ตั้งแต่อาการท้องอืด ไปจนถึงอาการของโรคกรดไหลย้อน หลายคนคงอาจเคยมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารมาแล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนิสัยการกิน และการออกกำลังกาย ถือเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันโรคทางระบบอาหาร แต่หากการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่างไม่ทำให้อาการของ โรคระบบทางเดินอาหาร ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
โรคระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย
ระบบทางเดินอาหาร มีหน้าที่ช่วยให้ร่างกายย่อยอาหาร และดูดซึมสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ รวมถึงช่วยกำจัดของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งระบบทางเดินอาหารจะประกอบด้วยอวัยวะดังต่อไปนี้
- ปาก
- หลอดอาหาร
- ตับ
- กระเพาะ
- ถุงน้ำดี
- ลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก
- ตับอ่อน
- ทวารหนักและไส้ตรง
นอกจากนี้ โรคระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย แบ่งเป็นอาการเรื้อรังของทางเดินอาหารส่วนบน และทางเดินอาหารส่วนล่าง ดังนี้
ทางเดินอาหารส่วนบน
อาการของทางเดินอาหารส่วนบนอาจหมายถึง การเรอบ่อยเกินไป แสบคอหรือแสบร้อนทรวงอก คลื่นไส้ อาเจียน หรือเจ็บปวดบริเวณท้องส่วนบน ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย ได้แก่
- โรคกรดไหลย้อน
- แผลในกระเพาะอาหาร
- โรคกระเพาะ
- อัมพาตกระเพาะ (Gastroparesis)
- โรคนิ่ว
ทางเดินอาหารส่วนล่าง
ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นบริเวณทางเดินอาหารส่วนล่าง อาจไม่ได้หมายความว่าจะเกิดจากลำไส้เสมอไป เนื่องจากความเจ็บปวดจากอวัยวะภายในอื่นๆ อาจแผ่ขยายจนทำให้เกิดความเจ็บปวดที่บริเวณอื่น อย่างไรก็ตาม มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารมากมาย ที่สามารถทำให้เกิดอาการที่เกี่ยวกับลำไส้ ได้แก่ เจ็บปวดบริเวณท้องส่วนล่าง ตะคริวในลำไส้ และปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่าย ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากโรคระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย ดังนี้
- โรคซิลิแอค (Celiac disease)
- โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ (Diverticular disease)
- กลุ่มโรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory Bowel Disease, IBD)
- โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome, IBS)
วิธีป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร
ลดการกินอาหารมื้อใหญ่
เมื่อคุณกินอาหารมื้อใหญ่ อาจทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนัก ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนเนื่องจากกรดเกินในกระเพาะ และอาจมีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย ดังนั้นจึงอาจลดการกินอาหารมื้อใหญ่ และกินอาหารมื้อเล็กลง แต่กินบ่อยขึ้น โดยคุณอาจกินอาหาร 5-6 มื้อต่อวัน ในปริมาณที่น้อยลง และต้องไม่ลืมที่จะกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในทุกๆ มื้อ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการกินแล้วนอน หรือเอนตัวลงนอนทันทีหลังกินอาหาร เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อน
ดื่มน้ำให้มาก
น้ำมีส่วนช่วยชะล้างระบบทางเดินอาหาร และยังช่วยป้องกันอาการท้องผูก เนื่องจากน้ำช่วยให้อุจจาระนุ่มขึ้น มากไปกว่านั้นน้ำยังมีส่วนช่วยให้ระบบทางเดินอาหารดูดซึมสารอาหารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นจึงควรดื่มน้ำอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน และลดการดื่มน้ำหวาน เนื่องจากการดื่มน้ำที่เพิ่มน้ำตาลสามารถทำให้ปัญหาของระบบทางเดินอาหารแย่ลง
เพิ่มไฟเบอร์ในมื้ออาหาร
ไฟเบอร์มี 2 ชนิด ได้แก่ ไฟเบอร์ที่ละลายในน้ำ ซึ่งจะสร้างเจลในทางเดินอาหารที่จะส่งผลให้คุณรู้สึกอิ่มขึ้น เวลาที่กินอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ และอีกชนิดหนึ่งคือ ไฟเบอร์ที่ไม่ละลายน้ำ จะเพิ่มความหนาให้กับอุจจาระ ซึ่งมีส่วนช่วยในการขับถ่าย
และโดยปกติผู้หญิงควรได้รับไฟเบอร์ 25 กรัมต่อวัน และผู้ชายควรได้รับไฟเบอร์ 38 กรัมต่อวัน หากได้รับไฟเบอร์อย่างเพียงพอจะช่วยป้องกันปัญหาระบบทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณไม่สามารถได้รับไฟเบอร์จากมื้ออาหาร แพทย์อาจแนะนำให้ได้รับไฟเบอร์จากอาหารเสริม
เพิ่มโพรไบโอติก
แบคทีเรียในทางเดินอาหารมีทั้งชนิดดีและไม่ดี และโพรไบโอติกคือแบคทีเรียชนิดดีในทางเดินอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น
- บรรเทาอาการท้องอืดเนื่องจากแก๊ส
- เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
- ป้องกันแบคทีเรียที่เป็นอันตราย ไม่ให้เจริญเติบโต
- ทำลายแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้คุณป่วย
โดยสามารถได้รับโพรไบโอติกจากการกินอาหารบางประเภท เช่น โยเกิร์ต กิมจิ มิโซะ นอกจากนี้หากต้องการกินอาหารเสริมโพรไบโอติก ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ปรับการกินอาหารและการออกกำลังกาย ไม่ทำให้อาการของโรคระบบทางเดินอาหารดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ และในกรณีที่มีอาการเหล่านี้
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- ถ่ายปนเลือด
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เป็นโรคระบบทางเดินอาหารเรื้อรัง เช่น โรคกรดไหลย้อน
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmr]