คำจำกัดความ
กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังคืออะไร
กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง (Chronic gastritis) เป็นภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเยื่อบุกระเพาะอาหารเกิดการอักเสบ ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจไม่มีอาการเจ็บปวด หรืออาจมีอาการปวดท้องตื้อที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่พบได้มากที่สุด คือ กระเพาะอักเสบเรื้อรังจากเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori bacteria) โรคกระเพาะอักเสบเรื้อรังมักมีอาการดีขึ้นจากการรักษา แต่อาจต้องมีการเฝ้าระวังที่ต่อเนื่อง
แบคทีเรีย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การใช้ยาบางชนิด ความเครียดเรื้อรัง หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ สามารถทำให้กระเพาะอาหารอักเสบได้ เมื่ออักเสบ เยื่อบุกระเพาะอาหารจะเปลี่ยนแปลงและสูญเสียเซลล์ป้องกันบางเซลล์ นอกจากนี้ ยังทำให้กระเพาะอาหารของคุณรู้สึกอิ่ม หลังจากรับประทานอาหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง เป็นอาการที่เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนเนื้อเยื่อที่เจริญแล้ว (metaplasia) นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงชนิดของเซลล์จากชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่งเพื่อให้เข้าสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หรือเกิดการเจริญผิดปกติของเซลล์ที่ยังไม่ลุกลาม (dysplasia) ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงก่อนเป็นมะเร็งในเซลล์ ฉะนั้น หากปล่อยไว้ไม่รักษา จึงสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้
กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังพบได้บ่อยแค่ไหน
ประชากรโลกประมาณน้อยละ 50 มีการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ดังนั้น กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังจึงพบได้บ่อยมาก การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร พบได้บ่อยมากในทวีปเอเชียและในประเทศที่กำลังพัฒนา
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์
อาการ
อาการกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
อาการทั่วไปของกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง ได้แก่
- ปวดท้องส่วนบน
- อาหารไม่ย่อย
- ท้องอืด
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- เรอ
- ไม่อยากอาหาร
- น้ำหนักลดแบบไม่ทราบสาเหตุ
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากคุณมีอาการใดๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดคุยกับคุณหมอ เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังมีหลายประเภท และอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้
ประเภท A
เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์กระเพาะอาหาร และสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการขาดวิตามิน (vitamin deficiencies) โลหิตจาง (anemia) และมะเร็ง
ประเภท B
เป็นประเภทที่พบได้มากที่สุด เกิดจากแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร และสามารถทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร (stomach ulcers) แผลในลำไส้ (intestinal ulcers) และมะเร็ง
ประเภท C
เกิดจากสารเคมีระคายเคืองต่างๆ เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือน้ำดี นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดแผลและเลือดออกในเยื่อบุกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
กระเพาะอาหารอักเสบประเภทอื่นๆ ได้แก่ กระเพาะอาหารอักเสบแบบ giant hypertrophic gastritis ซึ่งสัมพันธ์กับการขาดโปรตีน นอกจากนี้ยังมีประเภท eosinophilic gastritis ซึ่งสามารถเกิดขึ้นร่วมกับอาการแพ้อื่นๆ เช่น หอบหืด (asthma) หรือผื่นผิวหนังอักเสบ (eczema)
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังมีด้วยกันหลายประการ เช่น
- การใช้ยาบางประเภทเป็นเวลานาน เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- ความเจ็บป่วยบางประเภท เช่น เบาหวาน ไตวาย
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ความเครียดเรื้อรังและรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย
- น้ำดีไหลเข้าไปในกระเพาะอาหาร หรือน้ำดีไหลย้อน (bile reflux)
- อาหารไขมันสูง
- อาหารโซเดียมสูง
- การสูบบุหรี่
- ไลฟ์สไตล์ที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด หรือเคยได้รับอุบัติเหตุ ก็อาจทำให้กระเพาะอาหารในการป้องกันตนเองได้น้อยลง
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
หากแพทย์สงสัยว่าคุณอาจเป็นโรคนี้ คุณอาจต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยต่างๆ ดังนี้
- การตรวจหาแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- การตรวจอุจจาระ เพื่อหาเลือดออกในกระเพาะอาหาร
- การตรวจเม็ดเลือดและการตรวจเลือดจาง
- การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร โดยสอดกล้องที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กเข้าไปทางปาก
การรักษากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
การใช้ยา
แพทย์อาจสั่งยาเพื่อลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาที่ใช้มากที่สุด ได้แก่
- ยาลดกรด (Antacids) อย่างยาแคลเซียมคาร์บอเนต เช่น ทัมส์® (Tums®)
- ยากลุ่ม H2 antagonists เช่น ยาราไนทิดีน (ranitidine) (Zantac)
- ยากลุ่ม Proton pump inhibitors เช่น ยาโอเมพราโซล (omeprazole) (Prilosec)
อาจแนะนำให้ลดหรืองดใช้ยาแอสไพรินและยาที่คล้ายคลึงกัน เพื่อลดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร
ในบางครั้ง หากอาการกระเพาะอักเสบกำเริบจากการใช้ยาหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาการสามารถหายไปได้เองภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง แต่โดยปกติแล้วกระเพาะอักเสบเรื้อรังใช้เวลานานกว่าที่โรคจะปรากฏขึ้น และหากไม่ทำการรักษา อาจมีอาการเรื้อรังเป็นเวลาหลายปี
อาหาร
เพื่อลดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร แพทย์อาจแนะนำให้คุณงดหรือลดอาหารเหล่านี้
- อาหารโซเดียมสูง
- อาหารไขมันสูง
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ ไวน์ สุรา
- อาหารประเภทเนื้อแดงและเนื้อแปรรูป
อาหารที่แนะนำให้รับประทาน ได้แก่
- ผลไม้และผักทุกประเภท
- อาหารที่มีแบคทีเรียดี (probiotics) เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว
- เนื้อสัตว์ปราศจากไขมัน เช่น ไก่ ไก่งวง ปลา
- โปรตีนจากพืช เช่น ถั่วต่างๆ เต้าหู้
- ข้าวไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีต
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยจัดการกระเพาะอักเสบเรื้อรังได้
- ระมัดระวังเกี่ยวกับอาหารและระดับความเครียด
- การจำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยา NSAID เช่น ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ยานาพร็อกเฟน (naproxen) และยาแอสไพริน (aspirin) ยังอาจช่วยป้องกันภาวะนี้ได้อีกด้วย
- เลิกสูบบุหรี่
หากมีคำถามเกี่ยวกับโรค ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุด
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmr]