอย่างอุจจาระ เพื่อดูว่าอาการเกิดจากเชื้อโรคชนิดใด
การรักษา
เนื่องจากโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งโดยปกติจะไม่มียาสำหรับรักษาหรือต้านไวรัสให้หายขาด ดังนั้น คุณหมอมักแนะนำให้ดูแลตัวเองจนกว่าอาการจะดีขึ้นด้วยวิธีการต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้ย่อยยาก เช่น อาหารทอด เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารที่มีส่วนผสมของกะทิ รวมถึงอาหารทะเล เครื่องดื่มมีคาเฟอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- จิบน้ำสม่ำเสมอ และดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานยาแก้ท้องเสีย เช่น โลเพอราไมด์ (Loperamide)
นอกจากโรคที่ยกมาข้างต้น ปวดท้องตรงกลางยังอาจเป็นอาการของโรคต่อไปนี้
- กระเพาะอาหารแปรปรวน
- มะเร็งลำไส้เล็ก
- มะเร็งลำไส้ใหญ่
- หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
- ต่อมน้ำเหลืองเยื่อยึดลำไส้เล็กอักเสบ
- ไส้เลื่อน
- ไส้ติ่งอักเสบ
- นิ่วในไต
นอกจากนั้น ในบางกรณี ปวดท้องตรงกลางอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติเกี่ยวกับรังไข่หรือมดลูก เช่น
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- ถุงน้ำในรังไข่
- อุ้งเชิงกรานอักเสบ
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก
- มะเร็งรังไข่
- มะเร็งมดลูก
ปวดท้องตรงกลาง เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
ควรไปพบคุณหมอเมื่อปวดท้องตรงกลางนานเกิน 24 ชั่วโมง หรือปวดท้องร่วมกับมีอาการต่อไปนี้
- อาเจียน
- แสบอวัยวะเพศเมื่อปัสสาวะ
- ไข้ขึ้นสูง
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย